วิธีสร้างบุญ ๔ ชนิด ‘ฟังธรรม ทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา’ : พระอาจารย์สุชาติ

1910
views
วิธี'สร้างบุญ ๔ ชนิด

บุญนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ ต่อให้มีเงินกองเท่าภูเขา ต่อให้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นมหาจักรพรรดิ เป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรี ก็สู้การมีบุญไม่ได้ เพราะบุญนี้เป็นที่พึ่งของใจ บุญนี้จะสามารถปกป้องใจ ให้อยู่อย่างปราศจากความทุกข์ความวุ่นวายใจต่างๆ ได้ การเป็นนายกเป็นมหาเศรษฐี ยังต้องเจอกับความทุกข์ความวุ่นวายใจต่างๆ ได้

แต่การเป็นเศรษฐีบุญ เป็นนายกบุญนี้จะทำให้ไม่มีความทุกข์ความวุ่นวายใจเข้ามาเหยียบย่ำทำลายจิตใจได้ บุญจึงเป็นสมบัติล้ำค่ายิ่งกว่าสมบัติต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ พวกเราจึงไม่ควรที่จะลืมการทำบุญ อย่าไปหลงกับการหาเงินหาทอง หาตำแหน่งหาอะไรต่างๆ จนลืมหาบุญ เพราะถ้าไม่มีบุญแล้ว ใจจะไม่มีความสุข ต่อให้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นมหาเศรษฐี ก็ยังมีความทุกข์ความวุ่นวายใจอยู่

ความสุขที่ได้จากการเป็นมหาเศรษฐี เป็นใหญ่เป็นโตก็เป็นความสุขแบบควันไฟ ได้มาแล้วก็ดีใจเดี๋ยวเดียว แล้วมันก็หายไป แล้วก็มีแต่ความวุ่นวายใจเข้ามาต่อ เพราะจะต้องคอยดูแลรักษาสิ่งที่หามาได้ แล้วเวลาที่มันจากเราไป ก็วุ่นวายเสียอกเสียใจ แต่ถ้ามีบุญแล้ว ใจจะไม่วุ่นวาย ไม่ต้องปกป้องรักษาบุญที่เราหามาได้ บุญนี้เป็นสมบัติของเรา ไม่มีใครมาแย่งเอาไปได้ บุญจะให้ความสุขความอิ่มใจ ให้ความสบายใจไปตลอดเวลา

ฟังธรรม

ดังนั้น เราควรจะให้ความสำคัญกับการสร้างบุญ ทำบุญ อย่างน้อยก็ให้มันทำเท่าๆ กับการหาเงินหาทอง หายศหาตำแหน่งอะไรต่างๆ อย่ามัวแต่ไปหาเงินหาทอง หายศหาตำแหน่ง จนลืมเรื่องของการหาบุญไป ทำบุญไป บุญที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราทำนี้ มีอยู่ ๑๐ ประการด้วยกัน แบ่งเป็น ๒ ส่วน บุญที่สำคัญ เรียกว่า “บุญหลัก” และบุญที่ไม่สำคัญ เรียกว่า “บุญสำรอง” หรือ “บุญสนับสนุน” ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้

แต่บุญที่ต้องทำนี้มีอยู่ ๔ ชนิดด้วยกัน คือ ๑. บุญที่เกิดจากการฟังเทศน์ฟังธรรม ๒. บุญที่เกิดจากการให้ เรียกว่า “ทาน” ๓. บุญที่เกิดจากการไม่กระทำบาป เรียกว่า “ศีล” และ ๔. บุญที่เกิดจากการพัฒนาจิตใจ เรียกว่า “ภาวนา”

นี่คือบุญที่จะมากำจัดความทุกข์ต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจของเราให้หมดสิ้นไป ถ้าเรามีบุญ ๔ ชนิดนี้อยู่ในใจแล้ว ใจเราจะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อนกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะมากระทบกับร่างกายและจิตใจ ร่างกายจะเป็นอะไรไป จะอดอยากขาดแคลน จะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือจะตายไป ก็จะไม่มาสร้างความทุกข์สร้างความเดือดร้อนให้แก่จิตใจผู้ที่มีบุญทั้ง ๔ ประการนี้

