โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ เป็นโรคทางอารมณ์ที่พบบ่อย โดยมีความชุกตลอดช่วงชีวิตถึง 12% พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบได้ในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก เช่น การสูญเสีย ความผิดหวังหรือการหย่าร้าง
การเป็นโรคนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เป็นนั้นจะเป็นคนอ่อนแอ ล้มเหลวหรือไม่มีความสามารถ เพราะมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าโรคซึมเศร้ามีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการทำงานของระบบสมองที่ผิดปกติ
ในปัจจุบันโรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาและการรักษาทางจิตใจ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงานและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงมากขึ้น เช่น มีอาการหลงผิด หูแว่ว มีความคิดทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย
ประเภทโรคซึมเศร้า (Depression)
โรคซึมเศร้า เป็นความผิดปกติของสมอง ที่มีผลกระทบต่อความนึกคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรมและสุขภาพกาย แต่คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าโรคซึมเศร้า เป็นผลมาจากความผิดปกติของจิตใจ สามารถแก้ไขให้หายได้ด้วยตนเอง ในความจริงแล้ว โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน
โรคซึมเศร้านั้นมีหลากหลายประเภท ทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้าแต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป อารมณ์ที่หลายหลายของโรคซึมเศร้า ได้แก่
1. โรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชั่น (Major Depression)
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าชนิดนี้ จะมีความผิดปกติที่มีอารมณ์ซึมเศร้านานกว่า 2 สัปดาห์ ผู้ที่ป่วยจะมีอาการเศร้าสลดอย่างมาก จนไม่มีความสนใจในกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยทำให้กลับมามีความสุขสดชื่นเหมือนเดิม ดังนั้นควรเริ่มรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยไม่ให้โรคซึมเศร้าแบบนี้มีความรุนแรงขึ้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอีกด้วย
2. โรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย (Dysthymia Depression)
ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าชนิดนี้ จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าชนิดแรก แต่เป็นอย่างต่อเนื่องนานกว่า นั่นคือ จะมีอาการอย่างน้อย 2 ปี แต่มักจะนานกว่า 5 ปี อาการไม่รุนแรงถึงขนาดทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากผู้ที่ป่วยจะมีอารมณ์ผิดปกติสลับไปด้วย
3. โรคซึมเศร้าแบบไบโพลาร์ ดิสออร์เดอร์ (Bipolar disorder)
ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า ชนิดนี้บางรายจะมีอารมณ์เซ็ง ซึมเศร้าสลับกับอาการลิงโลด โดยเป็นอารมณ์ที่ต่างกัน หรือ ต่างขั้วกัน โดยซึมเศร้าชนิดนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจและมักก่อให้เกิดปัญหา เช่น การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย หรือตัดสินใจผิดๆ และอาจมีความคิดฆ่าตัวตายในช่วงที่มีอาการซึมเศร้าได้
ดังนั้น หากพบหรือสงสัยว่าตนเองและคนใกล้ตัวคุณป่วยด้วยโรคซึมเศร้า อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรพามาปรึกษาแพทย์ เพราะหากได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องด้วยวิธีที่เหมาะสม คุณและคนใกล้ตัวก็สามารถจะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
ความผิดปกติในสมอง เช่น สารสื่อประสาท ฮอร์โมนและวงจรระบบประสาท
ผู้ที่มีญาติเป็นโรคทางอารมณ์จะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า แต่ทั้งนี้ผู้ที่ไม่มีญาติเป็นโรคทางอารมณ์ก็อาจเป็นโรคนี้ได้
สภาพจิตใจของแต่ละคนอันเนื่องมาจากการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมและเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการคิดและมุมมองต่อตนเอง เช่น มองโลกในแง่ร้าย สิ้นหวังหรือขาดความภูมิใจในตนเอง
ภาวะซึมเศ้ราอาจเกิดจากความผิดปกติอื่นๆ เช้น โรคทางกาย (ไทรอยด์ ลมชัก สมองเสื่อม ฯลฯ) ยารักษาโรคบางชนิด ปัญหายาเสพติด โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล ฯลฯ
อาการของโรคซึมเศร้า
ผู้เป็นโรคซึมเศร้ามักมีอาการดังต่อไปนี้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์
เก็บตัว แยกตัวออกจากสังคม
รู้สึกเศ้รา ท้อแท้ และสิ้นหวัง
รู้สึกตนเองไร้ค่า
รู้สึกผิดและโทษตนเองตลอดเวลา
ขาดความสนใจหรือความเพลิดเพลินในการทำกิจกรรมต่างๆ
เคลื่อนไหวช้างลงหรือกระสับกระส่าย
เหนื่อยและอ่อนเพลียตลอดเวลา
ขาดสมาธิ ความสามารถในการคิดและการตัดสินใจน้อยลง
เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น
นอนมากหรือน้อยกว่าปกติ
มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย
มีปัญหาในการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคม
การรักษาโรคซึมเศร้า
การรักษาหลักของโรคซึมเศร้าคือ การพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัดและการใช้ยากลุ่มต้านเศร้า ผู้ป่วยทีมีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถดีขึ้นได้จนสามารถทำงานและดำรงชีวิตได้อย่างปกติหากได้รับการรักษาที่เหมาะสม
– ข้อมูลโดย – ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