ความเป็นมาพระแก้วมรกต (พระแก้วเขียว)
พระแก้วมรกตนี้ความจริงองค์พระแกะสลักจากหยกเนไฟรต์ ไม่ได้ทำจากแก้วมรกตแต่อย่างใด ในอดีตเรียกกันว่าพระแก้วเขียว ภายหลังจึงเรียกว่าพระแก้วมรกต เหตุเพราะว่ามีสีเขียวดังมรกต
หากยึดตามตำนานพระแก้วมรกตนั้น ว่ากันว่าสร้างตั้งแต่ราว พ.ศ.๕๐๐ โดยพระนาคเสน ที่เมืองปาฏลีบุตร แล้วมีการโยกย้ายองค์พระไปยังอีกหลายที่ ซึ่งผมมีความเห็นว่าเป็นตำนานที่แต่งเติมกันขึ้นมาภายหลัง เนื่องด้วยพระแก้วมรกตนี้เป็นพระพุทธรูปสกุลช่างเชียงแสน น่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ และเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในแถบหัวเมืองเหนืออย่างแน่นอน
พระพุทธรูปองค์นี้ปรากฏองค์อย่างเป็นเรื่องราวในปี พ.ศ.๑๙๗๗ ที่วัดป่าเยี๊ยะหรือป่าญะ ปัจจุบันคือวัดพระแก้ว เมืองเชียงราย โดยเหตุเกิดจากฟ้าผ่าเจดีย์จนพังทลายลง จึงพบพระแก้วเขียวนี้อยู่ภายใน พระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งอาณาจักรล้านนาได้อัญเชิญพระแก้วเขียวนี้มาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๑๙๗๙ แต่ขบวนช้างอัญเชิญพระแก้วเดินทางไปเมืองลำปาง เป็นเหตุให้ต้องอัญเชิญพระแก้วมรกตนี้ประดิษฐานที่วัดพระแก้วดอนเต้า เมืองลำปาง
(วัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ สถานที่อันเคยประดิษฐานพระแก้วมรกตตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๐๒๒-๒๐๙๐)
ในปี พ.ศ.๒๐๒๒ พระเจ้าติโลก(พิลก)ราช ได้จัดขบวนมาอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานยังวัดเจดีย์หลวง พร้อมทั้งโปรดฯ ให้สร้างหอพระแก้ว แล้วอาราธนาพระแก้วเขียว (มรกต) และพระแก้วขาวมาไว้ในหอพระแก้วแห่งนี้
ตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมาล้านนาทำศึกกับอยุธยาต่อเนื่องหลายสิบปี ทำให้อาณาจักรอ่อนแอ ขุนนางแตกแยกออกเป็นหลายฝ่าย โดยเฉพาะในสมัยพระเมืองเกษเกล้า ขุนนางอาณาจักรล้านนาแตกแยกออกเป็นฝักฝ่าย ขณะนั้นเองอาณาจักรล้านช้างบ้านเมืองกำลังเป็นปึกแผ่น พระเจ้าโพธิสาละราชทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองด้วยดี และส่งสมณะทูตมานำพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์จากล้านนาไปประดิษฐานยังล้านช้าง พระเมืองเกษเกล้าจึงได้พระราชทานพระธิดาคือพระนางยอดคำทิพย์ เพื่อเป็นพระมเหสีของพระแจ้าโพธิสาละราชด้วย
การที่พระเมืองเกษเกล้ามุ่งหมายจะเป็นดองกับล้านช้าง ก็เหตุด้วยต้องการกำลังสนับสนุนจากล้านช้าง เพราะอำนาจของพระองค์ก็ง่อนแง่นเต็มที จวบจนในปีพ.ศ.๒๐๘๑ พระเมืองเกษเกล้าถูกกลุ่มขุนนางถอดออกจากราชสมบัติ ภายหลังอัญเชิญท้าวซายคำ พระโอรสของพระองค์ขึ้นครองราชย์ ภายหลังท้าวซายคำถูกลอบปลงพระชนม์ กลุ่มขุนนางเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นฐานอำนาจเดิมของพระเมืองเกษเกล้าได้อัญเชิญพระเมืองเกษเกล้าขึ้นครองราชย์อีกครั้ง
ในปี พ.ศ.๒๐๘๘ พระเมืองเกษเกล้า ถูกลอบปลงพระชนม์ โดยกลุ่มขุนนางเชื้อสายไทใหญ่ ภายหลังกลุ่มขุนนางเมืองเชียงแสนสามารถกำจัดอิทธิพลของขุนนางฝั่งตรงข้ามได้ จึงไปอัญเชิญเจ้าเชษฐวังโส โอรสอันเกิดแต่พระนางยอดคำทิพย์และพระเจ้าโพธิสาละราชแห่งล้านช้าง มาครองเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๐๘๙ สถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งล้านนาองค์ที่ ๑๕ พระนามว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
(วัดวิชุลราช นครหลวงพระบาง สถานที่อันเคยประดิษฐานพระแก้วมรกตตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๐๙๑-๒๑๐๓ แต่เดิมสิมแห่งนี้เป็นไม้ทั้งหลัง)
แม้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจะมาครองเมืองเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้การเมืองของเชียงใหม่สงบลงได้มากนัก กระทั่งในปี พ.ศ.๒๐๙๐ พระเจ้าโพธิสาละราชแห่งล้านช้าง ทรงสวรรคตกะทันหันจากเหตุช้างป่าล้มทับ พระเจ้าไชยเชษฐาจึงต้องกลับไปครองล้านช้าง และระงับเหตุอันเกิดแต่การแย่งชิงราชสมบัติของเจ้าวรวังโสและเจ้าท่าเรือ
เมื่อจะเสด็จกลับล้านช้างเพื่อไปงานพระศพพระราชบิดานั้น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชคงเห็นถึงความวุ่นวายของเชียงใหม่หลังพระองค์เสด็จไปล้านช้าง จึงอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญไปด้วยคือพระแก้วเขียว (มรกต) และพระแก้วขาว (น่าจะเป็นพระแก้วบุษยรัตน์ฯ ปัจจุบันอยู่ในพระบรมมหาราชวังของไทย) กลับล้านช้างด้วย พร้อมกันนั้นมอบหมายให้มหาเทวีจิระประภา ผู้เป็นสมเด็จยาย ว่าราชการแทน
พระแก้วมรกตและพระแก้วขาวนี้ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดวิชุลราช นครหลวงพระบาง (พ.ศ.๒๐๙๑-๒๑๐๓) และพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ในแผ่นดินล้านช้างต่อจากพระเจ้าโพธิสาละราช จากนั้นกลุ่มขุนนางเมืองเชียงใหม่ได้ไปเชิญเจ้าเมกุฏิ เจ้าฟ้าเมืองนาย เชื้อสายวงศ์เม็งรายมาครองเมืองเชียงใหม่ ทำให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไม่พอใจอย่างมาก จึงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ทางเชียงใหม่ขอให้พม่าเข้ามาช่วย จนกระทั่งล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๐๑
ด้วยเหตุที่อาณาจักรล้านนาตกเป็นของพม่า ซึ่งทำให้พม่ามีอิทธิพลมากขึ้น แถมยังอยู่ใกล้เมืองหลวงพระบาง เมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้าง เป็นเหตุอันหนึ่งที่ทำให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชตัดสินใจย้ายเมืองหลวงของล้านช้างไปยังนครเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ.๒๑๐๓
(ภาพวาดวัดพระแก้วเวียงจันทน์ วาดโดยหลุยส์ เดอลาป๊อก ปีพ.ศ.๒๔๑๐)
โปรดให้สร้างวัดพระแก้วขึ้นที่นครเวียงจันทน์ แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานยังพระนครหลวงแห่งใหม่ (พร้อมนำพระบางและพระแก้วขาวลงมาด้วย)
กลุ่มคนยวนล้านนาที่จงรักภักดีต่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชและมหาเทวีจิระประภา ก็อพยพผู้คนตามเสด็จพระเจ้าไชยเชษฐาลงมายังนครเวียงจันทน์ด้วย พระเจ้าไชยเชษฐาโปรดให้สร้างเมืองยังอีกฝั่งของแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองเวียงจันทน์ เรียกชื่อว่าเวียงศรีเชียงใหม่ (ปัจจุบันคืออำเภอศรีเชียงใหม่) และอีกเมืองคือเวียงพานพร้าว (ปัจจุบันคือตำบลพานพร้าว) ซึ่งล้วนแต่เป็นคนยวนล้านนาอาศัยอยู่ ต่อมาเมืองเหล่านี้กลายเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของวียงจันทน์ เมืองทั้งสองนี้ตั้งชื่อตามเมืองของคนยวนเดิมเพื่อรำลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนคือ เวียงเชียงใหม่และเวียงพร้าว (ปัจจุบันคืออำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่)
พระแก้วมรกตประดิษฐานเป็นศรีแก่เมืองเวียงจันทน์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๑๐๓-๒๓๒๒ รวมระยะเวลา ๒๑๙ ปี
กระทั่งในปี พ.ศ.๒๓๒๑-๒๓๒๒ พระเจ้าตากสินมีบัญชาให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ต่อมาคือรัชกาลที่ ๑) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (ต่อมาคือกรมพระราชบวรมหาสุรสิงหนาท) ยกทัพตีเมืองเวียงจันทน์ ได้รับชัยชนะ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้นำพระแก้วมรกตและพระบางมายังกรุงธนบุรี ตลอดจนกวาดต้อนคนลาวจำนวนมากมาเติมเต็มพื้นที่ภาคกลางของสยามที่รกร้างผู้คน จากศึกสงครามกับพม่า
เมื่อมาถึงกรุงธนบุรีก็นำพระแก้วมรกตประดิษฐานที่วัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวรารามในปัจจุบัน หลังจากเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากพระเจ้าตากสิน ในปี พ.ศ.๒๓๒๕ และสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานยังวัดพระแก้วที่สร้างขึ้นใหม่ ในพระบรมมหาราชวังฝั่งตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังสมัยธนบุรี
พระแก้วมรกตจึงประดิษฐานอยู่กรุงธนบุรี (พ.ศ.๒๓๒๒-๒๓๒๗) ประมาณ ๖ ปี และประดิษฐานยังวัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวังของไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๗ – ปัจจุบัน
คาถาบูชาพระแก้วมรกต
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ (๓ ครั้ง)
พุทธะมะหามะณีระตะนะปะฏิมากะรัง ปูเชมิ
ทุติยัมปิ พุทธะมะหามะณีระตะนะปะฏิมากะรัง ปูเชมิ
ตะติยัมปิ พุทธะมะหามะณีระตะนะปะฏิมากะรัง ปูเชมิ
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
มะหาเตโช เจวะ มะหาปัญโญ
จะ มะหาโภโค จะ มะหายะโส
จะภวันตุ เม นิพพานัสสะ ปัจจะโย โหตุ
แล้วอธิษฐานตามใจปรารถนา
คาถาบูชาพระแก้วมรกตแบบย่อ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ (๓ ครั้ง)
วาละลุกัง สังวาตังวา
– บทความโดย: Guy Intarasopa / http://e-shann.com/?p=9284
บทสวดมนต์ประจำวันเกิด แบบเต็มและแบบย่อทั้ง 7 วัน ตามกำลังวัน สวดก่อนนอนชีวิตราบรื่น ร่มเย็น เสริมสิริมงคล ประโยชน์ของการสวดมนต์ก็คือทำให้จิตใจเราผ่องใส และจิตใจสงบมากขึ้น ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ พระประจำวันเกิด คือ พระพุทธรูปปางถวายเนตร บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันอาทิตย์… อ่านเพิ่มเติม..
อาการท้องผูก ท้องอืด ถึงแม้จะไม่ส่งผลอันตรายมากถึงชีวิตแต่ก็สร้างความอึดอัดไม่สบายท้อง หรืออาจลุกลามกลายเป็นโรคอันตรายในอนาคตได้ และที่สำคัญอาการเหล่านี้มักส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันโดยตรง! ผลไม้หลายชนิดอุดมไปด้วยใยอาหาร ทำให้การขับถ่ายง่ายขึ้น ผลไม้ 9 ชนิดช่วยขับถ่าย กากใยสูง แก้อาการท้องผูกชนิดไหนบ้างนั้น มาดูกันเลย 1.มะละกอสุก เป็นผลไม้ที่มีกากใยสูงและหาทานง่าย… อ่านเพิ่มเติม..
เปรต "Preta" หมายถึงผี ตามความเชื่อในหลายศาสนาทั้ง ศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ และศาสนาเชน ตามความเชื่อนั้น เปรตเป็นผีได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสกว่าเมื่อครั้งเป็นมนุษย์มาก โดยต้องทรมานกับความหิวโหยและความเจ็บปวดทางกาย ความเชื่อเรื่องเปรตมีต้นกำเนิดมาจากพิธีกรรมทางศาสนาในประเทศอินเดียตั้งแต่ยุคโบราณ และเริ่มแพร่กระจายสู่สังคมในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก คำว่า "Preta"… อ่านเพิ่มเติม..
เชื่อหรือไม่? ว่าประเทศไทยในอดีตนั้นเคยมี ‘กระทรวงเวทมนตร์’ แต่ใช้ในชื่อว่า ‘กระทรวงแพทยาคม’ หรือบางบันทึกเรียกว่า ‘ศาลกระทรวงแพทยา’ ซึ่งเป็นกระทรวงที่เกี่ยวกับสอบสวนพิจารณาโทษของผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการกระทำทาง ’ไสยศาสตร์’ โดยเฉพาะ เนื่องจากในสมัยนั้น ไม่ว่าชนชั้นใดก็ต่างเชื่อในเรื่องของ ไสยศาสตร์ กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูง… อ่านเพิ่มเติม..
ทำไมเด็กถึงติดหมอนเน่า ผ้าห่มเน่า หรือตุ๊กตาเก่าๆ 🧸💕 เคยสังเกตไหมว่าเด็กน้อยมักมีของชิ้นพิเศษที่พวกเขาพกติดตัวไม่ห่าง เช่น ตุ๊กตาหมี หมอน หรือผ้าห่มเก่าๆ ซึ่งเราอาจเรียกมันว่า "หมอนเน่า" "หมีเน่า" แต่สำหรับเด็กแล้ว สิ่งเหล่านี้คือความสบายใจในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา! 😌💫… อ่านเพิ่มเติม..
🚨ตำรวจไซเบอร์ แนะนำ 5 แอปฯเช็คน้ำท่วมและสภาพอากาศ 🌂 ช่วงนี้ประเทศไทยบางพื้นที่ฝนตกหนักมาก เกิดน้ำท่วมขัง น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง เพื่อเป็นการป้องกันภัยให้ทันท่วงที ตำรวจไซเบอร์ขอแนะนำ 5 แอปพลิเคชันเช็กสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ เพื่อเป็นตัวช่วยวางแผนการเดินทางและจัดการความเสี่ยงได้ทันเวลา ⚠️เอาตัวรอดจากน้ำท่วม… อ่านเพิ่มเติม..
This website uses cookies.