สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช จัดพิธียกเสาเอกการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานโบสถ์พราหมณ์
ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานว่า เมื่อวันนี้ (17 ต.ค.62) ที่บริเวณหอพระนารายณ์ และหอพระอิศวร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ได้จัดพิธีบวงสรวงเทพยดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ เพื่อยกเสาเอกการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานโบสถ์พราหมณ์
มีนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธี มีนางเสริมกิจ ชัยมงคล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ข้าราชการในสังกัดและผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ร่วมในพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล
โดยกรมศิลปากร ได้จัดสรรงบประมาณ งบเหลือจ่ายปีงบประมาณ 2562 จำนวน 2,560,000 บาท ให้สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช เป็นผู้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานโบสถ์พราหมณ์ ด้วยการก่อสร้างโบสถ์ขึ้นมาใหม่ในพื้นที่เดิม ลักษณะรูปทรงตัวอาคารแบบเดิม โดยมีระยะเวลาทำงานตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2562 – 21 กันยายน 2563 ใช้ระยะเวลา 210 วัน
สำหรับโบสถ์พราหมณ์ ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เป็นโบราณสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราชมาแต่โบราณ ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับหอพระอิศวรและเสาชิงช้า จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่า โบสถ์พราหมณ์สร้างขึ้นราวสมัยอยุธยา โดยมีฐานะเป็นเทวสถานประจำเมืองนครศรีธรรมราช
ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญของพราหมณ์ โดยเฉพาะพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย ภายในเคยประดิษฐานรูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่สำคัญหลายองค์ ได้แก่ พระศิวนาฏราชสำริด พระอุมาสำริด พระวิษณุสำริด พระหริหระสำริด พระคเณศสำริดและหงส์สำริด ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2479 ภายหลังโบสถ์พราหมณ์หลังที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยามีสภาพชำรุดมาก จึงถูกรื้อลงในปี พ.ศ. 2505
ต่อมาในปี 2557 สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการขุดค้นโบราณสถานโบสถ์พราหมณ์เพื่อค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับอาคารเดิม จัดทำแบบบูรณะและอนุรักษ์โบราณสถาน ผลการขุดค้นพบฐานรากของโบสถ์พราหมณ์ตั้งอยู่ห่างจากหอพระอิศวรมาทางทิศใต้ 5 เมตร ลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 6.5 เมตร ยาว 22 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีการก่อสร้างซ้อนทับกัน 2 สมัย
โบราณวัตถุที่พบ เช่นชิ้นส่วนหินลักษณะคล้ายศิวลึงค์ ชิ้นส่วนเปลวรัศมีสำริด ชิ้นส่วนพระหัตถ์สำริด ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง สมัยราชวงศ์ชิง และสมัยสาธารณรัฐ(หลังพุทธศตวรรษที่ 25 ) โดยมีการนำตัวอย่างอิฐที่พบไปกำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคเรืองแสงความร้อน(TL) ได้ค่าอายุประมาณ 450-500 ปีมาแล้ว
สำหรับการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณโบสถ์พราหมณ์ในครั้งนี้ ใช้ข้อมูลหลักฐานจากเอกสาร ภาพถ่ายเก่า และภาพลายเส้น ก่อสร้างเป็นอาคารก่ออิฐเปลือย มีหอประดิษฐานรูปเคารพซึ่งตั้งอยู่ภายในอาคาร สามารถใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ได้