การลงแรง หรือที่เราเรียกกันว่าเวยยาวัจจมัย เป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ สำหรับการช่วยเหลือผู้อื่นในงานที่ชอบ และในการล้างห้องน้ำวัดก็เป็นหนึ่งในนั้น บุญกุศลที่ได้จากการล้างห้องน้ำวัดนั้นมีอย่างมากมาย
คนไหนที่กำลังชีวิตย่ำแย่ หันไปทางไหนก็พบเจอแต่ปัญหาทางตันมือแปดด้าน ชีวิตนี้หมดแล้วสิ้นทุกอย่าง อย่าเพิ่งท้อ ลองมาพลิกวิกฤติแย่ๆ นี้ให้กลายเป็นดีด้วยการ เสริมดวงให้กลับมาสดใสอีกครั้งง่ายๆ แค่ “ล้างห้องน้ำวัด”
พระไพศาล วิสาโล ได้ทำการอธิบายความหมายของเวยยาวัจจมัยเอาไว้ว่า เป็นการทำบุญด้วยการขวานขวายการรับใช้ รวมถึงการช่วยเหลือส่วนรวม เช่น การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การรักษาสมบัติของสาธารณะ
การชักชวนให้ผู้อื่นเป็นคนดีเข้าวัดเข้าวา การเป็นจิตอาสาสำหรับช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน หรือแม้แต่การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลืองานปฏิบัติธรรม ช่วยเหลืองานส่วนรวมที่ไม่จำเป็นต้องช่วยงานวัด นั้นก็ถือว่าเป็นการบำเพ็ญวยยาวัจจมัยเช่นกัน
อานิสงส์ของการล้างห้องน้ำ
ในสมัยพุทธกาล มหาเศรษฐี สามีภรรยาแห่งพระนครโกสัมพีมีบุตรนามว่า พากุละ หลังจากเกิดได้เพียง ๕ วัน มารดาบิดาพร้อมด้วยเครือญาติ ได้พาเด็กน้อยไปอาบน้ำชำระร่างกาย ที่แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างที่คนใช้กำลังอาบน้ำให้อยู่นั้น มีปลาตัวใหญ่ว่ายผ่านมา เห็นก็เข้าใจว่าเป็นอาหาร จึงกลืนเข้าไปในท้องแล้วว่ายน้ำหนีไป
สร้างความเสียใจ แก่มารดาและบิดาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยอำนาจบุญญาธิการของเด็กพากุลเมื่อเข้าไปอยู่ในท้องปลาก็ไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด
กลับนอนสบายเหมือนอยู่บนที่นอนธรรมดา ในทางกลับกัน ปลายักษ์กลับรู้สึกเดือดร้อนกระวนกระวายเที่ยวแหวกว่ายไปตามกระแสน้ำ จนติดตาข่ายของชาวประมงที่อาศัยในนครพาราณสี สามีภรรยามหาเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสีซื้อปลายักษ์ตัวนี้ไป หลังจากเปิดท้องปลาและพบเด็กน้อยนอนอยู่ในนั้น
ก็เกิดความรักใคร่ราวกับว่าเป็นบุตรของตนจึงเลี้ยงดูพากุละเป็นอย่างดี ข่าวของเด็กน้อยในท้องปลาแพร่มาถึงเมืองโกสัมพี หลังเศรษฐีและภรรยาทราบเรื่อง ก็รู้ทันทีว่าเป็นบุตรชายของตน จึงรีบเดินทางมายังกรุงพาราณสีเพื่อขอคืน
แต่เศรษฐีแห่งเมืองพาราณสีไม่ยอมคืนให้ พร้อมบอกว่า เราเป็นผู้ซื้อปลาตัวนี้ ดังนั้นที่อยู่ในครรภ์ของปลา ก็ถือเป็นสมบัติของเราด้วยเช่นกัน เมื่อตกลงกันไม่ได้ เศรษฐีทั้งสองฝ่ายจึงได้ถวายฎีกาต่อพระเจ้าพรหมทัตผู้มีปัญญามาก
พระองค์ทรงวินิจฉัยว่าเด็กน้อยผู้นี้เป็นผู้มีบุญญาธิการมาก พ่อแม่เพียงสองคนไม่สามารถเลี้ยงดูเขาได้ จึงตัดสินให้ผู้นี้มีบิดา ๒ คนและมารดา ๒ คน พร้อมให้ทั้งสองตระกูลช่วยกันเลี้ยงดู โดย ผลัดกันเลี้ยงคราวละ ๔ เดือน ตั้งแต่นั้นเศรษฐีทั้งสองตระกูลก็เลี้ยงดูเด็กน้อยเป็นอย่างดี
พากุละเสวยสุขในทรัพย์สมบัติจนอายุ ๘๐ ปี เป็นเวลาเดียวกับที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาแสดงธรรมที่เมืองโกสัมพี ท่านพากุละจึงตามไปเข้าเฝ้าและฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ พอฟังจบก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาบรรลุเป็นพระโสดาบันในทันที
จากนั้นท่านพากุละจึงทูลขอบรรพชาอุปสมบท หลังปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพียง ๗ วันก็บรรลุพระอรหันต์ แม้พระพากุละจะมีอายุมากถึง ๘๐ ปีแล้ว แต่ท่านก็ปฏิบัติกิจสงฆ์ เช่น กวาดลานวัด ทำความสะอาดวัด ล้างห้องน้ำไม่เคยขาด อีกทั้งยังไม่เคยบ่นปวดหลัง สร้างความสงสัยในหมู่พระสงฆ์ยิ่งนัก พระอานนท์จึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้า จึงทราบว่า เมื่อชาติก่อนพระพากุละก่อกรรมดีไว้มาก ท่านชอบสร้างห้องน้ำถวายวัดบ้าง
สร้างห้องน้ำสาธารณะให้ผู้อื่นได้ใช้บ้าง อีกทั้งยังชอบทำความสะอาดห้องน้ำเป็นนิจ จึงส่งผลให้ท่านเสวยบุญในชาตินี้ พระพากุล ดับขันธปรินิพพานด้วยวัย ๑๖๐ ปี ก่อนนิพพาน ท่านได้เข้าเตโชสมาบัตินั่งนิพพาน ท่ามกลางภิกษุสงฆ์เมื่อท่านนิพพานแล้ว เตโชธาตุก็บังเกิดเป็นไฟไหม้ถึงสรีระ ร่างกายของท่านให้หมดไป ณ ที่นั้นเอง