๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี ‘วันภาษาไทยแห่งชาติ’ มีที่มาและความสำคัญอย่างไร

611
views

ความสำคัญและประวัติ วันภาษาไทยแห่งชาติ (National Thai Language Day)

วันภาษาไทยแห่งชาติ

วันภาษาไทยแห่งชาติ วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปี ได้เริ่มจัดงานเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๒ จุดเริ่มต้นของวันภาษาไทยแห่งชาติมีที่มาจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕

ภาษา เป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ภาษาเป็นสื่อใช้ติดต่อกันและทำให้วัฒนธรรมอื่นๆ เจริญขึ้น แต่ละภาษามีระเบียบของตนแล้วแต่จะตกลงกันในหมู่ชนชาตินั้น ภาษาจึงเป็นศูนย์กลางยึดคนทั้งชาติ ดังนั้นภาษาก็เปรียบได้กับรั้วของชาติ ถ้าชนชาติใดรักษาภาษาของตนไว้ได้ดี ให้บริสุทธิ์ ก็จะได้ชื่อว่า รักษาความเป็นชาติ คนไทยทุกคนใช้ ภาษาไทย เป็นสื่อความรู้สึกนึกคิดเท่านั้นยังไม่เพียงพอ ควรจะรักษาระเบียบความงดงามของภาษา ซึ่งเเสดงวัฒนธรรม เเละเอกลักษณ์ประจำชาติไว้อีกด้วย

วันภาษาไทยแห่งชาติ วันที่ ๒๙ ก.ค. ของทุกปี มีขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญของภาษาไทย ในราวปี พ.ศ.๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ “ลายสือไทย” ขึ้นเป็นครั้งแรก ดัดแปลงมาจากอักษรมอญและเขมร มีพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เพื่อใช้แทนความหมายและเสียงต่างๆ ในภาษาไทย ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น “อักษรไทย” ที่เราใช้กันในปัจจุบันนั่นเอง

สำหรับวันภาษาไทยแห่งชาติ ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2542 โดยมีความเป็นมาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) เสด็จพระราชดำเนินไปอภิปรายหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” ในการประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๕ พระองค์ท่านทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย โดยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”

ต่อมาในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นวันเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๙ เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติลงความเห็นให้ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาติ

๑. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็น นักปราชญ์ และ นักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย

๒. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของ ภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

๓. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

๔. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ

 
ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร