คาดหลังวิกฤติ #โควิด19 ในประเทศไทยผ่านพ้น บัณฑิตจบใหม่ 5.2 แสนคน จะตกงาน ไม่มีงานทำ

880
views
บัณฑิตจบใหม่ 5.2 แสนคน จะตกงาน

ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้ประเมินภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2563 ระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลต่อการประกอบธุรกิจต้องหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นปิดกิจการ จากมาตรการของภาครัฐในการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้แรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้างกว่า 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในภาคการท่องเที่ยวมากสุดประมาณ 2.5 ล้านคน ภาคอุตสาหกรรม 1.5 ล้านคน และภาคบริการอื่นๆ 4.4 ล้านคน

คาดว่าในปี 2563 อัตราการว่างงานจะอยู่ในช่วงร้อยละ 3-4 หรือตลอดทั้งปีมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มควบคุมได้ และในครึ่งหลังของเดือน พ.ค. เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้น รวมถึงรัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เน้นกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และภาคเกษตรกรรม จะสามารถรองรับแรงงานที่ว่างงานได้บางส่วน แม้ว่าจะมีปัญหาภัยแล้ง

แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชน 37 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกร 10 ล้านราย กลุ่มผู้ประกันตน 11 ล้านราย กลุ่มอาชีพอิสระ 16 ล้านราย ซึ่งต้องพิจารณาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว โดยผลสำรวจของสภาพัฒน์ พบว่า ยังมีพนักงาน แรงงาน ลูกจ้าง และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ร้อยละ 88 และกลุ่มที่ไม่รู้เกี่ยวกับมาตรการ รวมถึงไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือ ประมาณร้อยละ 22

แม้ปัจจุบันมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุม แต่แรงงานบางกลุ่มไม่สามารถกลับมาทำงานได้เช่นเดิม เช่น ภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมส่งออก เช่น รถยนต์ ฯลฯ เนื่องจากอุปสงค์ในต่างประเทศลดลง และการท่องเที่ยวยังเชื่อมโยงกับมาตรการของต่างประเทศ อาทิ มาตรการยกเลิกการบินระหว่างประเทศ และการหยุดกิจการชั่วคราวของต่างประเทศ หากผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างงานต่อได้ จะมีแรงงานจำนวนหนึ่งที่ถูกเลิกจ้าง

บัณฑิตจบใหม่ 5.2 แสนคน จะตกงาน

ขณะเดียวกัน ในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. จะมีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 5.2 แสนคน ซึ่งอาจไม่มีตำแหน่งงานรองรับ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการสร้างงาน และจ้างงานที่เพียงพอเพื่อรองรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะหางานทำไม่ได้ ในส่วนแรงงานจะต้องมีการเตรียมความพร้อมปรับทักษะเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจ หรือการสร้างทักษะใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพ หรือลักษณะการทำงานมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ติดต่อสื่อสารมากขึ้น

ภาระหนี้ครัวเรือนถูกซ้ำเติมจากรายได้ที่ลดลง ในขณะที่รายจ่ายยังทรงตัวหรือเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน จากการสำรวจคนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 60.24 มีรายได้ลดลงเกือบทั้งหมด รองลงมามีรายได้ลดลงครึ่งหนึ่ง ประมาณร้อยละ 31.21 และมีรายได้เท่าเดิม ร้อยละ 8.55

ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มที่มีรายได้ลดลงประมาณร้อยละ 54.51 ประสบปัญหาไม่มีเงินชำระหนี้ รองลงมาไม่มีเงินซื้ออาหาร ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัย และไม่มีเงินจ่ายซื้อของที่จำเป็นในครัวเรือน โดยมีวิธีแก้ไขปัญหา อาทิ การกู้หนี้ยืมสิน การนำเงินออมมาใช้ และนำเครื่องใช้ในบ้านไปจำนำ

หนี้สินครัวเรือน

สภาพัฒน์ประเมินแนวโน้มหนี้สินครัวเรือนจะชะลอตัวลง ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับปัจจัยลบจากการส่งออก ภัยแล้ง และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก เพราะกำลังซื้อและความเชื่อมั่นที่ลดลง

ขณะที่สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล มีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากครัวเรือนมีความต้องการกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงจากช่วงวิกฤติมาแก้ไขปัญหาขาดสภาพคล่องและผลกระทบทางด้านรายได้ที่เกิดขึ้น ส่วนยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 2.90 ในไตรมาสก่อน

พฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนไทยมีความเสี่ยง โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายจ่ายครัวเรือนทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคสินค้าและบริการที่จำเป็น ขณะที่รายจ่ายเพื่อการสันทนาการ ทำให้เกิดปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เริ่มทำงานใหม่ ทั้งค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/บุหรี่ ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว และการดูแลความสวยงาม ทำให้ต้องอาศัยเงินโอนจากพ่อแม่และผู้ปกครองมาช่วยชดเชยรายได้

นอกจากนี้ส่วนใหญ่ยิ่งมีรายได้มากขึ้นจะมีรายจ่ายมากขึ้น โดยเกือบร้อยละ 40 คลั่งไคล้การช็อปปิ้ง และอีกร้อยละ 37 อยู่ในกลุ่มเกือบคลั่งไคล้การช็อปปิ้ง หลายคนเริ่มก่อหนี้ในช่วงวัยทำงาน จากการมีงานประจำและทำบัตรเครดิต จากนั้นจึงจับจ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยขาดความระมัดระวัง จนไม่สามารถชำระยอดเต็มได้ มีการชำระบางส่วนหรือชำระขั้นต่ำ ทำให้ยอดคงค้างหนี้สะสมไปเรื่อยๆ และมีพฤติกรรมการก่อหนี้ซ้ำ หรือกู้เงินจากวัตถุประสงค์หนึ่งเพื่อนำไปชำระหนี้ หรือปิดบัญชีหนี้อื่น ทำให้ฐานะการเงินของครัวเรือนมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น.

[ ดูข่าวต้นฉบับ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร