พัทลุง! ประกาศ พื้นที่ อ.ควนขนุน เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(อุทกภัย)

617
views

พัทลุง!ประกาศ พื้นที่ อ.ควนขนุน เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(อุทกภัย) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงควายน้ำแล้ว หลัง’ควายน้ำ’ ขาดอาหารเจอพิษน้ำท่วมขัง

จ.พัทลุง – จากกรณีที่ฝูงควายน้ำทะเลน้อย ซึ่งเกษตรกรนำมาเลี้ยงไว้ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย โดยเฉพาะใต้สะพานเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา ซึ่งเป็นสะพานยกระดับที่เชื่อมระหว่าง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กับ อ.ระโนด จ.สงขลา ทำให้ควายน้ำได้ล้มตายลงมากกว่า 100 ตัว จากสาเหตุสำคัญการขาดแคลนอาหารสัตว์ เนื่องจากในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2564 – เมษายน 2565 มีฝนตกมาอย่างต่อเนื่องและเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่การเลี้ยงควายน้ำ จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ได้เร่งให้การช่วยเหลือเหตุดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ตามในตอนสายวันนี้ (วันที่ 19 เม.ย.) จังหวัดพัทลุง โดยนายฉัตรชัย อุสาหะ รอง ผวจ.พัทลุง ได้ออกประกาศจังหวัดพัทลุง ลงวันที่ 18 เมษายน 2565 เรื่อง เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(อุทกภัย) ในพื้นที่ อ.ควนขนุน ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ได้เกิดเหตุอุทกภัยจากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนหรือฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ และมีฝนหนักถึงหนักมาก ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงมา ทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ หมู่ที่ 2 ต.พนางตุง หมู่ที่ 7 ต.ทะเลน้อย และหมู่ที่ 1,4,7,8,13 ต.ปันแต รวม 3 ตำบล 7 หมู่บ้าน ซึ่งภัยดังกล่าวเป็นภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน บ้านเรือน พื้นที่การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ สิ่งสาธารณประโยชน์ และในขณะนี้ภัยพิบัติดังกล่าวยังไม่ยุติ

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบพิบัติโดยเร่งด่วน จึงไม่สามารถประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดพัทลุง (ก.ช.ภ.จ.พัทลุง) ได้ทันท่วงที อีกทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด อาศัยอำนาจตามข้อ 20 วรรคท้าย ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง จึงได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่เกิดภัย

เครดิตแหล่งข้อมูล : พัทลุงนิวส์ออนไลน์

 
ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร