หลวง พ่อแดง ติสฺโส เป็นบุตรของ นายแก้ว-นางอ่อน ทองเรือง เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง พ.ศ.๒๔๓๔ ที่บ้านเขาปุก ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีพี่น้องด้วยกัน ๔ คน หลวงพ่อแดงท่านเป็นลูกคนที่สองของครอบครัว
เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี (ประมาณ พ.ศ.๒๔๕๕-๒๔๕๖) บิดามารดาผู้มั่นคงในพระพุทธศาสนา เห็นว่าลูกชายสมควรที่จะได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ท่านได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสำเร็จ โดยมี พระครูวิบูลธรรมสาร (เพชร ติสฺโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูทีปาจารคุณารักษ์ (รักษ์ อินฺทสุวณฺโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ทับ วัดแจ้ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่อบวชแล้วก็เคร่งครัดต่อพระวินัย เอาใจใส่ในกิจวัตร ตามหน้าที่ของพระใหม่จะพึงกระทำ อยู่เป็นพระได้ ๒ พรรษา ก็มีเหตุบังเอิญให้เป็นโรคผิวหนังคันไปทั้งตัว รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย ท่านจึงตัดสินใจลาสิกขาเพื่อออกไปรักษาในเพศฆราวาส เมื่อรักษาหายแล้ว บิดามารดาเห็นว่าลูกชายได้บวชเรียนแล้วควรมีเหย้ามีเรือนต่อไป จึงได้สู่ขอ น.ส.แปลก บุตรสาวของนายเพชร-นางเหลือ ชาวบ้านสระเกศให้มาเป็นภรรยาท่าน
เมื่อทำการสมรสเรียบร้อยแล้วอยู่กินกันมาเป็นเวลาประมาณ ๙ เดือนเศษ ก็มีเหตุให้ท่านต้องแยกทางกัน ภายหลังหย่าร้างอยู่ระยะเวลาหนึ่ง บิดามารดาก็เกลี้ยกล่อมให้ท่านมีครอบครัวใหม่ (เพื่อมีบุตรหลานสืบสกุลตาม ธรรมดาของวิสัยชาวบ้านโดยทั่วไป แต่ด้วยจิตใจที่ไฝ่ในธรรม ท่านได้ปฏิเสธความประสงค์ของบิดามารดา
ในที่สุดหลังจากได้ออกมาครองเพศฆราวาสยังไม่ถึง ๑ ปี ท่านก็ได้สละเพศคฤหัสถ์เข้าวัดบรรพชาอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง ณ พัทธสีมาวัดสำเร็จโดยมี พระครูวิบูลธรรมสาร (เพชร วชิโร) วัดอัมพวัน เกาะพงัน อดีตเจ้าคณะอำเภอเกาะสมุยรูปที่ ๒ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูทีปาจารคุณารักษ์ (รักษ์ อินฺทสุวณฺโณ วัดประเดิม ภายหลังเป็นเจ้าคณะอำเภอเกาะสมุยรูปที่ ๓) และ พระอาจารย์ทับ วัดแจ้ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า”ติสฺโส”
หลังจากท่านได้อุปสมบทแล้วก็ได้ติดตามพระอุปัชฌาย์ (หลวงพ่อเพชร วชิโร)ไปอยู่ที่เกาะพงัน เพื่ออบรมสมถวิปัสสนากรรมฐาน รวมทั้งอุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์อาจารย์ตามหน้าที่ของบรรพชิตผู้บวชใหม่ เป็นเวลาประมาณ ๗ เดือน จึงได้ลากลับมาพำนักอยู่ที่วัดสำเร็จ ภายหลังเห็นว่าที่พำนักสงฆ์เขาเล่เป็นที่สงบสงัดเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม จึงได้ออกจากวัดสำเร็จมาพำนักที่พำนักสงฆ์เขาเล่เป็นเวลาหลายปี (เขาเล่สร้างมาตั้งแต่ประมาณสมัยรัชกาลที่ ๕ และเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สมเด็จพระปิยมหาราชเคยเสด็จประพาสแหลมมลายู คราว ร.ศ.๑๐๗และ ร.ศ.๑๐๘)
ต่อมาวัดท้องกรูด (วัดสันติวราราม) เกิดขาดเจ้าอาวาส อุบาสกอุบาสิกาจึงพร้อมใจกันมานิมนต์ท่านไปอยู่ ท่านเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมจึงรับนิมนต์ ท่านมาอยู่ที่วัดท้องกรูดเป็นเวลาหลายปี จนพระอุปัชฌาย์มอบหมายให้ทำหน้าที่พระอนุสาวนาจารย์ในการบวชกุลบุตร ท่านได้ทำหน้าที่อยู่หลายปี และสิ่งต่างๆที่ท่านได้สร้างขึ้นก็มีหลายอย่างเช่น โรงอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิที่อยู่ เป็นต้น ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดท้องกรูด (วัดสันติวราราม) อยู่ประมาณ ๗ ปี ก็เกิดเบื่อหน่ายในภารกิจวงจรชีวิตของสมภาร โอกาสที่จะบำเพ็ญสมณธรรมลดน้อยลง
