บุกคุงคก เบีย เบือ มันซูรัน หัวบุก บุกคางคก บุกหนาม บุกหลวง (Elephant yam, Stanley’s water-tub)
– หัวบุกมีสารสำคัญ ที่เรียกว่า “กลูโคแมนแนน” ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นน้ำตาล “กลูโคส” และ “แมนโนส” เมื่อสกัดแยกออกมาจะได้เป็น “ผงแห้ง” หากนำผงแห้งที่ว่านี้ไปละลายน้ำ จะได้ “วุ้นใยอาหารธรรมชาติ” หรือที่รู้จักกันในนาม “วุ้นบุก” ซึ่งสามารถพองตัวและดูดน้ำได้มากถึง 200 เท่า ที่อุณหภูมิปกติ และเพราะวุ้นบุกให้พลังงานต่ำ หรือไม่ให้พลังงาน หากเป็นสารสกัดที่บริสุทธิ์ จึงเหมาะสำหรับเป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยบางประเภท เช่น ผู้ป่วยโรคอ้วน โรคเบาหวาน
– ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว เพราะเส้นใยอาหารร่างกายไม่สามารถย่อยได้ จึงไม่ให้พลังงาน ทำให้อิ่มเร็วและอิ่มนาน ช่วยลดความอ้วน เส้นใยอาหารจะทำปฏิกิริยากับคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล และไขมันบางส่วนที่มากเกินไปจนมีโมเลกุลใหญ่ขึ้น ไม่สามารถย่อยได้ง่าย จึงไม่ดูดซึมเข้าไปเก็บสะสม นอกจากนี้ ยังช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือด ช่วยในการดูดซึมไขมันและคอเลสเตอรอลน้อยลง การเกาะผนังด้านในของเส้นเลือดจะลดน้อยลงด้วย
– บุกช่วยลดการเกิดโรคเบาหวาน และลดการเกิดมะเร็งลำไส้ จะช่วยยับยั้งและป้องกันแบคทีเรีย ไวรัส ที่จะก่อให้เกิดสารพิษในลำไส้ใหญ่ รวมถึงลดความเข้มข้นของความเป็น กรด-ด่าง จากเศษอุจจาระให้เจือจางลง เท่ากับลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ลงได้มาก และลดอาการท้องผูก เพราะจะช่วยเพิ่มน้ำหนักหรือปริมาณให้กากอาหารด้วย ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี ขับถ่ายสะดวก สามารถลดอาการท้องผูกลงถึง 93% และลดการเกิดโรคกระเพาะอาหาร ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อันเกิดจากอนุมูลอิสระของร่างกายดีขึ้น รวมทั้งช่วยขับถ่ายสารพิษออกจากร่างกาย
** ข้อควรระวังในการบริโภควุ้นบุก เนื่องจากวุ้นบุกสามารถขยายตัวได้มาก ไม่ต่ำกว่า 20 เท่า ของเนื้อวุ้นแห้ง ดังนั้น จึงไม่ควรบริโภควุ้นบุกภายหลังอาหาร ควรบริโภคก่อนอาหารไม่น้อยกว่า 30 นาที แต่การบริโภคอาหารที่ผลิตจากวุ้น เช่น เส้นวุ้น และวุ้นก้อน หรือแท่งนั้น บริโภคเป็นอาหารมื้อได้ เพราะได้ผ่านกรรมวิธี ซึ่งวุ้นได้ขยายตัวก่อนแล้ว การที่วุ้นหรือก้อนวุ้นจะพองตัวได้อีกนั้น จะเป็นไปได้น้อยมาก
**ข้อควรระวังบุกเป็นพืชที่สามารถใช้ทำอาหารได้ทั้งส่วนของลำต้น ใบ ดอก และหัวที่อยู่ใต้ดินของบุกชนิดที่รับประทานได้ โดยที่ก่อนนำมาบริโภค ควรทำการต้ม ย่าง หรือปิ้งให้สุกก่อน เช่น ใบและดอกบุก นิยมบริโภคเป็นอาหารประเภทผัก โดยใช้ใบอ่อนที่ใบยังไม่คลี่หรือดอกมาต้มให้สุกก่อน นำมาเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือผัดกับน้ำมันหอยหรือเนื้อสัตว์ก็ได้ เพราะจะมีรสชาติคล้ายกับหน่อไม้ฝรั่ง ส่วนต้นอ่อนของบุกทั้งบุกบ้านและบุกป่า ต้องต้มในน้ำเดือดก่อน มิฉะนั้นเวลารับประทานจะมีอาการคันคอ เนื่องจากมีผลึกของแคลเซียมออกซาเลทอยู่
** จุดอ่อนประการต่อมาก็คือ บุก เป็นพืชล้มลุก ให้หัวโตได้ช้ามาก ต้องใช้เวลาเป็นปี จาก 1-3 ปี ทำให้ผู้ปลูกต้องรอคอย การปลูกบุกก็ค่อนข้างลำบาก ต้องคอยดูแลป้องกันพายุฝน เพราะต้นหักล้มง่าย ต้องเลือกพื้นที่ปลูกให้เหมาะ มีศัตรูทำลาย คือราเม็ดผักกาด อีกทั้งทากก็ชอบกัดกิน
** ส่วนที่เป็นพิษ เหง้าและก้านใบถ้าปรุงไม่ดี กินเข้าไปทำให้คันปากและลิ้นพอง
ข้อมูลโดย – โครงการอนุรักษ์และพัฒนา ทรัพยากรธรรมชาติ จังหวัดชุมพร