เครือหมาน้อย หรือ กรุงเขมา เป็นไม้เถาเลื้อยพันชนิดหนึ่ง ใบเป็นรูปหัวใจแต่โคนใบเป็นแบบก้นปิด หน้าใบและหลังใบมีขนปกคลุมหนา เวลาเอามือลูบใบ รู้สึกนุ่มเหมือนขนหมาน้อย แม่บอกว่ามันชื่อ เครือหมาน้อย เอามาทำเป็นขนมวุ้นใส่น้ำเชื่อมกินก็ได้ เป็นวุ้นเขียวๆ เหมือนเฉาก๊วยสีเขียว แทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีประโยชน์ สรรพคุณทางยามากมายขนาดนี้
ต้นกรุงเขมา หรือ เครือหมาน้อย จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยขนาดกลางเนื้อแข็ง ไม่มีมือเกาะ เลื้อยพาดพันตามต้นไม้อื่น ๆ ยาวได้ประมาณ 1 เมตร มีรากสะสมอาหารใต้ดิน มีขนนุ่มสั้นขึ้นปกคลุมหนาแน่นตามเถา กิ่ง ช่อดอก และใบ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือเหง้า ชอบดินร่วนปนทราย มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย แอฟริกา และอเมริกา
ในประเทศไทยพบขึ้นทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นในป่าดิบ ป่าผลัดใบ และป่าไผ่ ตามริมแม่น้ำลำธาร ตั้งแต่พื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงความสูงประมาณ 1,100 เมตร ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนธันวาคม
การใช้ประโยชน์
สารจากใบเครือหมาน้อยทำให้เกิดเจล พบว่าคือเพคตินโดยมีโครงสร้างหลักคือ กรดกาแลคทูโรนิค เมื่อนำใบเครือมาน้อยมาขยํากับนํ้า กรองเอากากออก ทิ้งไว้จะแข็งตัวเหมือนวุ้น เรียกว่าวุ้นหมาน้อย หากผสมด้วยข่าหั่นฝอย ต้นหอมซอย ตะไคร้หั่นฝอย พริกป่น เกลือป่น คนให้เข้ากัน จัดเป็นอาหารคาวที่รับประทานเป็นกับข้าวเมนูพื้นบ้าน หรือบางพื้นที่จะทำเป็นของหวาน โดยผสมกับนํ้าเชื่อมหรือนํ้าหวาน กะทิ และน้ำแข็ง ก็จะได้ขนมหวานรสเลิศ ที่แสนอร่อยและดีต่อสุขภาพ
สรรพคุณทางยา
ส่วนเหนือดิน เป็นยาแก้ร้อนใน แก้โรคตับ ราก มีกลิ่นหอม ใช้แก้ไข้ เป็นยาขับปัสสาวะ ยาถ่าย แก้ไข้มาลาเรีย ใช้เป็นยาเจริญอาหาร ยาอายุวัฒนะ ยาช่วยย่อย แก้ท้องร่วง บวมน้ำ แก้ไอ ขัดเบา กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นยาลดไข้ เป็นยาขับเหงื่อ ไอเจ็บหน้าอก แก้ปวดท้อง แก้โรคบิด และเป็นยาบำรุง
ส่วนรากและใบ ใช้พอกเป็นยาเฉพาะที่ แก้โรคผิวหนัง หิด ลำต้น ดับพิษไข้ทุกชนิด บำรุงโลหิตสตรี เนื้อไม้แก้โรคปอด และโรคโลหิตจาง ใบ แก้ร้อนใน พอกแผล ฝี แก้แผลมะเร็ง แก้หืด ใช้ทาภายนอกแก้หิด เป็นต้น
ควรระวังที่สำคัญคือในสตรีมีครรภ์ ห้ามรับประทานเครือหมาน้อย
ไม่น่าเชื่อเลยว่าใช่ไหมว่า เครือหมาน้อยจะมีประโยชน์มาก สามารถรักษาได้หลายโรคขนาดนี้ ของดีอยู่ไกล้ตัวจริงๆ คงต้องรีบไปตลาด ไปเหมาเครือหมาน้อย เอามาไว้ทาน และหามาปลูกไว้ที่บ้านแล้ว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : samunpraibann , ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี