สำนักข่าวไทย 19 ส.ค.- กรมวิทย์แจงผลศึกษาทดลองประสิทธิภาพสูตรฉีดวัคซีนกับสายพันธุ์เดลตา ในห้องปฏิบัติการระดับ 3 พบวัคซีนไขว้สลับชนิดให้ผลดีสุด และภูมิขึ้นเร็ว เพียง 5 สัปดาห์ รองลงมาแอสตราฯ 2 เข็ม ส่วนการฉีดแบบบูสเตอร์ แอสตราฯ เป็นเข็ม 3 หลังรับซิโนแวค พบให้ผลดีเช่นกัน แต่ไม่สนับสนุนฉีดแอสตราฯ เข็ม 1 และซิโนแวค เข็ม 2
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงผลการศึกษาการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไขว้สลับชนิด ว่า จากการศึกษาทดลอง ตรวจระดับภูมิคุ้มกันของประชาชนอาสาสมัคร จำนวน 125 คน อายุเฉลี่ย 18-60 ปี แบ่งเป็น ชาย 61 คน, หญิง 64 คน ในพื้นที่กทม. และปริมณฑล ในผู้รับวัคซีนแบบซิโนแวค 2 เข็ม, แอสตราเซเนกา 2 เข็ม, ฉีดแบบไขว้ สลับชนิด ซิโนแวค กับแอสตราเวเนกา
เมื่อตรวจแบบวัดภูมิคุ้มกัน แอนตี้สไปร์ท (ภูมิคุ้มกันแบบภาพรวม) ไม่ได้มีการจำกัดว่า ไวรัสสายพันธุ์ไหน เพื่อดูสูตรการรับวัคซีน พบว่าผู้ที่รับซิโนแวค 2 เข็ม 117 ไตเตอร์ แอสตราเซเนกา 207 ไตเตอร์ และซิโนแวค เข็ม 1 จากนั้นห่าง 3 สัปดาห์ รับวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็ม 2 จากนั้นห่าง 2 สัปดาห์ วัดภูมิคุ้มกันขึ้นถึง 716 ไตเตอร์
ทั้งนี้ภูมิคุ้มกันของแต่ละคนไม่เท่ากัน จึงกำหนดเป็นค่าเฉลี่ยกลางที่เกิดขึ้น พบว่า ค่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น พบว่า การฉีดวัคซีนแบบสูตรไขว้สลับชนิดกัน (ซิโนแวค + แอสตราฯ) ให้ภูมิสูงกว่า ซิโนแวค 2 เข็ม ถึง 6 เท่า และสูงกว่า การรับวัคซีนแอสตาฯ 2 เข็ม ถึง 3 เท่า ส่วนการฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์โดส เป็นซิโนแวค 2 เข็ม แอสตราเซเนกา เป็นเข็ม 3 พบว่า ภูมิคุ้มกันสูงถึง 1127 ไตเตอร์
ทั้งนี้ภูมิที่ขึ้นมีมากกว่าในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ ที่ต้องการภูมิคุ้มกันที่สูงมากกว่าซิโนแวคถึง 10 เท่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการศึกษาในกลุ่มคนบูสเตอร์โดสในเข็ม 3 ที่เป็นไฟเซอร์ คาดว่าในอนาคตจะสามารถดำเนินการได้ การฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ในที่รับเป็นบูสเตอร์โดส ก็เหมือนกับการรับวัคซีนแอสตราเซเนกาทั่วไป มีไข้ ปวดเมื่อตามร่างกาย
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า นอกจากนี้ มีการศึกษาแบบเฉพาะเจาะจงในเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา ทางกรมวิทย์ฯ ได้ทดลองในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 ที่มีความปลอดภัยสูงเนื่องจากนำซีรัม (เลือด) ของอาสาสมัคร ที่รับวัคซีนกับไวรัสเดลตาจริงมาทดลองในหลอดทดลอง ลักษณะของการเจือจาง 10-1000 เท่า และย้อมสีไวรัส เพื่อดูประสิทธิภาพของการยับยั้งเชื้อไวรัส โดยยิ่งเจือจางซีรัมมากเท่าไหร่ และเหลือจำนวนไวรัสลดลงครึ่งหนึ่ง ถือว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ
โดยพบว่าสูตรวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มีค่าเฉลี่ยมีการเจือจางอยู่ที่ 24.28 เท่า, แอสตราเซเนกา+ซิโนแวค อยู่ที่ 25.84 เท่า, แอสตราเซเนกา 2 เข็ม 76.52 เท่า, ซิโนแวค เข็ม 1 และแอสตราเซเนกา เข็ม 2 อยู่ที่ 78.64 เท่า จะเห็นว่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการรับวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม ส่วนการการบูสเตอร์โดส ซิโนแวค 2 เข็ม และฉีดแอสตราฯ เป็นเข็ม 3 อยู่ที่ 271.2 เท่า
ทั้งนี้จะเห็นว่า วัคซีนสูตรสลับไขว้ชนิดที่เป็นสูตรมาตราไทย การฉีดของไทยในขณะนี้ให้ผลดี มีประสิทธิภาพมากกว่า และใกล้เคียงการรับแอสตราฯ 2 เข็ม แต่ข้อดีคือการฉีดวัคซีนสูตรสลับชนิดนี้ ทำให้ลดระยะเวลาการรับวัคซีนให้สั้นลงได้ภูมิคุ้มกันเร็วขึ้น เพียง 5 สัปดาห์ โดยวัคซีนซิโนแวค เข็ม 1 จากนั้นห่าง 3 สัปดาห์ รับแอสตราฯ เป็นเข็ม 2 จากนั้นห่างอีก 2 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันก็ขึ้นได้ทันที
เพราะขณะนี้การระบาดของไทย 95% ในกทม. เป็นไวรัสเดลตา ส่วนในต่างจังหวัด 90% ก็เป็นเดลตา และไม่แนะนำให้รับวัคซีนแอสตราฯ เป็นเข็ม 1 และซิโนแวค เป็นเข็ม 2 เพราะภูมิเท่าซิโนแวค 2 เข็ม
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ในการศึกษาวิจัยทั้งหมดนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่นานแค่ไหน เพราะต้องใช้เวลาในการศึกษาพิสูจน์ ส่วนการศึกษาในกลุ่มรับวัคซีนไฟเซอร์ ยังต้องรอให้ครบ 2 สัปดาห์ก่อนจึงจะศึกษาได้ ทั้งนี้ยังย้ำว่าการศึกษาเรื่องภูมิคุ้มกันไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าภูมิจะอยู่ต่อไป เพราะมีปัจจัยธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง กลไกการป้องกันโรค วัคซีนเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
เพราะวัคซีนจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายจดจำเชื้อ และป้องกันโรค ในอนาคตจะมีการศึกษาวิจัย เรื่องการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อและชั้นผิวหนัง เพื่อดูปริมาณวัคซีนที่เข้าไปในร่างกาย เพื่อดูการตอบสนองว่าแตกต่างกันหรือไม่ .-สำนักข่าวไทย