ผอ.ไบโอเทคเผยผลวิจัยของสหรัฐ ‘วัคซีนโมเดอร์นา’ ประสิทธิภาพดีกว่า ‘ไฟเซอร์’ ในการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลตา
วันนี้ ( 11 ส.ค. 64 )ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักไวรัสวิทยา เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ถึงงานวิจัยของสหรัฐอเมริกา กับข้อมูล คนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ กับ โมเดอร์นา : เมื่อสู้กับเดลตา ใครชนะ
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ของทีมวิจัยในรัฐ Minnesota สหรัฐอเมริกา เก็บข้อมูลคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา เปรียบเทียบดูประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองชนิด ในช่วงเวลาที่มีการระบาดของไวรัสโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2563 จนถึงเดือนกรกฎาคมปี 2564ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของไวรัสอัลฟา และ เดลตา ที่มีสัดส่วนที่แตกต่างกัน ในแต่ละช่วงที่เก็บข้อมูล กลุ่มตัวอย่างที่เก็บข้อมูลอยู่ที่ 25,896 คน ในแต่ละกลุ่มรวมทั้งกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนด้วย
ตัวเลขประสิทธิภาพโดยรวมของวัคซีนทั้งสองยี่ห้อถือว่าสูงแต่ถ้าให้เปรียบเทียบกันแบบตัวต่อตัว คะแนนที่ออกมาคือ “โมเดอร์นา เป็นฝ่ายชนะ” ภาพจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่มีอาการโควิดในกลุ่มที่ฉีด ไฟเซอร์ (เส้นสีน้ำเงิน) ดูเหมือนจะใกล้เคียงกับ โมเดอร์นา (เส้นสีส้ม) ในช่วง 70 วัน หลังจากได้วัคซีนครบ 2 เข็ม และ หลังจากนั้นกราฟของ ไฟเซอร์ จะเริ่มแยกออกจาก โมเดอร์นา อย่างเห็นค่อนข้างชัด เมื่อดูค่าประสิทธิผลรายเดือนจะเห็นว่า ประสิทธิผลของวัคซีนทั้งสองชนิด จะเริ่มตกลงที่เดือนมิถุนายนทั้งคู่ โดยเดือนกรกฎาคม ค่าของ ไฟเซอร์ จะอยู่ที่ 42% ขณะที่ โมเดอร์นา อยู่ที่ 76% ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการระบาดของเดลตามากกว่า 70% ในรัฐนั้น
ตัวเลขเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยมีอาการ จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลสำหรับ โมเดอร์นา ดูดีกว่า ไฟเซอร์ เช่นกัน โดยสองกลุ่มมีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลมากขึ้นช่วงที่เดลตาระบาดทั้งคู่ คนที่ได้ ไฟเซอร์ มีประมาณ 25% ขณะที่ โมเดอร์นา มีประมาณ 20% ซึ่งเห็นค่อนข้างชัดว่า จากช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้นหลังฉีด บวกกับ ไวรัสเดลตา สามารถพบคนที่ติดเชื้อ และมีอาการได้มากขึ้นกว่าการระบาดช่วงแรก ๆ อย่างค่อนข้างชัดเจน
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา โพสต์ข้อมูลต่ออีกว่า วัคซีนโมเดอร์นา ควรเก็บไว้ฉีดคุณตาคุณยายดีมั้ย ?
ควันหลงจากโพสต์เรื่อง Pfizer Vs Moderna เมื่อวานครับ วันนี้มีงานวิจัยอีกชิ้นนึงที่เก็บข้อมูลโดยทีมวิจัยที่ประเทศแคนาดา ตัวอย่างคือผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา เกือบ 200 คน และ ผู้ดูแลผู้สูงอายุเหล่านั้น ที่ต่างได้รับวัคซีน mRNA ไม่ว่าจะเป็น Pfizer และ Moderna ครบแล้วทั้งสิ้น งานวิจัยนี้เปรียบเทียบภูมิคุ้มกันที่ตรวจในกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนแต่ละชนิด และ เปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ดูแลที่เป็นกลุ่มอายุน้อยกว่า
เมื่อเปรียบเทียบดูปริมาณแอนติบอดีต่อโปรตีนสไปค์ในกลุ่มผู้สูงอายุตัวเลขออกมาชัดว่า กลุ่มที่ได้รับ วัคซีนโมเดอร์นา(mRNA-1273) มีปริมาณแอนติบอดีที่สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับ ไฟเซอร์ (BNT-162b2) ซึ่งตัวเลขตรงนี้จะไม่ชัดเมื่อดูในกลุ่มของผู้ดูแลซึ่ง โมเดอร์นา จะสูงกว่าเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อนำซีรั่มดังกล่าวไปตรวจหาดูแอนติบอดีชนิด NAb ที่ยับยั้งไวรัสได้จะเห็นภาพเดียวกันคือ กลุ่มที่ได้วัคซีนโมเดอร์นาสูงกว่า ไฟเซอร์ อย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลจากการศึกษานี้เหมือนจะบอกว่า สำหรับผู้สูงอายุแล้ว โมเดอร์นา น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ไฟเซอร์
ภาพดูเหมือนจะชัดขึ้นอีกเมื่อดูปริมาณ NAb กับไวรัสสายพันธุ์กลายพันธุ์ต่างๆ ให้สังเกตจำนวนจุดที่อยู่ในระดับ 10^0 (คือป้องกันไม่ได้เลย) ที่มีมากอย่างชัดเจนในผู้สูงอายุที่ได้ Pfizer โดยตัวเลขของผู้สูงอายุที่ได้ Pfizer และไม่มี NAb ต่อสายพันธุ์เบต้าเลยมากถึง 37.9% ขณะที่ pattern ดังกล่าวเห็นไม่ชัดเมื่อดูในกลุ่ม Staff ที่อายุน้อยกว่า…ผลการทดลองนี้เหมือนจะบอกว่า ในอนาคตเราอาจจะมี mRNA vaccine มากขึ้น ซึ่งแต่ละยี่ห้ออาจจะได้ผลพอๆกันในกลุ่มหนึ่ง แต่อาจได้ผลต่างกันมากในอีกกลุ่มหนึ่ง วัคซีนทางเลือกของประเทศไทยอย่าง Moderna อาจจะจำเป็นต้องใช้กับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการมากที่สุดหรือไม่อย่างไร?
ผลวิจัยเผย ‘โมเดอร์นา’ ประสิทธิภาพชนะ ‘ไฟเซอร์’ ในการต่อสู้กับโควิดเดลตา