พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช พระประธานในพระอุโบสถ (วิหารหลวง) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช พระพุทธปฏิมาที่ศักดิ์สิทธิ์ คู่เมืองนครศรีธรรมราช
#พระวิหารหลวง ได้เรียกกันเช่นนี้ก็เพราะถือว่าวิหารนี้เป็นของกลางที่พุทธศาสนิกชนทุกหนทุกแห่งมีสิทธิ์ใช้ร่วมกัน ในสมัยแรกพระสงฆ์ไม่ได้จำพรรษาที่วัดพระมหาธาตุ แต่จำพรรษาที่วัดอื่น ๆ ซึ่งอยู่รอบวัดพระมหาธาตุ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะต้องการให้วัดพระมหาธาตุเป็นของส่วนกลางจริง ๆ
ดังนั้นวิหารซึ่งมีมาแต่เดิมและใช้ประกอบพิธีสักการบูชาพระบรมธาตุร่วมกันนี้จึงเรียกกันว่าพระวิหารหลวง ต่อมาได้มีการดัดแปลงพระวิหารหลวงเป็นอุโบสถ แต่ผู้คนก็ยังเรียกพระวิหารหลวงอยู่เช่นเดิม หาได้เรียกพระอุโบสถไม่ พระวิหารหลวงอยู่ทางด้านใต้ของพระบรมธาตุเจดีย์ อยู่ภายนอกเขตของพระระเบียงคด ถือเป็นพระอุโบสถของวัดพระมหาธาตุ เชื่อกันว่าสร้างในสมัยสุโขทัยพร้อมกับพระบรมธาตุ ชาวลังกาเป็นผู้ก่อสร้างและดูแลรักษา
พระวิหารหลวงเป็นอาคารที่มีความใหญ่โตและงดงามมาก นับเป็นพระอุโบสถที่กว้างขวางที่สุดในปักษ์ใต้การวางเสายึดแบบที่นิยมกันในสมัยอยุธยา คือให้ปลายเสาเอนรวบเข้าหากัน ทำให้ดูสวยงามอ่อนช้อย หน้าบันไดด้านหน้าของพระวิหารหลวงแกะสลักไม้เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
เป็นภาพแกะสลักที่มีความวิจิตรงดงามเป็นอย่างยิ่ง ส่วนหน้าบันด้านหลังแกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ เพดานวิหารนั้นเขียนลายไทยปิดทอง มีลายดารกาเป็นแฉกงดงามมาก
พระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธานในวิหารนี้ชื่อว่า พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราชเป็นปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองเป็นพระพุทธรูปที่สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แย้มพระโอษฐ์พร้อมพระเนตรที่มองลงมาอย่างเมตตาปราณีและสุขสงบยิ่ง
หน้าพระประธานมีพระพุทธรูปสาวกขวาและซ้าย คือ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลาน นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปยืนอีกหลายองค์ หลังคาพระวิหารหลวงมีช่อฟ้าและใบระกาอย่างอุโบสถโดยทั่วไป
พระวิหารหลวงนับเป็นพระวิหารที่งดงามมาก ฝีมือในการสร้างแสดงออกถึงความเจริญทางศิลปะและเชิงช่างเป็นอย่างดี
หากจะหาสิ่งก่อสร้างประเภทโบสถ์หรือวิหารสมัยใหม่มาเทียบกับพระวิหารหลวงในแง่ความประณีตสวยงามและมีศิลปะกันแล้ว คงจะหาที่ไหนมาเทียบได้อีกแล้ว โดยเฉพาะการวางเสาซึ่งอาศัยศิลปะแบบอยุธยาตอนต้นนั้นหาดูได้ยากยิ่ง พระวิหารที่มีความเก่าแก่ควบคู่มากับพระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้จึงเป็นโบราณสถานที่ควรแก่การหวงแหนและบำรุงรักษาเป็นอย่างยิ่ง