แม่ชุม – พ่อสุวรรณ ตำนานรักพระลากเมืองนคร

14048
views
ตำนานรักพระลากเมืองนคร

นครศรีธรรมราช – ช่วงเวลายุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ยุคที่โกลาหลวุ่นวายจากความอ่อนแอภายใน และ ภัยสงครามจากภายนอก ที่บ้านนาพรุ ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชไปในทางหรดีทิศ กลับเป็นดินแดนที่มีความสงบสุข ไม่มีความวุ่นวายมากล้ำกราย ที่บ้านนาพรุแห่งนี้ มีเศรษฐีผู้มั่งคั่งด้วยผืนนาและทรัพย์สินผู้หนึ่ง ถูกขนานนามกันว่า “ เศรษฐีนาพรุ ” ท่านเศรษฐีมีธิดาผู้สวยสดงดงามคนเดียว ที่รักปานดวงใจ เธอมีชื่อว่า “ แม่ชุม ” แม่ชุมเป็นบุตรีที่ประเสริฐของบิดามารดา ขยันขันแข็งในการงาน มีความกตัญญูต่อครอบครัว น้ำใจโอบอ้อมอารี จนเป็นที่รักของผู้คนในละแวกบ้านนาพรุ

แม่ชุม

ด้วยความที่แม่ชุมเป็นสาวสวย จึงมีชายหนุ่มมากมายมาปฎิพัทธ์ ซึ่งหนึ่งในหนุ่มที่มาหมายปองก็ได้มี “ พ่อสุวรรณ ” บุตรชายของเศรษฐีบ้านท้ายสำเภาเข้ามาหลงรักด้วย แต่เพราะแม่ชุมเป็นผู้ที่ขยันขันแข็งในการงาน จึงทำให้หนุ่มๆ ที่เที่ยวจีบเที่ยวเกี้ยวมีอันต้องถอยห่างไป เว้นเสียแต่ หนุ่มสุวรรณ ที่มาคอยเฝ้าแวะเวียนหาแม่ชุมเป็นประจำ จนทำให้เศรษฐีบ้านนาพรุได้สอบถามชายหนุ่ม จึงทราบว่าเป็นบุตรเศรษฐีบ้านท้ายสำ เภาที่ไม่ห่างไกลกันนัก เศรษฐีบ้านนาพรุกับภรรยาที่เป็นมารดาของแม่ชุม จึงยินยอมให้พ่อสุวรรณชายหนุ่มเข้ามาสานสัมพันธ์กับแม่ชุมบุตรสาวของตน

พ่อสุวรรณได้ใช้ความจริงใจในการพิสูจน์ความรักแก่แม่ชุมอย่างสม่ำเสมอ นอก จากแสดงความรัก ความในใจที่มีให้แม่ชุมเห็นแล้ว ยังแสดงความรู้ความชำนาญ ความขยันขันแข็งในการงานค้าขาย และ น้ำใจไมตรีที่ดีงามแก่ผู้คน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับแก่ครอบครัวของแม่ชุม จนในที่สุด แม่ชุมก็ตอบรับรักของพ่อสุวรรณชายหนุ่มด้วยความเต็มใจ ทางด้านพ่อสุวรรณก็ได้ร้องขอให้เศรษฐีบ้านท้ายสำเภาผู้เป็นพ่อนำเถ้าแก่มาหมั้นหมาย เพื่อจะแต่งงานครองคู่กันในเร็ววัน เศรษฐีท้ายสำเภากับญาติผู้ใหญ่ฝ่ายพ่อสุวรรณจึงเดินทางมาสู่ขอแม่ชุมจากเศรษฐีบ้านนาพรุ จนทั้งสองได้หมั้นกันสมดั่งความปรารถนา ผู้คนจากสองหมู่บ้าน ตลอดจนพรรคพวกของสองเศรษฐี ต่างมาแสดงความยินดี เฉลิมฉลองให้กับแม่ชุมและพ่อสุวรรณกันอย่างเต็มที่

พระแม่ชุม วัดท่าช้าง ต.นาพรุ อ.พระพรหม จ.นคร ฯ

ชีวิตที่หวานชื่นของแม่ชุมและพ่อสุวรรณที่มีอนาคตสดใส มีปลายทางคือการแต่งงานและชีวิตคู่ แต่ไม่นานที่หมู่บ้านนาพรุก็เกิด โรคภัยไข้น้ำ หรือ โรคห่าขึ้น ผู้คนที่แข็งแรง ต่างอพยพหลบหนีโรคไปยังป่าดง แม่ชุมยังคงขยันขันแข็งในการงานเช่นเดิม แม้ว่าหนุ่มสุวรรณจะทัดทานให้ระวังโรคก็ตาม แต่ในที่สุดแล้ว #แม่ชุมก็ล้มป่วยลงด้วยโรคระบาด ทำให้เศรษฐีนาพรุต้องสร้างเรือนหลังน้อยให้ลูกสาวได้ใช้รักษาตัว ไข้น้ำในยุคโบราณนั้นเป็นโรคที่น่ากลัวมาก หากหมอไม่ชำนาญ หรือ หาตัวยาแก้ได้ไม่ครบแล้ว ภายในไม่กี่วันก็จะเสียชีวิตลงในทันที