ทาน

ดังนั้น เราต้องมาศึกษาวิธีสร้างบุญ ๔ ประการนี้ว่า สร้างกันอย่างไร บุญข้อที่ ๑ คือบุญที่เกิดจากการได้ยินได้ฟังธรรม เช่น ขณะนี้ที่พวกเรากำลังทำอยู่นี้ เรากำลังฟังเทศน์ฟังธรรรม “ธรรม” ก็คือคำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้า สอนวิธีที่จะทำให้เรามีแต่ความสุข ปราศจากความทุกข์ ถ้าเราไม่ฟังเทศน์ฟังธรรม เราจะไม่รู้จักวิธีสร้างบุญนั่นเอง ดังนั้น ก่อนที่เราจะสร้างบุญ เราต้องมาศึกษาวิธีสร้างบุญก่อน เหมือนกับก่อนที่เราจะไปหาเงินหาทอง เราต้องไปเรียนหนังสือกันก่อน เราต้องไปโรงเรียน ไปเรียน ก ไก่ ข ไข่ เรียนตั้งแต่อนุบาลขึ้นมา จนถึงขั้นปริญญา พอเราเรียนจบปริญญาแล้ว

ทีนี้ เราก็จะรู้จักวิธีหาเงินหาทอง เราก็สามารถที่จะไปหาเงินหาทองได้ตามที่เราต้องการ ถ้าเราไม่ร่ำเรียน เราไม่ไปโรงเรียน ไม่เรียนหนังสือ เราจะไม่รู้จักวิธีหาเงิน ถ้าหาเงินก็หาเงินแบบง่ายๆ คือใช้แรงงานของตนเอง เช่น ไปเป็นคนรับใช้ ไปเป็นคนกวาดขยะอย่างนี้ ไม่ต้องใช้ความรู้ ไม่ต้องเรียน แต่จะต้องไปทำงานที่ต้องใช้ความรู้นี้จะทำไม่ได้ ไปสมัครงานเขาจะไม่รับ เขาจะถามว่าเรียนจบมาหรือยัง ถ้าเรียนไม่จบ เขาก็มีแต่งานกวาดขยะให้ทำเพียงอย่างเดียว

ฉันใด การสร้างบุญก็ต้องมีความรู้วิธีในการสร้างบุญ จะรู้จักวิธีสร้างบุญก็ต้องศึกษา ต้องฟังเทศน์อยู่บ่อยๆ ฟังเทศน์อยู่เรื่อยๆ เพราะถ้าไม่ฟัง หรือฟังครั้งสองครั้งจะลืมได้ เหมือนไปโรงเรียน ไปแค่วันสองวันแล้วก็เลิกไป อย่างนี้ก็จะไม่ได้รับความรู้ ความรู้ที่ได้รับเดี๋ยวก็จะลืมไป การฟังธรรมจึงต้องมีการฟังธรรมกันอยู่เรื่อยๆ สมัยพระพุทธกาล สมัยก่อนก็ต้องฟังอย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง วันฟังธรรมที่เราเรียกว่า “วันพระ” สมัยก่อนนี้ เราจะหยุดทำงานในวันพระกัน เพื่อเราจะได้มีเวลาไปวัด ไปฟังธรรมกัน

สมัยก่อนนี้ต้องไปฟังธรรมที่วัด ไม่เหมือนกับสมัยนี้ สมัยนี้มีธรรมะทุกแห่งทุกหนอยู่ในมือถือเรา เรามีมือถือ เราอยากจะฟังธรรมเมื่อไหร่เราสามารถฟังได้ มีธรรมะคำสั่งคำสอนของพระอาจารย์ต่างๆ ของพระพุทธเจ้า มีให้เราเลือกฟังได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ทุกหนทุกแห่งไม่ว่าเราจะไปไหน เราสามารถที่จะศึกษาฟังเทศน์ฟังธรรมกันได้ตลอดเวลา แต่ในสมัยโบราณ เราไม่มีสื่อเหล่านี้ ไม่มีมือถือ ไม่มีการบันทึกภาพ บันทึกเสียง ไม่มีการพิมพ์หนังสือ สมัยก่อนคนจะฟังเทศน์ฟังธรรม ต้องไปฟังสดๆ จากปากของพระ ถ้าสมัยพระพุทธกาลก็ฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า ก็ต้องรอเวลาที่มีเวลาว่าง ก็มีวันว่างก็คือวันหยุดทำงานนั่นเอง ถ้าไม่ต้องไปทำงานก็ไปฟังเทศน์ฟังธรรม ไปวัดไม่ได้

ตักบาตร

สมัยก่อนเลยต้องมีวันพระกัน มีวันหยุด วันหยุดสมัยก่อนเขาเรียกกันว่า “วันธัมมัสสวนะ” วันธัมมัสสวนะ แปลว่าวันฟังธรรม หยุดทำงาน ชาวนาชาวไร่หยุดทำงาน แล้วก็ไปวัด ไปวัดก็ไปฟังเทศน์ฟังธรรม แล้วก็ไปทำบุญตามที่ได้ยินได้ฟังจากการฟังธรรม ว่าต้องทำบุญอะไรบ้าง สมัยก่อนนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าต้องเข้าวัดทุกวันพระ ไปฟังเทศน์ฟังธรรม ไปเรียนหนังสือ ไปศึกษาวิธีสร้างบุญกัน เพราะบุญนี้เป็นของที่เราไม่เคยทำกันมาก่อน ถ้าเราไม่ไปเรียน เราไม่ไปฟังเทศน์ฟังธรรม เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นการทำบุญ อะไรไม่เป็นการทำบุญ นี่คือการฟังเทศน์ฟังธรรม พระพุทธเจ้าทรงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

เพราะถ้าไม่ได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็เหมือนไม่ได้ไปโรงเรียน เมื่อไม่ได้ไปโรงเรียน ก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไร ก็จะไม่สามารถไปทำงานทำการหาเงินหาทองได้ แต่ถ้าได้เรียนรู้แล้ว มีความรู้แล้ว ก็สามารถไปทำงานทำการต่างๆ ไปหาเงินหาทองได้ ไปเป็นนายกรัฐมนตรีก็เป็นได้ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนี้ก็เริ่มต้นจากการไปเรียนอนุบาลนี่แหละ จบอนุบาลก็ขึ้นประถม จากประถมก็เข้าสู่มัธยม

จากมัธยมก็ไปโรงเรียนนายร้อย จบนายร้อยออกมาก็รับยศ เป็นนายร้อยตรี แล้วก็มีการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งตามวาระโอกาส จนได้เป็นนายพล แล้วจนได้มาเป็นนายกตามลำดับต่อไป ถ้าไม่ไปโรงเรียน ไม่ไปเรียนหนังสือ ก็จะเป็นคนกวาดถนนอยู่ตอนนี้ เพราะไม่มีวิชาความรู้ ฉันใด ผู้ที่ต้องการมีบุญมีกุศลอยู่ในใจ ก็ต้องไปเรียนวิธีสร้างบุญสร้างกุศล วิธีสร้างบุญสร้างกุศลนี่ก็ ต้องฟังเทศน์ฟังธรรมนี่เอง

ฟังธรรม

อย่างวันนี้มาฟังก็จะได้เรียนรู้แล้วว่า ถ้าอยากได้บุญนี้ต้องทำอะไรบ้าง ต้องฟังเทศน์ฟังธรรม เมื่อฟังเทศน์ฟังธรรม ก็จะรู้ว่าต้องทำบุญอะไรต่อ บุญที่ต้องไปทำต่อก็คือ “ทาน” คือการให้ “ศีล” คือการละเว้นจากการทำบาป “ภาวนา” คือการพัฒนาจิตใจ การสร้างจิตใจให้สูงขึ้น ให้ฉลาดขึ้น อันนี้เป็นขั้นเป็นตอนของการสร้างบุญสร้างกุศล เราต้องรู้รายละเอียดของวิธีสร้างบุญสร้างกุศลของแต่ละวิธี

