วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๕ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู พ่อท่านคล้ายวางศิลาฤกษ์สร้างพระเจดีย์ “ธาตุน้อย” บนที่ดินของผู้ใหญ่กลับ งามพร้อม ซึ่งได้ถวายพ่อท่านคล้ายตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๘๗ โดยพ่อท่านคล้ายเป็นประธานสงฆ์ประกอบพิธี, พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชเป็นประธานฝ่ายฆราวาส, และหลวงพ่อครื้นเป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง แนวคิดในการสร้างพระเจดีย์ธาตุน้อยนั้น พ่อท่านคล้ายได้กล่าวไว้ก่อนที่จะสร้างว่า “ฉันจะสร้างเจดีย์องค์ใหญ่สักองค์ ให้เหมือนพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช แต่ไม่ให้ใหญ่กว่า เพราะพระบรมธาตุนั้นเจ้าเค้าสร้าง”
ในปีพ.ศ.๒๕๑๓ พระเจดีย์ธาตุน้อยได้สร้างเสร็จโดยพระเจดีย์ธาตุน้อยนี้พ่อท่านคล้ายได้เริ่มต้นวางศิลาฤกษ์มาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๐๕ ส่วนเสนาสนะอื่นๆรอบๆพระเจดีย์ธาตุน้อยยังสร้างไม่เสร็จ โดยมีเรื่องเล่ากันว่าพ่อท่านคล้ายสร้างสิ่งใดจะสร้างไม่ให้เสร็จ หากสร้างสิ่งใดเสร็จ เทวดาจะมารับท่านไป หรือหากพ่อท่านคล้ายสร้างพระเจดีย์ธาตุน้อยเสร็จเมื่อใด พ่อท่านจะต้องดับขันธ์ โดยนายเฉลิม จิณาญาติ ได้เล่าให้ผู้เขียนและคณะฟังว่าเคยได้ยินพ่อท่านคล้ายพูดไว้ ก่อนที่พระเจดีย์ธาตุน้อยจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ว่า “เทวดายื่นบันไดแก้วให้ขึ้นสวรรค์ พ่อท่านไม่ขึ้นต้องสร้างเจดีย์ให้เสร็จก่อน”
วันหนึ่งที่วัดธาตุน้อยมีผู้อาวุโสคนหนึ่งมาจากพัทลุงมาเยี่ยมพ่อท่านคล้าย และบอกกับพ่อท่านว่า “ เจดีย์พ่อท่านยอดทองคำช่างงดงาม เหลือเกิน สร้างเสร็จแล้วสวยงามมากครับ” ตอนนั้นศิษย์และผู้คนอยู่กันหลายคน พ่อท่านตอบว่า ถ้าเสร็จ แล้วฉานก็ไม่อยู่แล้ว ลูกศิษย์ที่นั่งฟังโมโหชายผู้นี้มาก ที่พูดแบบ นี้เพราะได้ถือเคล็ดนี้มาตลอด แต่เขาผู้นี้ไม่รู้ จะไปโทษเขามิได้
หลังจากนั้นไม่นานพ่อท่านคล้ายจึงได้เรียกพระในวัดและลูกศิษย์ มาปรึกษาว่าเห็นที ต้องฉลองเจดีย์เสียแล้ว ลูกศิษย์บอกว่าเจดีย์ ยังไม่เสร็จ พ่อท่านจะฉลองทำไม พ่อท่านตอบว่า เสร็จแล้ว ของ ฉานเสร็จแล้ว(ท่านคงจะรู้วาระสุดท้าย) ตกลงงานฉลองเจดีย์ ก็ได้จัดทำขึ้นอย่างง่ายๆ พ่อท่านคล้ายบอกว่างานฉลองเจดีย์ “ฉานมีเงิน ฉลอง ๓ บาทนะ” ไม่รู้มาจากไหน พ่อท่านไม่เคยพกเงิน แปลกมากคนที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ฟัง งานฉลองเจดีย์จึงเสร็จลง เมื่อทำพิธีเสร็จพ่อท่านคล้ายได้ถวายปัจจัยแก่พระทุกรูปรูปละ ๑ บาท
ต่อมาไม่นานหลังจากนั้น พ่อท่านก็ได้ป่วยกะทันหัน ลูกศิษย์ จึงได้นิมนต์ขึ้นรถไฟไปรักษาตัวที่กรุงเทพ ร.พ พระมงกุฎและ ท่านได้มรณภาพในคืนวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๓ เวลา ๒๓.๐๕ น. สิริมายุได้ ๙๔ ปี ๙ เดือน ๘ วัน ๗๔ พรรษา บำเพ็ญกุศลศพที่วัดพระเชตุพล ๓ คืนแล้วนำสรีระกลับมาบำเพ็ญกุศลอีกครั้งที่วัดธาตุน้อย ครบ ๑๐๐ วันจึงเก็บไว้ในโลงแก้วทุกวันนี้
พระเจดีย์ธาตุน้อยและวัดธาตุน้อยได้เป็นอนุสรณ์สถานของพ่อท่านคล้าย วัดนี้ได้อนุญาตให้สร้างตามหนังสือของอธิบดีกรมศาสนา เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๐ และได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดได้เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๐ โดยนายภิญโญ สาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการผู้รับสนองพระบรมราชโองการให้ชื่อวัดว่า “วัดธาตุน้อย” (รองมาจากพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช) ในปีเดียวกันได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาและได้รับพระบรมราชานุญาต เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๒ (ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ ๖ กันยาน ๒๕๒๒) ต่อมาศิษยานุศิษย์ของพ่อท่านคล้ายได้อาราธนานิมนต์พระราชพุทธิรังสีสมัยเมื่อเป็นพระครูพิบูลนวเขต เจ้าคณะอำเภอฉวางได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดธาตุน้อย โดยท่านพระราชพุทธิรังสี พุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์ของพ่อท่านคล้าย ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างเสนาสนะต่างๆที่ยังค้างคาอยู่จนสมบูรณ์ทุกประการดังเห็นในปัจจุบัน และมีที่อยู่ของวัดธาตุน้อยคือ วัดธาตุน้อย ๒๘๑ หมู่ที่๑ ต.หลักช้าง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ๘๐๒๕๐ (สมัยก่อนจุดนี้เป็นหมู่เดียวกันกับบ้านโคกทือ สถานที่เกิดของพ่อท่านคล้าย)
ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้