กรมอุทยานฯ-ปทส. จับกุมพ่อค้าสัตว์ป่าคุ้มครองรายใหญ่ ลูกเสือโคร่งและนกเงือกรวม 10 ชีวิต

707
views

จ.นครราชสีมา – เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ-ปทส. จับกุมพ่อค้าสัตว์ป่ารายใหญ่ ในพื้นที่ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ยึดของกลางลูกเสือโคร่ง 2 ตัว นกกาฮัง 6 ตัว นกเงือกกรามช้าง 2 ตัว เจอโทษหนัก มีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองฯ-ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองฯ

วันนี้ (13 พ.ค.2565) เวลา 10.00 น. คณะเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) ชุดปฏิบัติการพิเศษ 1362 สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กก.3 บก.ปทส.) และ สภ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ร่วมวางแผนจับกุมผู้กระทำผิดค้าสัตว์ป่า ในพื้นที่ ต.ธารปราสาท อ.โนนสูง

ตรวจสอบพบชาย 1 คน ทราบชื่อนายเคียง อายุ 67 ปี ได้รับเป็นเจ้าของสถานที่ดังกล่าว คณะเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเข้าตรวจค้นพบสัตว์ป่าคุ้มครอง นกกาฮัง 6 ตัว นกเงือกกรามช้าง 2 ตัว และลูกเสือโคร่ง 2 ตัว พร้อมอุปกรณ์การกระทำผิด กล่องเดินทางสำหรับใส่สัตว์ 2 กล่อง กรงเหล็กขนาดใหญ่ 3 กรง และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง

นายเคียง (ขอสงวนนามสกุล) กล่าวว่า สัตว์ป่าคุ้มครองของกลาง ได้ซื้อมาจากบุคคลที่อยู่ในกรุงเทพฯ โดยนกกาฮัง ซื้อมาตัวละ 6,000 บาท นกเงือกกรามช้าง ซื้อมาตัวละ 8,000 บาท และลูกเสือโคร่ง ตัวละ 150,000 และได้นำมาส่งให้กับตนเองยังสถานที่เกิดเหตุ

ขณะที่นายนาวี ช้างภิรมย์ ผู้อำนวยการส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า คณะเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวกรณีมีการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง พร้อมอุปกรณ์การกระทำผิด โดยไม่มีหลักฐานการอนุญาตให้ค้า ครอบครอง และเพาะพันธุ์ของทางราชการ มีความผิดตามมาตรา 17 ฐาน “มีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี” มีอัตราโทษตามมาตรา 92 จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 29 ฐาน “ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต” มีอัตราโทษตามมาตรา 89 จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ประกอบมาตรา 112 และ มาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

ทั้งนี้ ได้ควบคุมตัวนายเคียง ผู้ต้องหา พร้อมตรวจยึดสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวข้าวต้น พร้อมอุปกรณ์การกระทำผิด นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง

สำหรับสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดนกกาฮัง 6 ตัว นกเงือกกรามช้าง 2 ตัว และลูกเสือโคร่ง 2 ตัว พร้อมอุปกรณ์การกระทำความผิดดังกล่าว ขออนุมัติพนักงานสอบสวนรับไปส่งมอบให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลและเก็บรักษาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

นกกก หรือนกกาฮัง หรือนกกะวะ เป็นนกที่มีลำตัวขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มนกเงือก 13 ชนิดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีลำตัวยาวจากหางถึงปาก อาจจะถึง 150 ซม. น้ำหนักหลายกิโลกรัม เป็นนกที่มีอายุยืนได้ถึง 30-40 ปี ประเทศไทยมีทั่วไปเกือบทุกภาคยกเว้นภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน และเคยมีมากที่เกาะตะรุเตา กินผลไม้ต่าง ๆ และสัตว์เล็ก ๆ เช่น กิ้งก่า แย้ หนู งู อาศัยอยู่ตามป่าดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ซึ่งมีต้นไม้สูง ๆ ชอบอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ๆ ฤดูผสมพันธุ์จะอยู่กันเป็นคู่ ๆ ชอบกระโดดหรือร้อง ขณะหากินร้องเสียงดังมาก เวลาบินจะกระพือปีกสลับกับร่อน เสียงกระพือปีกดังคล้ายเสียงหอบ มีสถานภาพ ที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

นกเงือกกรามช้าง นกเงือกกรามช้าง มีขนาด 110 เซนติเมตร มีขนาดเล็กกว่านกกกเล็กน้อย โหนกเตี้ยแบนมีลอนหยัก จำนวนลอนบ่งบอกถึงอายุของนก คืออายุ 1 ปี มี 1 ลอน ชอบกินผลไม้เป็นส่วนใหญ่ บินได้ไกลมาก หากินได้ทั่วไป มีเสียงร้อง เอิก เอิ๊ก เอิก เอิ๊ก ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบจากที่ราบจนถึงที่สูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล

นกเงือกทุกชนิดช่วยแพร่กระจายพันธุ์เมล็ดพืชป่าได้ตลอดชีวิต ให้ต้นไม้ไปงอกไกล ๆ ตามระยะที่นกเงือกบินหาอาหารไป และผลไม้หลายชนิดก็วิวัฒนาการปรับตัวให้ผ่านระบบการย่อยของนก เพื่อให้เมล็ดพืชมีความเหมาะสมพอดี พร้อมงอกทันทีเมื่อถูกขับถ่ายออกมา

ขณะที่เสือในประเทศไทย พบเสือโคร่งอาศัยอยู่ในกลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็นทางภาคตะวันออก-ภาคอีสาน และกลุ่มป่าแก่งกระจาน เสือตัวเมียอุ้มท้องประมาณ 3 เดือนก่อนคลอดลูกจำนวน 2-7 ตัว แต่ส่วนใหญ่ลูกจะรอดชีวิตจนโตเต็มวัยประมาณ 2-3 ตัวเท่านั้น

ในประเทศไทยเสือโคร่งมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ โดยปัจจัยที่ทำให้จำนวนเสือโคร่งมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว มีปัญหาหลักอยู่ 3 ปัจจัย คือ การถูกล่า จำนวนของเหยื่อลดน้อยลง และพื้นที่ป่าถูกทำลาย

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

บทความต้นฉบับ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร