ศีล นั้นเป็นคุณธรรมพื้นฐาน มีปราชญ์และท่านผู้รู้ได้แปลว่า “ปกติ” จนกลายเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า คนที่รักษาตน เป็นเครื่องช่วยควบคุมกายวาจาให้เรียบร้อย
รักษาตนให้เป็นปกติหรือสภาพที่เป็นปกติของคนๆหนึ่งพึงจะเป็น เป็นความปกติที่คนทุกนั้นมี เป็นความสุข ความสงบ และเรียบง่ายตามวิถีแห่งธรรมชาติ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ครูบาอาจารย์กำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาในยุคนี้ ท่านกล่าวไว้ว่า การมีศีลทำให้มนุษย์ได้อยู่กันเป็นปกติ เพราะแต่ละคนๆ ก็รักษาสภาพปกติของตนเมื่ออยู่เป็นปกติ จิตใจเป็นปกติแล้ว ไม่ว่าจะพูดจะทำอะไรจะคิดนึกในสิ่งทั้งหลายก็จะทำได้ราบรื่นดี
แต่ถ้าจิตใจไม่ปกติ เวลาที่พูดและทำก็จะเกิดความผิดปกติแล้วก็จะเกิดความขัดแย้งปั่นป่วนวุ่นวาย จะไปคิดทำการทำงานอะไรที่เป็นไปในทางที่ดีงามก็เป็นไปได้ยาก มีแต่จะนำไปสู่ความทุกข์มีแต่จะสร้างเวรสร้างกรรมให้มากขึ้น นี่ก็เป็นความหมายหนึ่งของคำว่า “ศีล” เช่นกัน
การที่สร้างบุญบารมีนอกจากจะเพื่อให้มีความสุขทั้งในภพนี้และภพหน้าแล้ว ควรรักษาศีลอันเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ความชั่วมาเกาะกุมหัวใจโดยมีจุดประสงค์หลักไม่ให้เราไปก่อกรรมชั่วไปสร้างเจ้ากรรมนายเวรขึ้นมาใหม่อันจะเป็นการก่อทุกข์ให้กับทั้งตัวเราและผู้อื่น
ที่บอกว่าศีลจะทำให้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์ได้มากกว่าทานเพราะว่า การรักษาศีลนั้นเป็นการเพียรพยายามจะระงับสิ่งที่จะเกิดเป็นโทษทางกายและวาจาไม่ให้มันเกิดขึ้นมา เป็นทั้งข้อบังคับและข้อปฏิบัติในเวลาเดียวกัน
แล้วเราจะปฏิบัติตามศีลแบบใดที่ ทำให้เจ้ากรรมนายเวรพอใจ ?
เรื่องนี้ตอบได้ง่าย ๆครับ คือยิ่งรักษาศีลให้บริสุทธิ์มากเท่าใดก็ยิ่งเกิดบุญกุศลมากและก็ยิ่งทำให้เจ้ากรรมนายเวรพอใจได้มากขึ้นเท่านั้น
เช่น ศีล 5 ซึ่งเป็น ศีลพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ได้แก่การห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ใด ๆแม้เพียง 1 บาท การดำรงตนอยู่ในคู่ครองของตัวเอง การไม่พูดปด พูดส่อเสียด หรือแม้แต่พูดคำหยาบ และ ไม่ดื่มสุราให้ขาดสติเป็นเหตุให้สติไม่ตั้งมั่นจิตใจเศร้าหมองลง
หากได้ปฏิบัติสูงขึ้นไปเรื่อย ในระดับ ศีล 8 หรือ ศีล 10ไปจนถึงข้อปฏิบัติที่เป็นข้อวัตรที่ทำให้กายและวาจาเกิดความบริสุทธิ์ไม่ยอมทำความผิดหรือทำให้กิริยาไม่งามอย่างศีล 227 ข้อของพระภิกษุซึ่ง ถือว่าเป็นระดับสูง เมื่อรักษาศีลได้อย่างหมดจดแล้วก็จะเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ปฏิบัติการชำระจิตใจให้สะอาดในขั้นสูงต่อไป
เมื่อบำเพ็ญศีลอยู่เป็นนิตย์คือ หมั่นรักษาการกระทำทั้งทางกายและวาจาให้ดี จิตใจก็จะไม่ถูกปรุงแต่งด้วยสิ่งที่ไม่ดีให้สกปรกมากไปกว่าเดิม อันเป็นเหตุป้องกันไม่ให้กลับไปสร้างกรรมที่ไม่ดี ถ้าหากเปรียบจิตเป็นดั่งน้ำ ก็เหมือนน้ำที่ได้มีการเจือจางแล้วด้วยการทำทาน และยังมีการป้องกันด้วยศีล
เหมือนมีแผ่นกรองไม่ให้สิ่งสกปรกใด ๆตกลงไม่ให้สกปรกไปเพิ่มอีก นอกจากนั้นการรักษาศีลยังเป็นการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ร้าย ๆเข้ามาแผ้วพานได้ง่าย ๆ
ยกตัวอย่างเช่น คนที่ประสบอุบัติเหตุแล้วรอดตายมาได้อย่างปาฏิหาริย์ บางคนบอกว่าเหมือนถูกเหวี่ยงออกมาจากพาหนะที่นั่งอยู่แล้วไปตกยังที่ปลอดภัยทั้งๆที่ไม่น่าจะเป็นไปได้หรือ บางคนกำลังประสบเคราะห์กรรมจมน้ำเกือบตายแต่เหมือนมีอะไรมาดึงให้ลอยขึ้นมาเหนือน้ำ
บางคนอาจจะโดนเจ้ากรรมนายเวรที่มีชีวิตอยู่ตามมาทำร้ายแต่ก็เหมือนมีอะไรมาบังตาให้เขามองไม่เห็น เชื่อว่าเรื่องราวเหล่านี้คงเคยเป็นที่ประจักษ์กันมาบ้างแล้ว
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ผู้ที่มีการรักษาศีลให้บริสุทธิ์เป็นเครื่องป้องกันเอาไว้ไม่ให้เจ้ากรรมนายเวรที่ประสงค์ร้ายได้ตามเอาคืนได้ทัน หากเป็นเจ้ากรรมนายเวรที่ไม่มีชีวิตอยู่ในภพภูมิอื่นที่ได้รับรู้ถึงความพยายามรักษาศีลในการสร้างบุญเพื่ออุทิศให้แก่ตนเองนั้น เขาก็จะได้อนุโมทนาบุญนั้นไปและยอมยกโทษหรือยอมอโหสิกรรมให้ในที่สุด
การรักษาศีลให้บริสุทธิ์นอกจากเจ้ากรรมนายเวรก็จะยกโทษให้แล้วยังจะเกรงในบุญบารมีของเราอีกด้วย เข้าทำนอง “คนดีผีคุ้ม ตกน้ำไม่ไหลตกไฟก็ไม่ไหม้”
ในเรื่องศีล แม้เพียงรักษาศีลขั้นต่ำสุดอย่างศีล 5 ก็จะได้อานิสงส์มากมายดังนี้
1. คนที่มีศีล อาศัยความไม่ประมาทจะทำให้เกิดโภคทรัพย์ได้มาก ส่วนคนไม่มีศีลคนที่เต็มไปด้วยอบายมุข ย่อมปล่อยชีวิตตกต่ำและเมื่อมัวหมกมุ่นวุ่นวายมัวเมาในเรื่องของสิ่งเหลวไหล
จึงไม่อาจจะเอาใจใส่ต่อสิ่งดีงามใด ๆไม่ขยันทำมาหากิน เรียกว่าตกอยู่ในความประมาท ก็ทำให้เสื่อมทรัพย์อับจนชีวิต แต่คนที่มีศีล เว้นจากทุจริตเว้นจากอบายมุขและเรื่องชั่วช้าเสียหายแล้ว เมื่อมีความไม่ประมาท ก็ขยันหมั่นเพียรทำการงานใจอยู่กับการประกอบอาชีพ ก็ทำให้เกิดโภคะได้มาก
2. กิตติศัพท์คุณงามความดีอันดีงามก็ระบือไปไกล คนที่ประพฤติมีศีล มีความสุจริต คนก็นิยมชมชอบ ยิ่งสังคมปัจจุบันนี้เราถือเป็นสำคัญมากว่า ในบ้านในเมืองนี้ทำอย่างไรจะหาคนที่มีศีล
คือคนสุจริตมาบริหารบ้านเมือง ถ้าคนไหนมีศีล สุจริต มีความบริสุทธิ์ มีความซื่อสัตย์ ก็ได้กิตติศัพท์ดีไปด้านหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมด อย่างน้อยด้านศีล ก็ได้กิตติศัพท์เป็นเครื่องประดับรองรับตัวเองขึ้นมา เป็นฐานที่สำคัญ
3. ความมีศีลทำให้มีความแกล้วกล้า ถ้าเรามีศีล เป็นคนประพฤติซื่อสัตย์สุจริตแล้วจะเข้าสมาคมไหนก็มีความแกล้วกล้าไม่ครั่นคร้าม
4. เวลาตายก็มีสติ ไม่หลงตาย ต่อจากนั้น
5. ข้อสุดท้าย ตายแล้วไปเกิดในสวรรค์
อ้างอิงจาก หนังสือ ก้าวไปในบุญ โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)