พ่อสุวรรณเมื่อทราบว่าคนรักล้มป่วยลง ก็พยายามหาหมอมารักษาอย่างเต็มที่ แต่เพราะ ผู้ที่พอจะมีความรู้เรื่องยาก็มีน้อย จะรู้รักษาเฉพาะก็แค่โรคสามัญ จึงทำให้อาการของแม่ชุมทรุดลง ร่างกายและใบหน้าที่เคยงดงามก็เต็มไปด้วยแผลที่เกิดจากการพุพองของโรค น้ำเสียงที่เคยไพเราะกลับแหบแห้งลงเพราะโรคเบียดเบียน เรี่ยวแรงที่เคยมี ตอนนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับคนชราเลย ถึงแม้ว่าแม่ชุมจะป่วยร้ายแรงแค่ไหน พ่อสุวรรณก็ไม่เคยรังเกียจ คอยปรนนิบัติดูแลไม่ยอมห่างกาย จนวาระสุดท้าย ในยามที่แม่ชุมจะสิ้นลม ก็มีเพียงพ่อสุวรรณ ที่เฝ้าจนลมหายใจสุดท้ายของคนรักดับสูญไป

พระแม่ชุมและพ่อศรีสุวรรณ

การจากไปของแม่ชุมสร้างความเสียใจแก่พ่อสุวรรณเกินที่หัวใจจะรับได้ คนที่เคยรักกัน กำลังจะแต่งงานแล้ว แต่กลับมาจากไปด้วยโรคภัยที่ยากจะรักษา ทำให้หนุ่มสุวรรณเปลี่ยนไป จากชายหนุ่มอารมณ์ดี ขยันขันแข็งการงาน กลับกลายเป็นคนเงียบขรึม และจองจมอยู่กับความโศกเศร้า ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอน ตรอมใจคิดถึงวันเวลาเก่าๆ ที่มีแม่ชุมอยู่ใกล้ๆให้ได้หยอกล้อพบหน้าค่าตากัน และไม่นานหลังจากแม่ชุมสิ้นชีพ พ่อสุวรรณ ก็ได้ล้มป่วยลงด้วยโรคตรอมใจ สุดวิสัยที่หมอใดๆ จะมารักษาได้ ทำให้พ่อสุวรรณสิ้นชีพไปอีกคน สร้างความเสียใจแก่เศรษฐีท้ายสำเภาอย่างมาก ที่ได้สูญเสียลูกชายผู้ของครอบครัวไป

พ่อศรีสุวรรณ วัดท้ายสำเภา อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช
พ่อสุวรรณ วัดท้ายสำเภา อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช

ทางด้านเศรษฐีบ้านนาพรุเอง ด้วยความคิดถึงลูกสาว ที่ป่วยตายไปด้วยความทรมาน จึงได้จ้างให้ช่างหล่อพระฝีมือดี สร้างพระพุทธรูปแทนตัว อุทิศให้ถึงดวงวิญญาณของแม่ชุม แล้วยกที่ดินที่อาศัย พร้อมบ้านเรือนเป็นวัด หวังผลานิสงส์ในการอุทิศบ้านและที่ดิน ตลอดจนสร้างพระต่างตัว จะทำให้แม่ชุมมีความสุขในสัมปรายภพ เมื่อเศรษฐีบ้านท้ายสำเภาทราบข่าวว่าคู่ดองของตนสร้างพระอุทิศให้กับลูกสะใภ้ของตนที่จากไป เศรษฐีท้ายสำเภาจึงคิดจะสร้างพระอุทิศให้แก่บุตรชายบ้าง

พ่อเศรษฐีสำเภาทอง
พ่อเศรษฐีสำเภาทอง

โดยให้ช่างฝีมือดีอีกคณะหนึ่ง หล่อพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย พ่อศรีสุวรรณ หรือ”พ่อเศรษฐีสำเภาทอง” พร้อมกับยกที่ดินและบ้านสร้างวัดป่ายาง อุทิศผลบุญให้แก่พ่อสุวรรณเช่นเดียวกัน

ในปัจจุบันบ้านของเศรษฐีนาพรุนั้น คือ วัดท่าช้าง (พระแม่ชุม) และ บ้านของเศรษฐีท้ายสำเภา ก็คือวัดท้ายสำเภา ในเมื่อถึงเทศกาลลากพระเดือน ๑๑ ชาวบ้านทั้งสองบ้าน จะลากพระพุทธรูปแทนตัวของพ่อสุวรรณและแม่ชุมมาเจอกันปีละครั้ง เพื่อรำลึกถึงตำนานรักของหนุ่มสาวที่มีต่อกัน เป็นความรักที่แม้แต่ความตาย ก็ไม่อาจมีชัยชนะเหนือจิตปฎิพัทธ์ของทั้งคู่ได้ จนเป็นที่เล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูล : คุณ ภูมิ จิระเดชวงศ์

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร