ฝนตกน้ำขัง… ระวัง “โรคฉี่หนู”

1808
views

“โรคฉี่หนู” อันตรายที่มาพร้อมกับฝน เกิดจากการลุยน้ำขัง ย่ำโคลน แช่น้ำนานๆ เชื้อเข้าร่างกายผ่านบาดแผล หรือผิวหนังอ่อนนุ่ม หรือแค่รอยถลอก รอยขีดข่วน ผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน หรือเยื่อบุตา รวมถึงอาหารน้ำดื่มก็สามารถมีเชื้อปนเปื้อนได้

หนูเป็นสัตว์รังโรค (reservoir) ทางด้านสาธารณสุข ถือเป็นพาหะนำโรค และเป็นเครื่องบ่งชี้ด้านสุขลักษณะของสถานที่ แสดงให้เห็นถึงสภาวะความบกพร่องทางด้านสุขาภิบาล ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อต่างๆ

โรคฉี่หนู Leptospirosis เป็นโรคที่พบได้ในช่วงฤดูฝน โดยน้ำฝนจะชะล้างเอาเชื้อโรคต่างๆ จากสภาพแวดล้อมไหลมารวมกันอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมขัง โรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อก่อโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา (Leptospira sp.) ที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข เป็นต้น โดยสัตว์ที่เป็นพาหะอาจไม่แสดงอาการแต่มีการติดเชื้อที่ท่อไตทำให้มีการปล่อยเชื้อออกมากับปัสสาวะ ซึ่งเชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมขังตามดิน โคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก แม่น้ำ ลำคลอง และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม

ลักษณะอาการของโรคฉี่หนู มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะน่องและโคนขา ( หลังลุยน้ำ 1 – 2 สัปดาห์ ) โรคฉี่หนูจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตาแดง หากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการสัมผัสน้ำแก่แพทย์ผู้รักษาให้ทราบด้วย หากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจนอาการมากขึ้นอาจเสียชีวิตได้

การป้องกันการติดเชื้อ จะปลอดภัยจาก “โรคฉี่หนู” ได้อย่างไร?

  • เลี่ยงการลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการแช่น้ำนาน ๆ
  • สวมรองเท้าบูท ถุงมือยางหากจำเป็นต้องลุยน้ำ
  • กรณีซึ่งมีบาดแผลตามร่างกาย หรือแค่รอยถลอก รอยขีดข่วน ปิดพลาสเตอร์ หากมีแผลป้องกันแผลโดนน้ำ
  • ทานอาหารปรุงสุก
  • ทำความสะอาดบ้าน กำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู กำจัดหนูตามแหล่งที่อยู่อาศัย ป้องกันหนูชุกชุม

อาการโรคฉี่หนู แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มอาการไม่รุนแรง มีอาการไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ สับสน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการคล้ายโรคไข้เลือดออก อาการเฉพาะโรคฉี่หนู ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง ตาแดง หรือ เลือดออกใต้ตาขาว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของโรค และเป็นอยู่ได้นานถึง 1 สัปดาห์แล้วอาการจึงดีขึ้น
  • กลุ่มอาการรุนแรง พบน้อยกว่ากลุ่มแรก ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อย เหมื่อนกลุ่มแรก และจะมีอาการแทรกช้อนของโรคอื่นร่วมด้วย เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง คอแข็ง ความดันโลหิตต่ำ การทำงานของไตลดลง ปอดอักเสบ เลือดออกผิดปกติ รายที่รุนแรงมากอาจพบเลือดออกในปอดได้ กลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต
  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร