ทีมนักวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบ “จิ้งจกนิ้วยาว” ชนิดใหม่ของโลก อยู่ที่ อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช
จิ้งจกนิ้วยาว สายพันธุ์ใหม่นี้ ถูกค้นพบโดย ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำทีมโดย ผศ.ดร.อัญชลี เอาผล หัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมด้วย ดร.นที อำไพ นักวิจัย และ คณะ ที่เขาหินแกรนิต อ.ลานสกา จ.นครนครศรีธรรมราช
จิ้งจกนิ้วยาวลานสกา เป็นจิ้งจกนิ้วยาวชนิดใหม่ของโลก ซึ่งงานวิจัยโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (BDC)
จิ้งจกนิ้วยาว สกุล Cnemaspis จัดอยู่ในวงศ์ Gekkonidae ซึ่งจิ้งจกในสกุลนี้ มีความหลากหลายสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีรายงานการค้นพบชนิดใหม่อย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 17 ชนิดในประเทศไทย
จิ้งจกนิ้วยาวชนิดใหม่ของโลก ที่รายงานครั้งนี้มีชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ว่า จิ้งจกนิ้วยาวลานสกา Cnemaspis lineatubercularis Ampai, Wood, Stuart & Aowphol, 2020
ข้อมูลด้านพฤติกรรมศาสตร์ของสัตว์พบว่า จิ้งจกนิ้วยาวลานสกา อาศัยในบริเวณเขาหินแกรนิต โดยมีถิ่นที่อยู่อาศัยย่อย คือ ซอกหินหรือเพิงหินขนาดใหญ่ บริเวณใกล้ลำธารและน้ำตกทั้งวัยอ่อนและตัวเต็มวัย ซึ่งการซ่อนตัวตามซอกหินหรือเพิงหิน ทำให้จิ้งจกนิ้วยาวลานสกาสามารถหลบหนีจากศัตรูผู้ล่าได้ง่าย
สัตว์ในวงศ์ Gekkonidae นี้ มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ เช่น การควบคุมแมลงที่เป็นเหยื่ออาหาร ดังนั้นการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัย เช่น เขาหินแกรนิตบริเวณลำธารและน้ำตก จะทำให้จิ้งจกนิ้วยาวลานสกาสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดได้ในธรรมชาติและเป็นการอนุรักษ์ให้ความหลากหลายของจิ้งจกกลุ่มนี้ในประเทศไทย
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก https://doi.org/10.3897/zookeys.932.50602