“วันออกพรรษา” วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก วันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา หลังวันเข้าพรรษา ๓ เดือน

7218
views
วันออกพรรษา

“วันออกพรรษา” วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก วันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา หลังวันเข้าพรรษา ๓ เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย ของพระสงฆ์เถรวาท โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมปวารณาออกพรรษาในวันนี้

วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก

วันออกพรรษาตามปกติ (ออกปุริมพรรษา) จะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด (๑๑) (วันออกพรรษา ๒๕๖๖ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑) ปีเถาะ

วันออกพรรษาตรงกับวัน ขึ้น๑๕ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑) ถือเป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา หรือ ออกจากพรรษา ที่ได้อธิษฐานเข้าจำพรรษาตลอดระยะเวลา ๓ เดือน ซึ่งเป็นสำคัญวันหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์

แต่ตามพระวินัยบัญญัติ พระภิกษุทั้งหลายยังต้องอยู่ในจำพรรษาในคืนวันนั้น (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) อีกคืนหนึ่ง จะไปค้างแรมที่อื่นเลยไม่ได้ ต้องให้ผ่านอรุณเข้าวันใหม่ (วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑) เสียก่อน

สรุปว่า “วันออกพรรษา” ตามที่เรียกและเข้าใจกันทั่วไป (และจะกล่าวถึงต่อไปในบทความนี้) คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ส่วน “วันออกพรรษาจริง” ตามพระวินัย คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑

บุญเทศกาลบาตรเทโว

“วันออกพรรษา” (ตามที่เข้าใจกัน) เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา ๓ เดือนของพระสงฆ์เถรวาท โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรม คือ การปวารณาในวันนี้ วันออกพรรษา (ออกปุริมพรรษา) จะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา ๓ เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย

การปวารณา ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระภิกษุโดยเฉพาะ เรียกว่า เป็นญัตติกรรมวาจา (สังฆกรรม)ประเภทหนึ่ง ให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาส (๓ เดือน) สามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาค ด้วยจิตที่ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน

เพื่อให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและนำข้อบกพร่องไปแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้น

วันออกพรรษา

เมื่อถึงวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่ตนเองที่ตั้งใจปฏิบัติตนเป็นอุบาสก-อุบาสิกา ส่วนพระสงฆ์จำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาส (๓ เดือน) หรือในวันถัดไปคือ วันออกพรรษา(จริง) (คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑)

พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยนิยมไปทำบุญตักบาตร เรียกว่า บุญเทศกาลบาตรเทโว หรือ บาตรเทโวโรหณะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากเทวโลก ลงมายังโลกมนุษย์หลังจากการโปรดเทพบุตร อดีตพระพุทธมารดา

พระนางสิริมหามายา บนสวรรค์ดาวดึงส์ (ชั้นที่ ๒) ในพรรษาที่ ๗ เสด็จลงมายังเมืองสังกัสสะ พร้อมกับทรงแสดงไตรโลกวิวรณปาฏิหาริย์ (ทรงปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้ง ๓. สวรรค์,นรก,โลก)

กฐินกาล

กฐินกาล คือ ช่วงเวลาที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ เริ่มตั้งแต่ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันลอยกระทง) เป็นช่วงเวลากฐินกาลตามพระวินัยปิฎกเถรวาท

ในช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเข้าร่วมบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานกฐินประจำปี เป็นการนำผ้าจีวร ถวายพระพุทธรูปและพระสงฆ์ในวัดต่าง ๆ โดยถือว่าเป็นงานบำเพ็ญกุศลที่ได้บุญกุศลมากงานหนึ่ง

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา

ใส่บาตร

๑. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ

๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา

๓. ร่วมกิจกรรม “ตักบาตรเทโว”

๔. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและประดับธงชาติ และธงธรรมจักร ตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา

๕. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับวันออกพรรษา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป

บั้งไฟพญานาค

“บั้งไฟพญานาค” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวันออกพรรษาตลอดแนวความยาวกว่า 300 กม. ของลำน้ำโขงซึ่งกั้นขวางระหว่าง จังหวัดหนองคาย ประเทศไทย กับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

โดยจะมีจำนวนลูกไฟที่ผุดพวยพุ่งขึ้นมาจากลำน้ำโขงมาก – น้อยแตกต่างกันไปในแต่ละปีตามแต่ละพื้นที่

ขอขอบคุณข้อมูล / เรียบเรียง จาก th.wikipedia.org

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร