คดีนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก นักธุรกิจการท่องเที่ยวชื่อดัง นำพยานหลักฐานเข้าพบพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์หลังถูกออกหมายจับในคดีที่ร่วมกับพวกรวม 6 คน ฉ้อโกงประชาชน
วันนี้ (17 พ.ค.2564) นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก นักธุรกิจชื่อดัง พร้อมทนายความ นำพยานเอกสารหลักฐานสำคัญเข้าพบพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายจับศาลอาญา รัชดาฯ ที่ร่วมกันกับพวกรวม 6 คน ฉ้อโกงประชาชน มีมูลค่าความเสียหายรวมแล้วประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท
นายประสิทธิ์ เปิดเผยว่า เตรียมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงมาชี้แจงกับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม หลังถูกออกหมายจับร่วมกับพวกรวม 6 คนในคดีที่ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยมั่นใจว่า มีข้อมูลที่สามารถชี้แจงและต่อสู้คดีตามกฏหมายได้เพราะสิ่งที่พูดไปทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริง โดยมั่นใจว่า ส่วนตัวถูกกลั่นแกล้งเพราะที่ผ่านมาส่วนตัวก็มีคดีความที่ตัวเองตกเป็นผู้เสียหายสูญเงินไปกว่า 100 ล้านบาท
นายประสิทธิ์ ยังยอมรับว่า ที่ผ่านมาปัญหาสถานการณ์ COVID – 19 ส่งผลกระทบกับธุรกิจการท่องเที่ยวของตัวเองอย่างมาก อีกทั้งยังถูกนำชื่อไปเชื่อมโยงกับประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น จึงอยากให้สังคมแยกแยะระหว่างการระดมทุนทางธุรกิจ กับการทำธุรกิจแบบเครือข่าย ซึ่งส่วนตัวเชื่อมั่นว่า ยังมีคนที่มั่นใจในตัวเองอยู่ซึ่งหากพบว่า ตัวเองกระทำความผิดจริงต้องรับโทษตามกฎหมายอยู่แล้ว
คดีดังกล่าว ตำรวจกองปราบปรามเข้าตรวจค้นเป้าหมายรวม 9 จุด และจับผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 4 คน ประกอบด้วย น.ส.ณัฐวรรณ, น.ส.สิริมา,นายกิตติวัฒน์ และ พันตรีแพทย์หญิงอมราภรณ์ โดยผู้เสียหาย อ้างว่าถูกกลุ่มนี้ หลอกลวงด้วยวิธีการหลายรูปแบบ เช่น ชักชวนให้ผู้เสียหายนำบัตรเครดิต หรือ เงินสด มาลงทุนซื้อแพ็กเกจทัวร์ ชักชวนให้ลงทุนโดยให้โอนเงินฝากเข้าบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์โดยอ้างผลตอบแทนร้อยละ 11.5 ถึงร้อยละ 15 ต่อการลงทุนในระยะเวลา 39 วัน ชักชวนให้ลงทุนซื้อทองคำและให้นำมาลงทุนตามโปรโมชั่นของบริษัทฯ เสนอผลกำไรร้อยละ 43.5 ชักชวนให้ลงทุนเงินสดหรือทองคำในระบบกองทุนส่วนตัวของนายประสิทธิ์ และชักชวนให้ลงทุนซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม และให้ปล่อยเช่ากระเป๋า
ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวแทนผู้เสียหายกว่า 20 คน เข้าพบพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเพื่อให้ปากคำเพิ่มเติม ในคดีที่เคยแจ้งความกล่าวหานายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวก ฐานฉ้อโกงฯ
นายอติชาต เลาหพิบูลย์กุล หนึ่งในผู้เสียหาย ระบุว่า ส่วนตัวเสียหายกว่า 80 ล้านบาท หลังร่วมลงทุนกับนายประสิทธิ์ มาทุกรูปแบบ นานประมาณ 2 ปี เนื่องจากมีความเชื่อถือในตัวนายประสิทธิ์ เพราะเป็นบุคคลที่มีต้นทุนทางสังคม และส่วนตัวก็เคยมีโอกาสลงพื้นที่ร่วมทำจิตอาสาร่วมกับนายประสิทธิ์ด้วย ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า การทำธุรกิจของนายประสิทธิ์ไม่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ เพราะมีธุรกิจจริงได้ผลประกอบการและไม่ได้ปันผลจากการแนะนำต่อแต่อย่างใด ส่วนที่นายประสิทธิ์อ้างว่า บริษัทประสบปัญหาสภาพคล่องเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งขัดเเย้งกับความเป็นจริงที่บริษัทนายประสิทธิ์เติบโต
ส่วนผู้เสียหายอีกคน อ้างว่า เคยเป็นพนักงานในบริษัทของนายประสิทธิ์ โดยสมัครเข้าทำงานช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนถูกชักชวนให้นำเงินลงทุนสหกรณ์ อ้างจะให้เงินปันผลร้อยละ 15 ของเงินลงทุนทุก 39 วัน เป็นสิทธิพิเศษเฉพาะพนักงานเท่านั้น ส่วนตัวจึงไปชักชวนครอบครัวและญาติ ร่วมลงทุน มูลค่ารวมกว่า 1.4 ล้านบาท ซึ่งก็ได้เงินปันผลครบทุกรอบ แต่ภายหลังขอเงินลงทุนคืนกลับถูกบ่ายเบี่ยง โดยช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พนักงานติดต่อให้ไปเซ็นเอกสารประนอมหนี้ โดยระบุ จะแบ่งจ่ายชำระหนี้ให้เป็นระยะเวลา 1 ปี แต่ภายหลังกลับติดต่อไม่ได้ สร้างผลกระทบต่อตัวเองอย่างมาก