วันนี้ (15 ก.ย.65) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thiravat Hemachudha ในหัวข้อ “กินพริกช่วยคุณได้ ป้องกันโรคพาร์กินสัน” โดยระบุว่า
ทราบๆกันอยู่ คนที่เป็นโรคพาร์กินสัน ตัวแข็ง หน้าตาย เคลื่อนไหวช้า จะมีสั่นหรือไม่สั่นก็ตาม ยังไม่มียารักษาให้หายขาด ทั้งนี้ยาที่ใช้ทั้งหมดเป็นแค่บรรเทาให้เคลื่อนไหวสะดวกขึ้น โดยมีข้อแม้ ไม่อัดยามากจนเกินไป จนวิ่งได้เพราะจะเกิดผลข้างเตียง โรคไปเร็วจนน่าใจหาย และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น เคยได้เรียนให้ทราบแล้วว่าการรำมวยจีนไทยเก็ก (Tai-Chi) ช่วยให้มีแรงมากขึ้น ไม่ต้องเพิ่มยา ช่วยสมดุลการทรงตัว และยังอาจลดยาได้อีก เหล่านี้พิสูจน์แล้วและเป็นข้อปฏิบัติทั้งในสหรัฐและยุโรป ในขณะที่เมืองไทยกลับเฉยๆ
นอกจากนั้นการกินสารช่วยรสหวานไร้น้ำตาล ตามที่มีการศึกษาในสัตว์ทดลอง ที่มีแมนนิทอล (mannitol) ก็อาจช่วยป้องกันชะลอโรคได้
รายงานในวารสารประสาทวิทยา (Annals of neurology) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 พบว่า การกินพริก (ไม่ใช่พริกไทย) ทำให้ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคพาร์กินสัน
พริกอยู่ในตระกูล Solanaceae (capsicum และ solanum) เช่นเดียวกับยาสูบ มีหลักฐานมากมายมหาศาลไม่ต่ำกว่า 60 รายงาน ที่พบว่าคนสูบบุหรี่มีโอกาสเป็นพาร์กินสันน้อยลง แต่ไม่มีใครอยากตายจากมะเร็ง โรคปอดจากการสูบบุหรี่
รายงานนี้จับประเด็นตรงที่พริกมีปริมาณนิโคติน สูง ดังนั้น อาจจะให้ผลเหมือนกับการสูบบุหรี่ จากการประเมินผู้ป่วยพาร์กินสัน 490 ราย เทียบกันคนปกติ 644 ราย เกี่ยวกับการรับประทาน อาหารและชนิดของเครื่องปรุง พบว่าคนที่บริโภคพืชที่อยู่ในตระกูล Solanaceae สัมพันธ์กับการไม่เกิดโรคพาร์กินสัน และชะลอโรค เมื่อเป็นแล้ว
แต่ชนิดของอาหารที่สำคัญที่สุดคือพริก และลดความเสี่ยงได้ถึง 30% แม้แต่มะเขือเทศจะอยู่ในตระกูลเดียวกัน แต่ประโยชน์ที่ได้ดูจะน้อยกว่าพริก ทั้งนี้อาจจะเป็นจากการที่มะเขือเทศมีปริมาณนิโคตินน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่านิโคตินอย่างเดียวหรือมีสารอื่นๆในพริกที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดพาร์กินสัน
ณ ปัจจุบันโรค โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์และพาร์กินสันเริ่มจะทราบว่ามีกลไกพยาธิกำเนิดคล้ายกันในแง่ของการเกิดสารพิษ และการส่งทอดถ่ายสารพิษไปตามเครือข่ายโยงใยประสาท รวมทั้งตัวดัชนีชีวภาพ (biomarker) ก็พ้องใกล้เคียงกันหลายตัว
เพราะฉะนั้นคงไม่แปลกนะครับถ้าจะเคียงพริกเข้าประกอบในเมนูหรือเครื่องปรุงอาหาร อย่างน้อยก็ดีกว่าต้องกินยาเป็นกำๆนะครับ
หมออย่างเราๆต้องเปลี่ยนทัศนคติ ความคิดที่จะใช้ยาเพื่อให้อาการของโรคดูดีขึ้น แต่ไม่พยายามป้องกัน ชะลอการลุกลามของโรค
การปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ชนิดของอาหาร การออกกำลัง เป็นสิ่งที่ต้องไม่ละเลย และหมอเราเองต้องติดตาม ความรู้เหล่านี้ทำให้เราบอกแนะนำคนไข้ได้เต็มปาก เต็มใจ ไม่ใช่พูดไปตามสูตร แม้แต่ตัวเองยังขี้เกียจทำ
ที่มา – ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha