อัตตชีวประวัติ “หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ” วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

495
views
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มีชาติกำเนิดในสกุล “หนูศรี” เดิม ชื่อ ดู่ เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๗ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา ณ บ้านข้าวเม่า ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัด พระนครศรีอยุธยา
ประวัติ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก จ.พระนครศรีอยุธยา

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

ชาติภูมิ
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๗ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง เป็นวันเพ็ญวิสาขปุรณมี ณ บ้านข้าวเม่า ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โยมบิดาชื่อ พุด โยมมารดาชื่อ พ่วง นามสกุล หนูศรี มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน ๓ คน ตัวท่านเป็นคนสุดท้อง เมื่อหลวงพ่อถือกำเนิดได้ไม่นาน มารดาของท่านก็เสียชีวิต และเมื่อท่านอายุได้ ๔ ปี บิดาของหลวงพ่อก็เสียชีวิตอีก ทำให้หลวงพ่อกำพร้าตั้งแต่วัยเยาว์ ท่านจึงได้อาศัยอยู่กับยาย และ พี่สาวชื่อ สุ่ม เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่ เมื่อท่านถึงวัยที่ต้องศึกษา ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนที่ วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศธรรมประวัติ ตามลำดับ

เมื่อตอนที่ท่านยังเป็นทารกมีเหตุอัศจรรย์ที่ทำให้เชื่อว่าท่านจะต้องเป็นผู้มีบุญวาสนามาเกิด คือในช่วงหน้าน้ำหลาก คืนหนึ่งขณะที่บิดาและมารดากำลังทำขนมอยู่นั้น มารดาท่านได้วางตัวท่านไว้บนเบาะนอกชานบ้าน แต่ไม่ทราบด้วยเหตุใดตัวท่านได้กลิ้งตกลงไปน้ำ แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ตัวท่านกลับไม่จมน้ำ กลับลอยน้ำไปติดอยู่ข้างรั้ว กระทั่งสุนัขที่บ้านเลี้ยงไว้ มาเห็นเข้าจึงเห่าและวิ่งกลับไปกลับมา มารดาท่านจึงสงลัยว่าคงจะมีเหตุการณ์ผิดปกติ จึงได้ตามสุนัขออกมาดู ก็พบท่านลอยน้ำอยู่ติดกับข้างรั้ว

อุปสมบท
เมื่อท่านอายุได้ ๒๑ ปี ก็ได้บรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันอาทิตย์แรม ๔ ค่ำ เดือน ๖ ณ อุโบสถวัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อแด่ เจ้าอาวาสวัดสะแก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับ ฉายาว่า “ พรหมปัญโญ ”

ศึกษาธรรม
ในพรรษาแรกๆ นั้น หลวงปู่ดู่ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดประดู่ทรงธรรม (ในสมัยนั้นเรียกว่าวัด ประดู่โรงธรรม) โดยศึกษากับ ท่านเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม หลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นต้น

ในด้านการปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐานนั้น หลวงปู่ดู่ได้ศึกษากับหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ และ หลวงพ่อเภา ซึ่งเป็นศิษย์องค์สำคัญของหลวงพ่อกลั่นและมีศักดิ์เป็นอาของท่าน เมื่อท่านบวชได้พรรษาที่ ๒ ประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๙ หลวงพ่อกลั่นก็ได้มรณภาพ ท่านจึงได้ศึกษากับหลวงพ่อเภาเป็นหลัก นอกจากนี้ยังได้ศึกษาจากตำราที่มีอยู่ จากชาดกบ้าง ธรรมบทบ้าง และด้วยความที่ท่านเป็นผู้รักการศึกษา ท่านจึงได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากพระอาจารย์อีกหลายท่านที่จังหวัดสุพรรณบุรี สระบุรี ฯลฯ

เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๖ ครั้นออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อก็ออกเดินธุดงค์จากวัดสะแก มุ่งหน้า สู่ป่าเขาแถบจังหวัดกาญจนบุรี ในระหว่างทาง ก็แวะนมัสการสถานที่สำคัญต่างๆ ทางพุทธศาสนา

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

นิมิตธรรม
ในคืนหนึ่ง ในช่วงก่อน ปี พ.ศ.๒๕๐๐ เล็กน้อย หลังจากที่ท่านสวดมนต์ทำวัตรเย็นและเข้าจำวัดแล้วนั้น เกิดนิมิตไปว่าได้ฉันดาว ที่มีแสงสว่างมากเข้าไป ๓ ดวง ขณะที่ฉันนั้นรู้สึกว่า กรอบๆ ดี เมื่อฉันหมดก็ตกใจตื่น ท่านจึงได้พิจารณานิมิตที่เกิดขึ้น ก็เกิดความเข้าใจในนิมิตนั้นว่า ดาวสามดวง ก็คือ ดวงแก้วไตรสรณาคมน์ นั้นเอง ท่านจึงท่อง
“ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ” ก็เกิดปิติขึ้นในจิตท่านอย่างท่วมท้น เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และมั่นใจว่า การยึดมั่นพระไตรสรณาคมน์เป็นวิธีที่เข้าสู่แก่นแท้ เป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา ท่านจึงกำหนดเอาพระไตรสรณาคมน์ เป็นองค์บริกรรมภาวนา

เมตตาธรรม
หลวงปู่ดู่ ท่านให้การต้อนรับแขกอย่างเสมอเท่าเทียมกันหมด ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ท่านจะพูดห้ามปรามหากมีผู้เสนอตัวเสนอหน้าคอยจัดแจงเกี่ยวกับแขกที่มาหาท่าน เพราะท่านทราบดีว่ามีผู้ใฝ่ธรรมจำนวนมากที่อุตสาห์เดินทางมาไกล เพื่อนมัสการและซักถามข้อธรรมจากท่าน หากมาถึงแล้งยังไม่สามารถเข้าพบได้โดยสะดวก ก็จะทำให้เสียกำลังใจ เป็นเมตตาธรรมอย่างสูงที่หลวงพ่อมีให้ศิษย์ทั้งหลาย และหากมีผู้สนใจการปฏิบัติกรรมฐาน มาหาท่าน ท่านจะเมตตาสนทนาธรรมเป็นพิเศษอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด

หลวงปู่ทวด
ท่านให้ความเคารพในองค์หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ เป็นอย่างมากทั้งกล่าวยกย่อง ว่าหลวงปู่ทวดท่านเป็นผู้ที่มีบารมีธรรมเต็มเปี่ยม เป็นโพธิสัตว์จะได้มาตรัสรู้ ในอนาคต ให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ยึดมั่น และระลึกถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อติดขัดในระหว่างการปฏิบัติธรรม หรือประสบปัญหาทางโลก ท่านว่า หลวงปู่ทวดท่านคอยที่จะช่วยเหลือทุกคนอยู่แล้ว แต่ขอให้ทุกคนอย่าท้อถอย หรือละทิ้งการปฏิบัติ
สร้างพระ

หลวงพ่อดู่ ท่านมิได้ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ การที่ท่านสร้าง หรืออนุญาตให้สร้างพระเครื่องหรือพระบูชา ก็เพราะเห็นว่า บุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยงทางด้านจิตใจ เพราะศิษย์ หรือ บุคคลนั้น มีทั้งที่ใจใฝ่ธรรมล้วนๆ กับ ยังต้องอิงกับวัตถุมงคล ท่านเคยพูดว่า “ติดวัตถุมงคลยังดีกว่า ที่จะไปให้ติดวัตถุอัปมงคล” แม้ว่าหลวงปู่ดู่ท่าน จะรับรองในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องที่ท่านอธิฐานจิตให้ แต่สิ่งที่ท่านยกไว้เหนือกว่านั้นก็คือการปฏิบัติ การภาวนา นี้แหละ เป็นสุดยอดแห่งเครื่องรางของขลัง บางคนมาหาท่านเพื่อต้องการของดีเช่นเครื่องรางของขลัง ซึ่งมักจะได้รับคำตอบจากท่านว่า “ ของดีนั้นอยู่ที่ตัวเรา พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นี่แหละของดี ”

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

ปัจฉิมวาร
นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมาสุขภาพหลวงพ่อเริ่มทรุดโทรม เนื่องการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ด้วยเหตุจากการที่ต้องต้อนรับแขก และบรรดาศิษย์ทั่วทุกสารทิศ ที่นับวันก็ยิ่งหลั่งไหลกันมานมัสการท่านมากขึ้นทุกวัน แม้บางครั้งจะมีโรคมาเบียดเบียนอย่างหนัก ท่านก็อุตส่าห์ออกโปรดญาติโยมเป็นปกติ พระที่อุปัฏฐากท่าน เล่าว่า บางครั้งถึงขนาดที่ท่านต้องพยุงตัวเองขึ้นด้วยอาการสั่น และมีน้ำตาคลอเบ้า ท่านก็ไม่เคยปริปากให้ใครต้องเป็นกังวลเลย ภายหลังตรวจพบว่า หลวงพ่อ(ดู่)เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว แม้ว่าทางคณะแพทย์ จะขอร้องท่านให้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ท่านก็ไม่ยอมไป
ประมาณปลายปี พ.ศ.๒๕๓๒ หลวงปู่ดู่พูดบ่อย ครั้ง เกี่ยวกับการที่ท่านจะละสังขาร ซึ่งในขณะนั้นหลวงปู่ดู่ท่านได้ใช้หลักธรรม ขันติ คือความอดทนอดกลั้นระงับ ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นจากโรคภัย จิตของท่านยังทรงความเป็นปรกติสงบเย็น จนทำให้คนที่แวดล้อมท่านไม่อาจสังเกตเห็นถึงปัญหาโรคภัยที่คุกคามท่านอย่างหนัก

วันอังคารที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ช่วงเวลาบ่ายนั้น มีนายทหารอากาศผู้หนึ่งมากราบท่านเป็นครั้งแรก หลวงพ่อท่านได้ลุกขึ้นนั่งตอนรับ ด้วยใบหน้าที่สดใสราศีเปล่งปลั่งเป็นพิเศษ จนบรรดาศิษย์เห็นผิดสังเกต หลวงพ่อยินดีที่ได้พบกับศิษย์ผู้นี้ ท่านว่า “ต่อไปนี้ ข้าจะได้หายเจ็บไข้เสียที ” คืนนั้นมีคณะศิษย์มากรายท่าน ท่านได้พูดว่า “ ไม่มีส่วนใดในร่างกายที่ไม่เจ็บปวดเลย ถ้าเป็นคนอื่นคงเข้าห้อง ICU ไปนานแล้ว ” พร้อมทั้งพูดหนักแน่นว่า “ข้าจะไปแล้วนะ” และกล่าวปัจฉิมโอวาทย้ำให้ทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท “ถึงอย่างไรก็ขอให้อย่าได้ละทิ้งการปฏิบัติ ได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติ ก็เหมือนนักมวย ขึ้นเวทีแล้วต้องชก อย่ามัวแต่ตั้งท่า เงอะๆงะๆ” หลังจากคืนนั้นหลวงพ่อก็กลับเข้ากุฏิ และละสังขารไปด้วยอาการสงบด้วยโรคหัวใจ ในกุฏิท่านเมื่อเวลาประมาณ ๕ นาฬิกา ของ วันพุธที่ ๑๗ มกราคมพ.ศ. ๒๕๓๓

รวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี ๘ เดือน ๖๕ พรรษา ยังความเศร้าโศกและอาลัยแก่ศิษยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง อุปมาดั่งดวงประทีปที่เคยให้ความสว่างดับไป แต่เมตตาธรรมและคำสั่งสอนของท่านยังปรากฏอยู่ในดวงใจของศิษยานุศิษย์ตลอดไป

ท่านเคยกล่าวเอาไว้ว่า…
“ตราบใดก็ตาม ที่แกยังไม่เห็นความดีในตัวเอง
ก็ยังไม่นับว่า แกรู้จักข้า
แต่ถ้าเมื่อใด แกเริ่มเห็นความดีในตัวเองแล้ว
เมื่อนั้นข้าว่า แกเริ่มรู้จักข้าดีขึ้นแล้วล่ะ”
“แกนึกถึงข้า ข้าก็นึกถึง แกไม่นึกถึงข้า ข้าก็ยังนึกถึงแก”

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร