มีดีกว่าที่คิด ผักบ้านๆ ผักพื้นบ้านไทย ผักริมรั้วมากสรรพคุณ

1581
views
มีดีกว่าที่คิด ผักบ้านๆ

ผักบ้านๆ ผักพื้นบ้าน สามารถปลูกและหารับประทานได้ง่าย จึงนิยมนำมาประกอบอาหารพื้นถิ่นหลากหลายเมนู ผักพื้นบ้านยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารต่าง ๆ มีทั้งวิตามิน เกลือแร่ และแร่ธาตุ รวมถึงมีสรรพคุณเป็นยาที่จะช่วยให้สุขภาพร่างกายของเราสมบูรณ์แข็งแรง

ผักหวาน

1. ผักหวาน มีรสชาติหวานสมชื่อ นิยมนำไปนึ่งแล้วจิ้มกับน้ำพริกแจ่วสารพัดชนิด นอกจากนี้ยังใช้ทำแกงได้อร่อยอีกต่างหาก คนอีสานนิยมนำไปแกงใส่ใข่มดแดง อันเป็น อาหารยอดฮิต หรือแกงใส่ปลาย่างผสมใบชะอม ทำเป็นแกงอ่อมก็อร่อยดี ทางเหนือนิยมแกงผักหวานใส่ปลาย่างกับวุ้นเส้น งบผักหวานใส่มดแดงสุดอร่อย และคนกรุง ยังนำผักหวานไปผัดกับน้ำมันร้อนๆ ปรุงด้วยซีอิ๊ว เหยาะเกลือนิดก็อร่อย

ประโยชน์ของผักหวาน ป้องกันโรคเกี่ยวกับปราสาท และสมอง เช่น อัลไซเมอร์ ป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด ป้องกันโรคเบาหวาน ช่วยลดความอ้วน ช่วยบำรุงร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ แก้ร้อนใน ช่วยลดไข้ แก้น้ำดีพิการ แก้อาการเบื่อเมา บรรเทาอาการปวดมดลูก แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ใบ และน้ำยางจากใบนำมาเคี้ยวหรือกลั้วภายในปาก สำหรับแก้ลิ้นเป็นฟ้า ใบ และยอดอ่อนนำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้กระหายน้ำ ป้องกันโรคปากนกกระจอก

ผักกูด

2. ผักกูด อร่อยต้องกินหน้าแล้งเพราะรสชาติไม่ฝาดเหมือนในฤดูอื่น ๆ อร่อยตรงจืดอมหวานเนื้อกรอบ ส่วนใหญ่นิยมกินยอดและใบอ่อน ผักกูดน้ำไม่นิยมกินสด มักเอา ไปต้มหรือเอาไปลวก นอกจากกินเป็นผักแนม ผักกูดน้ำยังใช้ ต้ม ยำ ทำแกงหรือผัดกับน้ำมันเฉยๆ ก็อร่อยเหลือหลาย เคล็ดลับการทำแกงส้มผักกูดควรใส่ปลาช่อนถึง จะเข้ากันได้ดี

ใบชะพลู

3. ใบชะพลู ไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบดกหนา ชะพลูมีชื่อเรียกต่างๆ กัน ภาคเหนือเรียกว่าผักแค ผักปูนา พลูนก พลูลิง ภาคใต้เรียกว่าผักนมวา อีสานเรียกว่าผักอีเลิด ผักเล็ก ผักปูลม ใบชะพลูมีกลิ่นหอม รสเผ็ดอ่อนๆ เป็นผักสดที่นิยมกินกับอาหารรสแซบ เช่น ลาบ น้ำตก ปลาย่าง ร่วมถึงน้ำพริกชนิดต่างๆ

เป็นเครื่องปรุงที่เสริมรสอาหารได้ดี อาทิ แกงแคของภาคเหนือ ส่วนภาคอีสานนิยมใส่ในแกงอ่อมต่างๆ แกงขนุนอ่อน แกงหัวปลี ภาคใต้ใช้แกงกะทิใส่ใบชะพลูกับหอยแครง ส่วนภาคกลางนิยมใส่แกงคั่วหอย ขม หรือกินกับข้าวมันส้มตำ และที่นิยมมากที่สุดคือกินเป็นใบห่อเมี่ยงคำที่ให้รสชาติเข้ากันอย่างดี กินแล้วช่วยบำรุงธาตุ ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ

บัวบก

4. บัวบก คนไทยทั่วทุกภาคนิยมกินบัวบก แต่ชื่อที่เรียกจะแตกต่างกันไป ภาคเหนือและอีสานเรียก ผักหนอก ภาคใต้เรียกผักแว่น ใบบัวบกมีรสขมอ่อนๆ กลิ่นหอมและเป็นพืชที่ กินสดๆ ได้ทั้งก้านและใบ จึงเป็นผักแกล้มอาหารรสเข้มข้นจานต่างๆ ได้อร่อย เช่น แกล้มน้ำพริก ส้มตำ นอกจากทำอาหารแล้วบัวบกยังนำมาคั้น ผสมน้ำตาลเล็กน้อย เป็นน้ำสมุนไพรดื่มให้รสหวาน หอม เย็นชุ่มคอ บัวบกช่วยระบายความร้อน แก้อ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ บำรุงสมอง แก้ไมเกรน ชาวจีนเชื่อว่า บัวบกแก้ช้ำใน ทำให้เลือดกระจาย หายฟกช้ำเร็วขึ้น ประโยชน์ของบัวบก ใบบัวบกช่วยคืนความอ่อนเยาว์ ย้อนอายุและวัย ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยเสริมสร้างและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน

มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต่อต้านการเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆในร่างกาย ประโยชน์ของใบบัวบก ช่วยบำรุงและรักษาสายตา ฟื้นฟูรอบดวงตา เพราะบัวบกมีวิตามินเอสูง ช่วยรักษาอาการตาอักเสบบวมแดง ด้วยการใช้ใบบัวบกล้างน้ำสะอาด คั้นเอาแต่น้ำนำมาหยดที่ตา 3-4 ครั้งต่อวัน ช่วยบำรุงประสาทและสมองเหมือนใบแปะก๊วย

ช่วยทำให้ความจำดีขึ้นและทำให้มีปฏิภาณไหวพริบเพิ่มมากขึ้น ช่วยเพิ่มความจำในผู้สูงอายุ ช่วยเพิ่มสมาธิ แก้สมาธิสั้น ช่วยเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจเฉพาะหน้า ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ปวดศีรษะข้างเดียว ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ ช่วยผ่อนคลายความเครียด

ผักปลัง

5. ผักปลัง ชาวเหนือเรียกผักปั๋ง กินอร่อยได้ทั้งยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกอ่อน กินเป็นผักต้ม ลวกหรือนึ่งสุก จิ้มน้ำพริก ชาวเหนือนิยมกินกับน้ำพริกดำ น้ำพริกตาแดง เอาไปแกง กับถั่วเน่า จอ(แกงชนิดหนึ่งของชาวเหนือมีรสเปรี้ยวแต่ไม่เผ็ด)ผักปั๋งใส่มะนาว ดอกเอาจอกับแหนม ชาวเหนือกับอีสานเอายอดอ่อนกับดอกอ่อนไปแกงส้ม เคล็ดลับ ความอร่อย ควรใส่ผักปลังลงในหม้อเป็นสิ่งสุดท้ายหลังจากน้ำแกงเดือดเต็มที่ เวลาใส่ผักลงไปควรกดให้จม พอเดือดสักพักก็ปิดไฟ ไม่ควรรอให้เดือดนาน เพราะจะ ทำให้ผักปลังเละไม่น่ากิน ชาวเมืองกรุงทำเป็นผัดผักไฟแดง หรือผัดน้ำมันหอย ผักปลังช่วยในการระบาย จึงเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย

ไหลบัว

6. ไหลบัว คือ หน่ออ่อนของต้นดอกบัวหลวงที่ยังไม่โผล่พ้นน้ำ ซึ่งต่างจากสายบัวที่เป็นส่วนก้านดอกของบัวสาย ไหลบัวมีความกรอบและรสชาติหวานมันจึงนิยมนำมากิน สด คนอีสานนิยมกินเป็นผักสดกับส้มตำ แต่คนภาคกลางนิยมนำไปแกงส้ม ผัด หรือไม่ก็กินสดๆ ปัจจุบันเป็นไหลบัวผัดกุ้งเป็นเมนูยอดนิยมในภัตตาคารจีน ถือเป็นยา เย็น ช่วยบำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลียและบำรุงหัวใจ

ผักแพว

7. ผักแพว ผักแพวหรือที่คนอีสานเรียกว่าผักแพ้ว ผักพริกม้า ส่วนคนเหนือเรียกผักไผ่ ความอร่อยของผักแพวอยู่ที่กลิ่นหอมและรสร้อนแรง จึงนิยมกินเป็นผักสดแนมกับ อาหารรสจัดแทบทุกชนิด และนำไปปรุงเป็นเครื่องปรุงรสในอาหารประเภทลาบ และใส่แกงปลารสจัด เพื่อตัดกลิ่นคาวปลาพร้อมกับปรุงอาหารประเภทหอยเพื่อเสริม ความหอม กินแล้วช่วยขับลมในกระเพาะดีนัก

ประโยชน์ของผักแพว ผักแพวอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย และช่วยในการชะลอวัย (ใบ) ช่วยป้องกันและต่อต้านมะเร็ง (ใบ) ช่วยป้องกันโรคหัวใจ (ใบ) ใบใช้รับประทานช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ) ช่วยบำรุงประสาท (ราก) รสเผ็ดของผักแพวช่วยทำให้เลือดลมในร่างกายเดินสะดวกมากขึ้น (ใบ)

ใบยอ

8. ใบยอ น่าอัศจรรย์ใจที่รสขมของใบยอ และกลิ่นเฉพาะตัวนี้ มีบทบาทอย่างมากในอาหารไทยทั่วทุกภาค ที่เด่นสุดคือ ภาค กลางใช้เป็นผักรองกระทงห่อหมก เพราะความ อร่อยของห่อหมกเข้ากันได้ดีกับใบยอ และยังไม่มีผักอื่นเข้ามาแข่งได้ ส่วนภาคอีสานนำไปทำแกงอ่อมใบยอ และภาคใต้ก็มีแกงรสเด็ดไม่แพ้กันคือ แกงเผ็ดปลาใส่ ขมิ้นใบยอ การกินใบยอให้อร่อยควรตัดเส้นกลางใบออกและลวกก่อนนำมาแกง จะช่วยลดความขมได้ ใบยอช่วยบำรุงร่างกาย แก้ปวดท้อง ท้องร่วง

ย่านาง

9. ย่านาง จัดเป็นพืชประจำครัวภาคเหนือและอีสาน ภาคเหนือเรียกว่า จ้อยนาง ครัวอีสานใช้ใบย่านางผสมกับข้าวเบือ (ข้าวสารที่ตำละเอียด ใช้ผสมกับน้ำแกงเพื่อให้น้ำแกง ข้น) มาทำแกงหน่อไม้ไผ่ป่า เป็นลักษณะต้มเปอะ คือแกงที่มีน้ำขลุกขลิก ใบย่านางทำให้เกิดรสกลมกล่อมอมหวาน อีกทั้งเพื่อกลบรสขื่นและขมนิด ๆ ของหน่อไม้สด นอกจากนี้ยังผสมซุปหน่อไม้ ใส่แกงขี้เหล็กแบบพื้นบ้าน แกงกับยอดหวาย ภาคเหนือใส่ในแกงพื้นเมืองที่คล้ายกัน ใบย่านางที่นำมาใช้ในการทำอาหารนั้นยิ่งใส่มาก เท่าไร ยิ่งทำให้อาหารจานนั้นอร่อยยิ่งขึ้น กินย่านางช่วยดับพิษร้อนถอนพิษไข้ได้

หัวปลี

10. หัวปลี ปลีกล้วยที่ใช้ทำอาหารส่วนใหญ่เป็นปลีกล้วยน้ำว้า เพราะฝาดน้อยและหาง่ายกว่ากล้วยพันธุ์อื่น ๆ หัวปลีสีแดงเมื่อแกะใบเลี้ยงออกจนถึงชั้นที่มีสีขาวนวล จะนำ มาผ่าปลีตามยาวเป็นส่วนๆ แล้ว ต้องนำไปแช่น้ำผสมน้ำมะขามเปียกหรือน้ำมะนาวก่อน เพื่อรักษาปลีกล้วยให้ขาวนวลน่ากิน อาหารไทยนิยมกินปลีกล้วยสดกับ เต้าเจี้ยวหลน กะปิคั่ว ผัดไทย ชุบแป้งทอด ปรุงเป็นแกงเลียง หัวปลีแก้โลหิตจาง ลดความดันโลหิต แก้ร้อนใน กระหายน้ำ

ประโยชน์ของหัวปลี ปลีกล้วยมีสรรพคุณช่วยบำรุงฟันให้แข็งแรง และช่วยให้ฟันขาวสะอาด ประโยชน์ของปลีกล้วยช่วยบำรุงน้ำนม สำหรับแม่ลูกอ่อน ปลีกล้วยเป็นเกราะป้องกันกระเพราะ ช่วยแก้ปวดท้อง รักษาโรคกระเพราะอาหารอักเสบ ปลีกล้วยใช้รักษาแผลสด ดูดหนอง และบรรเทาอาการบวมจากแมลงสัตว์กัดต่อย ปลีกล้วยสรรคุณดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ปลีกล้วยช่วยบำรุงธาตุ บำรุงเลือด เพิ่มความเปล่งปลั่ง ดูมีเลือดฝาด ปลีกล้วยดีต่อผู้ป่วยโลหิตจาง

และยังช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ปลีกล้วยมีสรรพคุณช่วยบำรุงลำไส้ ปลีกล้วยช่วยรักษาแผลในปากให้หายเร็วขึ้น ช่วยแก้ร้อนใน แผลปากเปื่อย ปลีกล้วยช่วยให้หน้าอกเต่งตึง สมบูรณ์ ไม่หย่อนยาน ประโยชน์ของปลีกล้วยช่วยเพิ่มธาตุเหล็กในร่างกาย สรรพคุณปลีกล้วยช่วยบำรุงผิวพรรณให้นวลเนียน ดูมีน้ำมีนวล

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร