วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูปมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา ๖ และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหาคือ
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง : การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา : การทำกุศลให้ถึงพร้อม
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง : การชำระจิตของตนให้ผ่องใส
เอตัง พุทธานะสาสะนัง : ธรรม ๓ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
สรุปคำสอนเรื่อง โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ได้ประทานแก่ที่ประชุมพระภิกษุสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปในวันมาฆบูชา เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเผยแผ่เพื่อเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งหลาย
หลักการ ๓ ได้แก่
๑. สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง : การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลดละเลิก ได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งความชั่วมี ๑๐ ประการ อันความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ
๒. กุสะลัสสูปะสัมปะทา : การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่างซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี ๑๐ ประกาศอันเป็นความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ
๓. สะจิตตะปะริโยทะปะนัง : การชำระจิตของตนให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบมี ๕ ประการ ได้แก่
๑. กามฉันทะ คือความพอใจในกาม
๒. พยาบาท คือความอาฆาตพยาบาท
๓. ถีนะมิทธะ คือความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจ
๔. อุทธัจจะ กุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ
๕. วิจิกิจฉา คือความสงสัย
อุดมการณ์ คือ เป้าหมายสูงสุดในการดำเนินชีวิต มี ๔ ประการ ได้แก่
๑. ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
๒. ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้ายรบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
๓. ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
๔. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ ๘
วิธีการ ๖
๑.ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร
๒. ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
๓. สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎ กติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม
๔. รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหารหรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
๕. อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
๖. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบมีสุขภาพคุณภาพ และประสิทธิภาพที่ดี