จึงได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส มุ่งหน้าหาความวิเวกสงบสงัดเป็นที่ตั้ง สถานที่ต่างๆที่ท่านได้จาริกธุดงค์ไปอยู่เช่นถ้ำยายละไม (ที่ซึ่งท่านและหลวงพ่อแดง วัดคุณาราม ได้ไปฝึกวิปัสสนากรรมฐานจากพระครูประยุตธรรมโสภิต(ทองไหล ผลผลา) อดีตเจ้าอาวาสวัดละไม) แหลมสอ แหลมเสร็จ น้ำรอบ วัดโพธิ์แหลมสอ วัดโพธิ์บ้านทะเล ท้องตะโหนด ตรอกยวน รูเหล็ด วัดพระคอหัก เกาะแตน เกาะมัดสุม เกาะราบ เกาะฟาน เป็นต้น
เมื่อท่านปลดเปลื้องสิ่งที่หนักลงจากบ่าแล้ว หลวงพ่อแดงท่านได้สร้างเรือใบขนาดเล็กขึ้นมาลำหนึ่ง ท่านได้อาศัยเรือลำนี้ ข้ามท้องทะเลอันกว้างใหญ่ เที่ยวธุดงค์รอนแรมหาความวิเวก ฝึกจิตใจให้เหนือวิสัยแห่งโลก อยู่ตามเกาะต่างๆรอบอาณาบริเวณเกาะสมุย บางครั้งก็ธุดงค์ขึ้นไปบนแผ่นดินใหญ่หรือไปบกบ้าง เมื่อหลวงพ่อแดง มาพำนักอยู่แถวริมทะเลใกล้เขาพระเจดีย์
[เจดีย์แหลมสอเดิมตั้งอยู่บนเขา ใกล้กับวัดแหลมสอในปัจจุบัน ท่านพระครูวิบูลธรรมสาร (เพชร ติสฺโส)เป็นผู้สร้าง ประมาณต้นปี พ.ศ.๒๔๕๑ ใช้เวลาสร้างประมาณ ๒ ปี จึงแล้วเสร็จ หลังจากหลวงพ่อเพชร ติสฺโส มรณภาพลง เขาพระเจดีย์ก็รกร้างอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ต่อมาอาจเนื่องมาจากไม่มีสายล่อฟ้า จึงเกิดฟ้าผ่าลงต้องเจดีย์ ทำให้พระเจดีย์ชำรุด]
เมื่อหลวงพ่อแดง มาพำนักอยู่แถวริมทะเลใกล้เขาพระเจดีย์ โดยระยะแรกท่านได้สร้างโบสถ์น้ำ ณ สถานที่ใกล้ๆกับที่ตั้งเจดีย์วัดแหลมสอ ในปัจจุบัน แต่ต่อมาน้ำทะเลได้พัดเอาทรายมาถมคลองริมทะเล ทำให้ขาดคุณสมบัติของอุทกุกเขป หรือที่เรียกกันว่า “โบสถ์น้ำ” ทำให้ต้องยกเลิกอพัทธสีมา ท่านจึงหันไปพัฒนาบริเวณที่ตั้งวัดแหลมสอในปัจจุบันจนมีถาวรวัตถุ เสนาสนะพอประมาณแก่การปฏิบัติศาสนกิจ ด้วยเหตุแห่งความกตัญญูกตเวทีของท่าน ที่พยายามดำเนินรอยตามบุรพชนในทางที่ชอบที่ควร ไม่ดูถูกเหยียดหยามในสิ่งที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์ทำไว้ แต่กลับต่อเติมเสริมสร้างให้ดีขึ้น
ดังนั้นเมื่อเจดีย์บนเขาที่หลวงพ่อเพชร ติสฺโส ได้สร้างไว้เกิดชำรุดจนเสียสภาพไป ท่านมิได้นิ่งนอนใจยอมลงทุนลงแรงปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ขึ้นมาใหม่ แต่ด้วยภูมิลักษณ์ จึงได้ย้ายจุดก่อสร้างเจดีย์องค์ใหม่มาอยู่ริมทะเล ใกล้บริเวณที่เคยเป็นอุทกุกเขปหรือโบสถ์น้ำเดิม(พระเจดีย์องค์ ปัจจุบัน)เมื่อสร้างเสร็จก็ได้อันเชิญพระบรมธาตุที่พ่อท่านขิก ชาวท่าฉาง ถวายให้หลวงพ่อเพชร ติสฺโส จากเจดีย์องค์เดิมอันชำรุดบนเขาพระเจดีย์มาบรรจุไว้ในเจดีย์องค์ใหม่ด้วย
ปัจจุบัน เจดีย์แหลมสอ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเกาะสมุย ที่บรรดานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ผู้มาเยือนเกาะสมุย มักหาโอกาสไปเยี่ยมชมนมัสการอยู่เสมอ
หลวงพ่อแดง ติสฺโส แม้ท่านจะเป็นพระแนวสมาธิภาวนาถือธุดงควัตร มหาสติปัฏฐาน แต่ท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธการสร้างวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังโดยสิ้นเชิง วัตถุมงคลของท่านเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ฑ.ศ.๒๕๑๙ ด้วยเรือโดยสาร (เรือนอน) เกิดล่มกลางทะเล (ดั่งคำที่ หลวงพ่อเพชร วัดอัมพวัน อาจารย์ของท่านพูดว่า “ถึงคุณแดงจะเก่งอย่างไร ก็ดับทางน้ำ” ขณะมรณภาพ หลวงพ่อแดง มีอายุ ๘๕ ปี ๕๙ พรรษา