แฉ 5 เสือทุบราคายาง – นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท. ประชุมหารือเพื่อรับมือกับราคายางพาราที่ปรับตัวลดลง โดยวันที่ 8 ก.ย. 2563 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปรับตัวลดลงเหลือ 56.10 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) ลดลงประมาณ 7% จากก่อนหยุดยาว 4 วัน หรือ 3 ก.ย. ราคาอยู่ที่ 59.90 บาท/ก.ก. ถือเป็นการปรับฐานหลังจากราคายางพาราขึ้นต่อเนื่องจนสร้างสถิติใหม่ในรอบ 3 ปี 2 เดือนที่ราคา 61.95 บาท/ก.ก. และในบางส่วนเกิดจากกลไกในด้านธุรกิจของเอกชน ที่ดำเนินการซื้อยางเพื่อส่งมอบ ตามสัญญาที่ได้ทำไว้ในราคาที่ไม่ถึง 50 บาท/ก.ก. แต่กยท. ได้ใช้กลไกตลาดของกยท. เข้าซื้อดันราคาไม่ให้ดิ่งลงมาก
การปรับตัวลดลงของราคายางในช่วงวันหยุดยาวนั้น เป็นการปรับฐานของราคา เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาราคายางมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงมีการปรับฐาน แต่แนวโน้มราคายางยังเป็นขาขึ้น ขณะที่ผลผลิตลดลง ความต้องการในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่มีความต้องการยางแบบวีเชฟ ขณะที่ปริมาณสต๊อกลด
อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ยางยังมีอยู่ ฉะนั้นในเรื่องของราคาที่ปรับลดลงไม่มีอะไรที่น่ากังวลหรือมีความผิดปกติเกิดขึ้น และเป็นไปตามกลไกตลาด เกษตรกร ในช่วงที่ราคายางขึ้นและปรับตัวลง ก็อาจจะทำให้เกิดความตกใจและมีการเทขาย ก็ยิ่งทำให้ราคายิ่งต่ำลงไปได้และทำให้ตลาดทำกำไรกันได้ง่ายขึ้น
“ขอให้เกษตรกรอย่ากังวลเกี่ยวกับราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงแรง เนื่องจากผลผลิตยางพาราในตลาดมีน้อย เพราะเป็นช่วงฝนตก และแรงงาน ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานพม่า เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กลับมาทำงานไม่ได้ ขณะที่ความต้องการยางพาราของจีนยังมีอยู่มาก เมื่อในสวนของเกษตรกรไม่มียางพารา พ่อค้าที่ต้องซื้อยางเพื่อส่งมอบ และส่งออก อย่างไรเสียก็ต้องซื้อ ขอวิงวอนชาวสวนอย่างตระหนกไป เพราะแนวโน้มราคายางยังเป็นขาขึ้น”
นายณกรณ์ ขณะนี้ กยท. ได้เข้าไปดูแลราคายางพาราของเกษตรกรแล้ว ราคาอาจปรับตัวลดลงบ้าง แต่อีกไม่นานราคาจะสูงขึ้น ยางแผ่นรมควันชั้น 3 สามารถเก็บได้นาน เกษตรกรจึงไม่ควรเทขายยางพาราออกไป และนอกจากความต้องการใช้ยางทั้งยางแผ่นดิบและน้ำยางที่เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อต่างชาติแล้ว นโยบายของรัฐบาลก็ทำให้มีการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ทั้งกรณีแบริเออร์ที่เริ่มดำเนินการแล้ว รวมถึงโครงการถนนยางพารา เป็นต้น
รายงานข่าวจากเกษตรกร กล่าวว่า การปรับตัวของราคายางพาราเกิดจาก พ่อค้า ผู้ส่งออก ไล่ทุบราคา โดยอาศัยช่วงวันหยุดยาว ที่กยท. หยุดทำการ กดราคา เพื่อจะได้นำยางพาราไปส่งมอบ ตามสัญญาที่ขายล่วงหน้าไว้ 40 กว่าบาท/ก.ก. เพื่อให้สัญญาล่วงหน้าของเอกชน ผู้ส่งออกไม่ขาดทุนมากไป ถือว่าเป็นการกดราคายางพาราเกษตรกร ของพ่อค้า ที่เรียกว่า 5 เสือส่งออกยางพารา