สิ่งใด “อยากรู้” แล้วก่อทุกข์ “พึงละ” สิ่งใด “อยากรู้” แล้วนำไปสู่ทางพ้นทุกข์ “พึงทำให้มาก”
รู้ในอริยสัจ ๔ ประการ คือ รู้จัก “ทุกข์” รู้จัก “เหตุแห่งทุกข์” รู้จัก “การดับไปแห่งทุกข์” รู้จัก “หนทางแห่งการดับทุกข์” สิ่งใดอยากรู้แล้วจึงพึงพิจารณาลงในกาย ในใจ หากเป็นเหตุก่อ “ทุกข์” พึงละ หากเป็นหนทนทาง “ดับทุกข์” พึงทำให้มาก สิ่งเหล่าใดไม่นำไปสู่ “การดับแห่งทุกข์”
สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้มีมากมายเปรียบใบไม้ทั้งป่า แต่ที่ทรงนำมาสอนเปรียบเพียงแค่ “ใบไม้กำมือเดียว”
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหยิบใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบขึ้นมา แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า…
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่เราหยิบขึ้นมากับใบที่อยู่บนต้น อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ใบที่อยู่บนต้นไม้นั้นแลมากกว่า ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบ ที่พระองค์ทรงหยิบขึ้นมามีเพียงเล็กน้อย พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วแต่ไม่ได้บอกเธอทั้งหลายก็มีมากเหมือนกัน
เพราะเหตุไร เราจึงมิได้บอก
เพราะสิ่งนี้ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ(ทุกข์) ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้นเราจึงมิได้บอก
สิ่งอะไรเล่าที่เราบอกแล้ว
คือ เราได้บอกว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
เพราะเหตุไรเราจึงบอก เพราะสิ่งนี้มีประโยชน์ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้นเราจึงบอก
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นเธอทั้งหลายพึงทำความเพียร เมื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงฯ”
พระไตรปิฎกภาษาไทย
สีสปาวนสูตร
สงฺ.ม. ๑๙/๑๑๐๑/๖๓๑