วิธีที่จะฟังเทศน์เพื่อให้เกิดความรู้ขึ้นมานี้ต้องฟังอย่างไร ฟังเทศน์นี่ฟังแล้วแบบทัพพีในหม้อแกงก็ได้ ฟังแบบลิ้นกับแกงก็ได้ “ทัพพีในหม้อแกง” กับ “ลิ้นกับแกง” นี้ไม่เหมือนกัน ทัพพีนี้อยู่ในหม้อแกงนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ว่าแกงเป็นแกงอะไร เป็นแกงจืดหรือแกงเผ็ด หรือจะไม่รู้ แต่ลิ้นกับแกงนี่ พอแกงไปสัมผัสกับลิ้นแม้แต่หยดเดียว ก็จะรู้ขึ้นมาทันทีว่าเป็นแกงชนิดไหน เป็นแกงเผ็ดแกงหวานแกงจืด อะไรจะรู้ขึ้นมาทันที ถ้าใช้ลิ้นสัมผัสกับแกง ถ้าใช้ทัพพีไปสัมผัสกับแกงแล้วจะไม่รู้ว่า เป็นแกงอะไร ฉันใด

การฟังธรรมก็เหมือนกัน ฟังได้ ๒ วิธี ฟังแบบลิ้นกับแกง หรือ แบบทัพพีในหม้อแกง ฟังแบบทัพพีในหม้อแกงคือฟังแล้วไม่รู้เรื่อง ฟังแล้วไม่เข้าใจ เรียกว่าฟังทัพพีในหม้อแกง ได้ยินแต่เสียง เข้าหูซ้ายแล้วก็ออกหูขวาไป แต่ไม่เข้าไปในใจ แต่ถ้าฟังแบบลิ้นกับแกงนี้ ฟังแล้วจะเข้าใจ จะรู้เรื่อง ฟังเข้าหูแล้วมันก็จะเข้าไปในใจต่อ วิธีที่จะฟังให้รู้เรื่อง ฟังให้เข้าใจนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนว่า

ต้องฟังด้วยกาย วาจา ใจ ที่สงบ ต้องไม่ทำอะไร เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมจริงๆ อย่าไปทำอะไร อย่าไปล้างถ้วยล้างชาม แล้วก็เปิดธรรมะฟังไป ฟังได้แบบนี้แต่จะเป็นแบบทัพพีในหม้อแกง ให้ฟังแบบลิ้นกับแกง ถ้าจะฟังต้องตั้งใจฟัง คือ ต้องเอาใจมาตั้งอยู่กับการฟังธรรม อย่าเอาใจไปอยู่กับการล้างถ้วยล้างชาม หรือทำอะไรต่างๆ หรือไปพูดไปคุยกัน หรือไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าฟังแบบนี้ก็ฟังแบบทัพพีในหม้อแกง ต้องฟังแบบตั้งใจฟัง ไม่ทำอะไร ร่างกายนั่งเฉยๆ ปากไม่พูดอะไรกับใคร ใจไม่ไปคิดเรื่องอะไรนอกจากเรื่องของธรรมที่เรากำลังฟังอยู่ ฟังธรรมไปแล้วก็คิดตามไป ตามเหตุตามผลของธรรมที่เราได้ยิน เราก็จะเกิดความเข้าใจขึ้นมา

ฟังธรรม

นี่คือจะเกิดอานิสงส์ของการฟังธรรม ๕ ประการ ด้วยกัน ประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการฟังธรรม ๕ ข้อ จะได้ต่อเมื่อเราฟังธรรมด้วยกาย วาจา ใจ ที่สงบ กายวาจาที่สงบเราเรียกว่า “ศีล” ใจที่สงบเราเรียกว่า “ปัญญา” คือ สงบจากเรื่องราวต่างๆ ไม่ไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดอยู่แต่เรื่องธรรมะที่เรากำลังฟังอยู่เพียงอย่างเดียว แล้วก็จะเกิดอานิสงส์ ๕ ประการ

อานิสงส์ที่สำคัญที่สุดก็คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง ความเห็นที่ถูกต้องก็คือ ความรู้ว่าเราจะต้องทำอะไรนั่นเอง รู้ว่าการทำบุญนี้ทำอย่างไร เรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ” นอกจากสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ถูกต้องแล้วว่า บุญนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ และบุญจะเกิดขึ้นได้ด้วยการทำทาน ด้วยการรักษาศีล ด้วยการภาวนา นี่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ อานิสงส์ของการฟังธรรม

นอกจากสัมมาทิฏฐิแล้ว เราจะได้ยินได้ฟังธรรมที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน สองธรรมที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว เมื่อเราฟังซ้ำอีก เราก็จะเกิดความเข้าใจดีขึ้นไปตามลำดับ สามจะกำจัดความสงสัยต่างๆ ที่มีอยู่ในใจของเราได้ เช่น ทำบุญไปทำไม ทำทานไปทำไม รักษาศีลไปทำไม นั่งสมาธิไปทำไม ถ้าฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว จะรู้ว่าทำไมต้องนั่งสมาธิ ทำไมต้องฟังเทศน์ฟังธรรม ทำไมต้องทำบุญทำทาน ทำไมต้องรักษาศีล

ความสงสัยต่างๆ เหล่านี้จะหายไปหมด แล้วจะทำให้เรามีจิตใจที่แจ่มใสเบิกบาน จิตใจสงบมีความสุข แล้วก็มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้องแล้ว เห็นว่าบุญนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สำคัญยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ เพราะทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่สามารถจะมากำจัดความทุกข์ความวุ่นวายใจต่างๆ ของเราได้ นอกจากไม่กำจัดแล้ว ยังมาเพิ่มความทุกข์ความวุ่นวายใจให้มีมากยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งมีอะไรมากก็ยิ่งวุ่นวายใจมากขึ้นไป เพราะต้องคอยไปดูแลรักษา คอยปกป้อง คอยหามาเติม คอยกังวลอยู่กับสิ่งที่มีอยู่

ภาวนา

นี่คือการฟังเทศน์ฟังธรรมแบบลิ้นกับแกง ต้องฟังด้วยกาย วาจา ใจที่สงบ แล้วความรู้ต่างๆ ที่เราได้ยินได้ฟังก็จะเข้าไปในใจของเรา แล้วมันก็จะสอนเราบอกเราว่าเราต้องทำอะไรต่อไป แต่การฟังธรรมนี้ต้องฟังบ่อยๆ เพราะว่าถ้าฟังหนเดียวเดี๋ยวเราก็ลืมได้ พอเราไม่ได้ฟังธรรม เราก็ไปทำงานทำการ ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ความคิดเหล่านี้มันก็จะมากลบธรรมะที่เราได้ยินได้ฟัง เราจึงต้องพยายามฟังบ่อยๆ เดี๋ยวนี้ฟังได้ทุกวัน ฟังได้ทั้งวันทั้งคืน ถ้ามีเวลาว่างเอาเวลามาฟังธรรม จะได้คุณได้ประโยชน์กว่า

เอาเวลาไปดูหนังดูละคร เอาเวลาไปเล่นเกม เอาเวลาไปทำอะไรต่างๆ ที่ไม่มีคุณค่าคุณประโยชน์ท่ากับการมาฟังเทศน์ฟังธรรม ถ้าเราฟังบ่อยๆ เราจะไม่ลืมนั่นเอง ยิ่งฟังยิ่งจะจำได้ พอยิ่งจะจำได้ เราก็จะได้รู้ว่าเราต้องทำอะไร ถ้าเราจำไม่ได้ เดี๋ยวเราลืม เราก็ไม่ไปทำบุญกัน เราก็จะไม่ทำในสิ่งที่เราควรจะทำกัน ไปทำในสิ่งที่เราไม่ควรจะทำกัน คือ ไปหาสิ่งที่ไม่มีคุณค่ามีคุณประโยชน์กับจิตใจ ไปหาเงินทองมากกว่าที่เราต้องการจะใช้ได้ มีเงินมากเกินไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร

เงินทองนี้มีคุณค่าสำหรับการเลี้ยงดูร่างกายนี้เท่านั้นเอง มีเงินมีทองเพื่อให้เรามีมีปัจจัย ๔ มีอาหาร มีเครื่องนุ่งห่ม มีที่อยู่อาศัย มียารักษาโลก ถ้าเรามีมีปัจจัย ๔ พอแล้ว มีมากไปกว่านี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่ได้ไปทำให้ร่างกายสุขมากขึ้นแต่อย่างใด ไม่ได้มาป้องกันหรือมายุติการแก่ การเจ็บ การตายของร่างกายได้ ฉะนั้น มีเงินมากเกินไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร จะทำให้เสียเวลาเปล่าๆ เอาเวลาที่ไปหาเงินหาทองนี้มาหาบุญดีกว่า มาทำบุญดีกว่า…

เพจ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร