วันสารทเดือนสิบ เป็นวันที่ถือเป็นคติและเชื่อสืบกันมาว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น จึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติในวันนี้
ตามประเพณีปฏิบัติมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตามความเชื่อของลูกหลานชาวปักษ์ใต้ เชื่อว่าทุกปี ช่วงตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ จนถึง แรม ๑๕ ค่ำเดือน สิบ วิญญาณของพ่อแม่ปู่ย่าตายายบรรพบุรุษที่ล่วงลับจะได้รับการอนุญาตให้เดินทางกลับมาจากภพภูมิในปรโลกมาเยี่ยมลูกหลานอันเป็นที่รัก
เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แค่เพียง ๑๕ วันเท่านั้น แล้วท่านจะเดินทางกลับ จึงเป็นที่มาของประเพณีงานบุญสารทเดือนสิบของชาวใต้ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งเป็นวันแรกของการมาเยือนของวิญญาณบรรพบุรุษ จึงถือเป็นวัน “รับตายาย”
ลูกหลานจะนำอาหารไปวัดทำบุญรับตายาย และเมื่อถึงวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ ที่บรรพบุรุษจะเดินทางกลับสู่ปรโลก ลูกหลานก็จะนำอาหารไปวัดทำบุญถือว่าเป็นวัน “ส่งตายาย” กลับสวรรค์
ซึ่งลูกหลานชาวใต้ที่ไปทำงานอยู่ในต่างถิ่นก็จะเดินทางกลับบ้านภูมิลำเนาเพื่อไปร่วมทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เพื่อแสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้มีพระคุณนั่นเอง
วันพุธ ที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ วันรับตายาย (ยกหฺมฺรับเล็ก)
วันอังคาร ที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๔ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ วันยกหฺมฺรับ
วันพุธ ที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๔ วันพระแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ วันส่งตายาย (วันบังสุกุล)
[ วันพุธที่ 6 ต.ค. 64 ] ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นวันหยุดประจำภาคใต้-หยุดเฉพาะหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และโรงเรียนเท่านั้น
– ภาคใต้ (จังหวัดภาคใต้+ภาคใต้ชายแดน) : ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล นราธิวาส ปัตตานี ยะลา
ส่งตายาย งานบุญเดือนสิบ
….* หลังวันส่ง ตายาย ชาวใต้จบ. .ลูกหลานหลบ กลับมา ถึงคราจร
จำต้องจาก แล้วหนา ลาเมืองคอน. .สู่กรุงเทพ มหานคร ไปทำงาน
* หลบเดือนสิบ ปีนี้ พบพี่น้อง. .ทั้งเพื่อนพ้อง ลุงป้า ทั้งอาหลาน
พบญาติมิตร ที่จากไกล ไปเสียนาน. .หลบมาบ้าน พบฉาด ชาดดีใจ
* พี่ของโป พี่แม่เฒ่า น้องสาวย่า. .แกอายุ ร้อยหวา น้ำตาไหล
เห็นลูกหลาน หลบมา ครั้งคราใด. .บอกไม่ต้อง เอาไหร ขอให้มา
* ข้างแม่พ่อ พอลูก เตรียมตัวกลับ. .แม่เปิดไห ลาทับ ที่ชายฝา
พ่อเปิดปีบ ลักซ่อน ช่อนแห้งนา. .ยกเอามา ให้ลูกบาว ลูกสาวเรา
* นี่แหละคับ ความสุข ของพ่อแม่. .สุขคนเฒ่า คนแก่ โปย่าเขา
ประเพณี สืบสาน มานานเนา. .ลองคิดเอา เถิดหนา น่าชื่นชม
* ขอผลบุญ ที่ทำ นำชีวิต. .หนุ่มสาวใต้ กายจิต ให้สุขสม
ให้แจ่มใส สดชื่น และรื่นรมย์. .ฝากคำคม เป็นบทกลอน ย้อนตำนาน
……
กลอนใต้ .. ฝากไว้ หลัง “ ส่งตายาย งานบุญเดือนสิบ” เครดิต คุณ นิด ท่าซอม นิด ท่าซอม บุญหวาน Watchara Boonwan
ภาพ / จังหวัดนครศรีธรรมราช