จากกรณีที่ โรเบิร์ต สายควัน เสียชีวิตด้วยวัณโรคปอด หลายคนคงอยากรู้จัก “วัณโรคปอด” ลักษณะอาการเป็นอย่างไร ดังนั้นมาทำความรู้จัก วัณโรคปอด วิธีการรักษาและป้องกัน ต้องทำอย่างไรบ้าง
วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย “ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส” ซึ่งสามารถติดต่อกันผ่านทางอากาศได้ด้วยการหายใจ การจาม การไอ หรือการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งวัณโรคสามารถเกิดได้ในอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่ 80% พบที่ปอด
เนื่องจากเชื้อติดต่อผ่านทางลมหายใจจึงทำให้เชื้อเข้าไปฝังตัวที่ปอดเป็นอวัยวะแรกของร่างกาย และเชื้อนี้ยังสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง จึงเป็นเหตุทำให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งเด็กและผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคได้ง่าย
ระยะแฝง (Latent TB) เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อจะแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ภายใน 2 – 8 สัปดาห์ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะทำหน้าที่ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อโรค จึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง คือมีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ไม่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ90%ที่เชื้อโรคอาจจะอยู่ในระยะนี้เป็นเวลาหลายสิบปี หรือตลอดทั้งชีวิตเลย โดยไม่แสดงอาการใดๆ
แต่จะมี 10%ของวัณโรคระยะแฝงที่รอจังหวะเมื่อร่างกายเราอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกำจัดหรือควบคุมเชื้อได้ เชื้อวัณโรคจะแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงก็จะกลายเป็นผู้ป่วยวัณโรค แต่หากผู้ป่วยมีการตรวจพบเจอเชื้อในช่วงระยะแฝง แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ
ระยะแสดงอาการ (Active TB) เป็นระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนเกิดอาการต่าง ๆ ซึ่งมีเพียง 10%ของผู้ที่ได้รับเชื้อเท่านั้น โดย 5% จะป่วยเป็นวัณโรคภายใน 2 ปี ส่วนอีก 5% จะป่วยเป็นวัณโรคหลังจาก 2 ปีไปแล้ว ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการรักษาก็จะหายขาดจากโรคได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยร้อยละ 50-65 จะเสียชีวิตภายใน 5 ปี
อาการที่ปรากฎให้เห็นได้ชัดเจน ได้แก่
1. ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ อาจเป็นได้ทั้งแบบไอแห้งๆ ไอมีเสมหะ หรือไอมีเสมหะปนเลือด
2. มีไข้ต่ำๆ ช่วงบ่ายหรือค่ำ
3. เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงผิดปกติ
4. เหงื่อออกมากผิดปกติช่วงกลางคืน
ทำได้ด้วยการรับประทานยาต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอควบคู่กับการดูแลสุขภาพ ระยะเวลารักษา 6-8 เดือน ยาฟรีตามสิทธิ์การรักษา เป็นแล้วก็เป็นอีกได้ ควรกินยาให้ครบตามกำหนด ถ้ากินยาไม่ครบมีโอกาสดื้อยา หากมีอาการดื้อยาระยะการรักษาจะนานขึ้นและต้องเสียค่ายาที่แพง รู้เร็ว รักษาหาย ก็ไม่เกิดการแพร่กระจาย
ทำอย่างไรให้ห่างไกล “วัณโรค”
1. เตรียมร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อสร้างภูมิต้านทานในการกำจัดเชื้อ โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2. ตรวจสุขภาพประจำปี
3. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค
สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีผู้คนแออัด หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก เพราะสถิติระบุว่าผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในระยะลุกลามและแพร่เชื้อ 1 คน ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ถึงปีละ 10-15 คน ค่ะ