จุฬาฯ แนะเคล็ดลับ 6 ประการ เมื่อลูกๆต้องเรียนรู้ที่บ้าน ช่วงภาวะวิกฤติ โควิด

940
views
เมื่อลูกๆต้องเรียนรู้ที่บ้าน

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์บทความในเพจ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครุฯ จุฬาฯแนะนำผู้ปกครองในการสนับสนุนการเรียนรู้ที่บ้านของเด็ก ๆ ช่วงภาวะวิกฤติ โควิด-19 ดังนี้

จากสถานการณ์ โควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลตัดสินใจขยายการปิดภาคเรียนและเลื่อนการเปิดเรียนในปีการศึกษา 2563 เนื่องจากเด็ก ๆ ต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้านนานขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงกลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งในการดูแลและสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เรามีเคล็ดลับง่าย ๆ 6 ประการ ที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ รวมทั้งการบริหารจัดเวลาในการเรียนรู้ระหว่างที่อยู่ที่บ้าน ดังนี้

สร้างความเข้าใจ

1. สร้างความเข้าใจ ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาวิกฤติการพูดคุยกับลูกหลานเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นสิ่งแรกที่ควรทำ พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรเปิดใจรับฟังเพื่อประเมินว่าเด็กๆ รับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์นี้อย่างไร ฟัง ยอมรับ และให้คำตอบชวนกันคิดถึงแนวทางการดำเนินชีวิตและให้กำลังใจกันในช่วงเวลานี้

สำหรับเด็กเล็กที่คุ้นกับการเล่นกับเพื่อน ๆ รอบบ้าน หรือเคยไปศูนย์เด็กเล็กเป็นประจำ การต้องอยู่แต่กับที่บ้าน หรือโดนบังคับให้ล้างมือบ่อย ๆ โดยไม่เข้าใจเหตุผลอาจทำให้เกิดอาการงอแง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาพฤติกรรมระยะยาวตามมาได้ หรือแม้กระทั่งเด็กวัยรุ่นที่พอเข้าใจสถานการณ์การแพร่ระบาดและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับครอบครัว การพูดคุยกับพวกเขา จะช่วยให้พวกเขาได้ระบายความในใจ ได้ทราบสถานการณ์ที่แท้จริงของทางบ้าน รวมทั้งแนวทางที่พวกเขาจะสามารถช่วยสนับสนุนหรือให้กำลังใจกันและกันได้

2. ร่วมกันกำหนดกิจวัตรหรือตารางเวลาในแต่ละวันการสร้างตารางกิจกรรมที่ยืดหยุ่นแต่สม่ำเสมอตามความสอดคล้องของแต่ละบ้านเป็นตัวช่วยให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัยและสามารถจัดการตัวเองได้ดี เมื่อเขาสามารถมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับตารางที่วางไว้ เขาก็จะรู้สึกปลอดภัยและมีพฤติกรรมเชิงบวกในช่วงเวลาตึงเครียดนี้
กิจวัตรที่สำคัญที่สุดคือ เวลาอาหาร การกำหนดเวลาตื่น-เข้านอน รวมถึงกิจกรรมที่ต้องทำสม่ำเสมอในแต่ละวัน โดยผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการวางแผนกิจกรรมในแต่ละวัน เช่น ช่วงเวลาใดควรเป็นเวลาทบทวนบทเรียน ช่วงไหนสำหรับกิจกรรมทางกาย หรือช่วงไหนเป็นเวลาที่พ่อแม่จะใช้เวลาสนับสนุนการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็ก และที่ขาดไม่ได้คือเวลาว่างสำหรับทำกิจกรรมผ่อนคลายหรือพักผ่อนระหว่างวัน รวมทั้งเวลาที่เขาจะได้อยู่กับตัวเองเพียงลำพังด้วย อย่างไรก็ตามกิจกรรมต่างๆ ต้องคำนึงถึงการเว้นระยะห่างทางกาย และมีการดูแลสุขอนามัย เช่น การล้างมือ โดยผู้ปกครองจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกหลานด้วย

เมื่อลูกๆต้องเรียนรู้ที่บ้าน

3. จัดช่วงเวลาตามลำพังกับลูกหลานแต่ละคนเวลาแห่งการพูดคุยในแต่ละวันควรเลือกเวลาเฉพาะที่ผู้ปกครองได้ละเว้นจากงานหรือการติดต่อกับสังคม อาจเป็นช่วงสั้นๆ ประมาณ 20 นาทีที่ผู้ปกครองจะได้ถามเรื่องราวการเรียนรู้ในแต่ละวัน เช่น วันนี้ลูกได้เรียนรู้อะไร มีวัสดุอุปกรณ์อะไรที่ต้องการเพิ่มเติม วันนี้มีอะไรสนุกๆ เกิดขึ้นบ้าง หรือมีข้อท้าทายอะไรที่เกิดขึ้น ทั้งสถานการณ์ภายนอกและเรื่องที่ยังค้างคาใจ

หากการพูดคุยระหว่างทานข้าวเป็นเรื่องที่น่าขัดเขินเกินไปสำหรับบางครอบครัว การออกไปเดินเล่นรอบบ้าน ฟังเพลง ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ลูกๆ วัยรุ่นกำลังสนใจร่วมกัน ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้การพูดคุยเป็นไปอย่างลื่นไหลมากขึ้น สำหรับเด็กที่เล็กลงมาอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ให้เขาช่วยทำความสะอาดหรือทำอาหารร่วมกัน หรือเป็นช่วงของการเล่านิทาน ดูหนังสือภาพ การเล่นหรือร้องเพลงร่วมกันก็ได้

4. ให้เวลาสำหรับกิจกรรมทางกายและการจัดการความเครียดกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางร่างกายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การเล่น และการสำรวจพื้นที่รอบๆ บ้าน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ในรูปแบบหนึ่งแล้ว ยังเป็นการช่วยปลดปล่อยพลังงานอันล้นเหลือของเด็กๆ และลดความเครียดด้วย

ก่อนที่เด็ก ๆ จะเริ่มงอแง หรือออกอาการอยู่ไม่สุข ผู้ปกครองอาจชวนเด็ก ๆ ออกไปเดินเล่น หรือทำกิจกรรมสนุก ๆ ร่วมกันเพื่อป้องกันพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ หากว่าบางครั้งผู้ปกครองไม่สามารถรับมือสถานการณ์ได้แล้ว การเตือนตัวเองให้หยุดสัก 10 วินาทีก่อนที่จะโต้ตอบด้วยความสงบ หรืออาจฝึกให้เด็ก ๆ เท่าทันอารมณ์ด้วยการฝึกหายใจเข้าออกช้าๆ เพื่อคลายความเครียด

 เก็บผ้า

5. ส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกผู้ปกครองควรเลี่ยงการออกคำสั่ง และหันมาให้ความสำคัญกับการพูดสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวกแทน เช่น แม่อยากให้ลูกช่วยแม่เก็บผ้าให้เรียบร้อยหน่อย รวมทั้งการเสริมแรงด้วยการชมเมื่อเขามีพฤติกรรมที่ดี เช่น พ่อดีใจมากที่ลูกสามารถเล่นกันเงียบ ๆ ช่วงที่พ่อต้องโทรศัพท์ธุระสำคัญได้ คำพูดเล็กๆ เหล่านี้อาจดูไม่สำคัญแต่มันเป็นการทําให้เด็กๆ รับรู้ว่าผู้ปกครองมองเห็นและใส่ใจเขา แม้เขาอาจแสดงอาการเหมือนไม่รับรู้ แต่จะสังเกตเห็นว่าเด็กๆ ทำสิ่งนั้นบ่อยขึ้น

6. ติดต่อสื่อสารกับครู โรงเรียน และบุคคลใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอนอกจากเรื่องการจัดการเรียนรู้ทางไกลแล้ว โรงเรียนยังมีบทบาทสำคัญในการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก ๆ เช่น การจัดบริการอาหารกลางวัน การจัดสรรหรือดูแลเรื่องทุนการศึกษาเพื่อให้เด็ก ๆ เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้เด็ก ๆ หลุดออกจากการศึกษา และยังเป็นการช่วยเหลือผู้ปกครองในยามวิกฤติ การสื่อสารและรักษาความร่วมมือระหว่างผู้ปกครอง คุณครูและผู้บริหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากนี้ผู้ปกครองยังควรสนับสนุนเด็กๆ ติดต่อเพื่อน ๆ หรือบุคคลใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์ การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการเขียนจดหมายถึงกัน เพราะเด็กๆ ก็ต้องการการพัฒนาทางสังคมผ่านกลุ่มเพื่อน หรือได้รับการสนับสนุนทางจิตใจจากคุณครูเช่นกัน ทั้งนี้โรงเรียนต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองว่าเขากำลังได้รับการสนับสนุนและร่วมมือไปพร้อมกับคุณครูและโรงเรียนอยู่ และทำให้ผู้ปกครองมั่นใจได้ว่าเขาจะได้รับคำตอบในทุกข้อสงสัย

| อ่านต้นฉบับ

 
ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร