ย้อนรอยตำนาน ‘พระอาจารย์ทองเฒ่า’ ปรมาจารย์สํานักตักศิลามหาเวท วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง

12152
views
ประวัติพระอาจารย์ทองเฒ่า

วัดเขาอ้อ สํานักตักศิลาไสยเวทย์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่สมัยโบราณ พระเกจิอาจารย์ผู้สืบต่อวิชาทางไสยศาสตร์ ต่างก็เป็นที่พึ่งที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป เช่น พระอาจารย์ทองเฒ่า พระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด) พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ พระอาจารย์ศรีเงิน วัดดอนศาลา พระครูพิพัฒน์สิริธร (อาจารย์คง) วัดบ้านสวน พระอาจารย์ปาน วัดเขาอ้อ และ ที่เป็นฆราวาสที่คนทั่วไปรู้จักกันดีได้แก่ พล.ต.ต.ขุนพันธุรักษ์ราชเดช ฯลฯ

วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง

ยังมีการกล่าวถึงอยู่ในพงศาวดารพัทลุง ดังปรากฏในหนังสือ “พระสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (อาจารย์ทองเฒ่า) อาจารย์ผู้เฒ่าวัดเขาอ้อ” ซึ่งอาจารย์ชุม ไชยคีรี ศิษย์เอกทางไสยเวทคนหนึ่งของสำนักวัดเขาอ้อได้ค้นคว้าและเรียบเรียงขึ้นมาเป็น ประวัติพระอาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้อ มีความว่า

“เท่าที่ค้นพบจากพงศาวดาร และจากคำบันทึกของพระเจ้าของตำรา พระอาจารย์ทุกองค์ในสำนักวัดเขาอ้อมีความรู้ความสามารถในทางไสยศาสตร์ให้แก่ทุกชั้น ตั้งแต่ชั้นเจ้าเมือง และนักรบมาแต่ครั้งโบราณ เริ่มตั้งแต่สมัยศรีวิชัยตลอดมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น พระอาจารย์ที่ปรากฏองค์ที่ ๑ ชื่อ พระอาจารย์ทอง ในสมัยนั้นทางฟากตะวันตกของทะเลสาบตรงกับวัดพระเกิด ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน ปัจจุบันนี้

ครั้งนั้นตามพงศาวดารเมืองพัทลุงกล่าวว่า ยังมีตายาย ๒ คน ตาชื่อ สามโม ยายชื่อ ยายเพ็ชร์ ตายายมีบุตรหลานบุญธรรมอยู่ ๒ คน ผู้ชายชื่อ กุมาร ผู้หญิงชื่อ เลือดขาว นางเลือดขาวกล่าวว่าเป็นอัจริยะมนุษย์ คือ เลือดในตัวนางมีสีขาว ผิวขาวผิดกับมนุษย์ธรรมดาสามัญ ตาสามโมเป็นนายกองช้าง หน้าที่จับช้าง เลี้ยงช้างถวายพระยากรงทอง ปีละ ๑ เชือก เมื่อบุตรธิดาทั้งสองเจริญวัยพอสมควรแล้ว ตายายจึงนำไปฝากให้พระอาจารย์ทอง วัดเขาอ้อ สอนวิชาความรู้ให้ พบบันทึกในตำราว่าเริ่มนำตัวไปถวายพระอาจารย์ทองเมื่อวันพฤหัสบดี ปีกุน เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จุลศักราช ๓๐๑ (พ.ศ.๑๔๘๒) จะศึกษาอยู่นานเท่าใดไม่ปรากฏ ทราบแต่ว่าเป็นผู้มีความรู้ทางอยู่ยงคงกระพัน กำบังกายหายตัวและอื่นๆ เป็นอย่างดียิ่ง

ต่อมาตายายให้บุตรบุญธรรมทั้งสองแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน พระยากรงทองโปรดให้ไปเป็นเจ้าเมืองชื่อพระกุมารและนางเลือดขาว ตั้งเมืองอยู่ที่บางแก้วฝั่งทะเลสาบตะวันตก ชื่อเมืองตะลุง ได้สร้างวัดและเจดีย์วัดตะเขียน (วัดบางแก้ว ตำบลเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เดี๋ยวนี้) การที่ให้ชื่อเมืองว่า เมืองตะลุง อาจจะเป็นเพราะว่าเดิมเป็นหลักล่ามช้าง ต่อมาจึงกลายเป็นเมืองพัทลุง พระกุมารและนางเลือดขาวเป็นผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา สร้างวัดวาอาราม พระพุทธรูป พระเจดีย์ ในเขตเมืองพัทลุง เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองตรัง หลายแห่งด้วยกัน เช่น วัดบางแก้ว วัดสทังใหญ่ เมื่อปีพ.ศ. ๑๔๙๓ สร้างวัดพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดตรัง ๑ วัด สร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ๑ องค์ พอจะจับเค้ามูลได้ว่าวัดเขาอ้อมีมาก่อนเมืองพัทลุง เพราะกุมารมาศึกษาวิชาความรู้ก่อนเป็นเจ้าเมือง” และยังมีตอนหนึ่งซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องถึงประวัติของหลวงพ่อทวด แห่งวัดช้างให้ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี แต่ครั้งยังอยู่วัดพะโคะ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ว่า

พระอาจารย์ทองเฒ่า

“เมื่อจุลศักราช ๙๙๑ (พ.ศ.๒๑๗๑) พระสามีรามวัดพะโคะ หรือที่เราทราบกันเดี๋ยวนี้ว่า หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ซึ่งประชาชนในสมัยนั้นยกย่องถวายนามว่าสมเด็จเจ้าพะโคะ ท่านได้ไปเรียนพระปริยัติธรรม ณ กรุงศรีอยุธยา เป็นผู้แตกฉานในอรรถธรรม ครั้งนั้นยังมีพราหมณ์เป็นนักปราชญ์มาจากประเทศสิงหล (ลังกา) มาตั้งปริศนาปัญหาธรรมที่แสนยาก พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดให้พระสามีรามเถระแก้ปัญหาธรรมนั้นๆ จนชนะพราหมณ์ชาวสิงหล จึงพระราชทานยศเป็นพระราชมุนี

เมื่อกลับมาเมืองพัทลุงได้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระรัตนมหาธาตุไว้บนเขาพะโคะ สูง ๑ เส้น ๕ วา มีระเบียงล้อมรอบพระเจดีย์ ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้นฉลองพระเจดีย์นั้น ท่านอาจารย์เฒ่า วัดเขาอ้อ พัทลุง องค์หนึ่งชื่อ สมเด็จเจ้าจอมทอง ซึ่งคงจะเป็นชื่อที่ยกย่องเช่นเดียวกับสมเด็จเจ้าพะโคะ นำพุทธบริษัทไปในงานฉลองพระเจดีย์ทางเรือใบ แสดงอภินิหารวิ่งเรือใบเลยขึ้นไปถึงเขาพะโคะ ซึ่งไกลจากทะเลมาก ทำให้ประชาชนที่เห็นอภินิหารเคารพนับถือ และปัจจุบันสถานที่ตรงนั้นเรียกกันว่า “ที่จอดเรือท่านอาจารย์วัดเขาอ้อ”

ต่อมาท่านสมเด็จเจ้าพะโคะ ให้คนกวนข้าวเหนียวด้วยน้ำตาลโตนด ภาษาภาคใต้เรียกว่า เหนียวกวน ทำเป็นก้อนยาวประมาณ ๒ ศอก โตเท่าขา ให้พระนำไปถวายสมเด็จเจ้าจอมทอง วัดเขาอ้อ ครั้นถึงเวลาฉันท่านสมเด็จเจ้าจอมทองสั่งให้แบ่งถวายพระทุกองค์ ศิษย์วัดตลอดถึงพระก็ไม่มีใครที่จะแบ่งได้ เอามีดมาฟันเท่าใดก็ไม่เข้า ทราบถึงสมเด็จเจ้าจอมทอง ท่านสั่งให้เอามาแล้วท่านจึงเอามือลูบ แล้วส่งให้ศิษย์ตัดแบ่งถวายพระอย่างข้าวเหนียวธรรมดา อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จเจ้าจอมทองให้พระนำแตงโมใบใหญ่ ๒ ลูก ไปถวายสมเด็จเจ้าพะโคะ พอถึงเวลาฉันก็ไม่มีใครผ่าออก สมเด็จเจ้าพะโคะทราบเข้าก็หัวเราะชอบใจ พูดขึ้นว่า สหายเราคงแสดงฤทธิ์แก้มือเรา ท่านรับแตงโมแล้วผ่าด้วยมือของท่านเองออกเป็นชิ้นๆ ถวายพระ

การแสดงอภินิหารของพระอาจารย์ครั้งโบราณเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง ซึ่งมีมากอาจารย์ด้วยกัน ต่อจากนั้นพระอาจารย์วัดเขาอ้อทุกๆ องค์ ได้แสดงฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ตลอดมา จึงเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทุกชั้น เจ้าเมืองพัทลุงทุกคนต้องไปเรียนวิชาความรู้ที่วัดเขาอ้อ

วัดเขาอ้อ

ประวัติเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ กล่าวสำหรับเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ เท่าที่สืบค้นพบจนถึงปัจจุบัน มี ๑๑ รูป ด้วยกัน ดังนี้
๑. พระอาจารย์ทอง
๒. พระอาจารย์สมเด็จเจ้าจอมทอง
๓. พระอาจารย์พรมทอง
๔. พระอาจารย์ไชยทอง

วัดเขาอ้อ

๕. พระอาจารย์ทองจันทร์
๖. พระอาจารย์ทองในถ้ำ
๗. พระอาจารย์ทองนอกถ้ำ
๘. พระอาจารย์สมภารทอง (หูยาน)
๙. พระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (พระอาจารย์ทองเฒ่า) พ.ศ.๒๓๙๒ – พ.ศ.๒๔๗๐

พระอาจารย์ปาล ปาลธฺมโม

๑๐. พระอาจารย์ปาล ปาลธฺมโม (พระอาจารย์ปาน) พ.ศ.๒๔๗๑ – พ.ศ.๒๕๒๐
๑๑. พระครูอดุลธรรมกิตติ์ (กลั่น อคฺคธมฺโม) (พระอาจารย์กลั่น) พ.ศ.๒๕๑๙ – พ.ศ.๒๕๔๙
๑๒. พระอาจารย์ห้อง ธัมวโร (พระอาจารย์คล้อย) พ.ศ.๒๕๕๐ –

พระอาจารย์วัดเขาอ้อนั้นล้วนต่างมีวิชาความรู้ความสามารถมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทั้งนี้เพราะต่างศึกษาวิชากันมาไม่ขาดระยะ ตำราและวิชาความรู้ที่เป็นหลัก คือ การศึกษาเวทมนตร์คาถาเป็นหลัก เรียนตั้งแต่ธาตุ ๔ ธาตุ การตั้งธาตุ หนุนธาตุ แปลงธาตุ และตรวจธาตุ วิชาคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด มหาอุด สอนให้รู้กำเนิดที่มาของเลขยันต์อักขระต่างๆ นอกเหนือจากการสอนวิชาความรู้ทางไสยเวทแล้ว ยังสอนวิชาความรู้เกี่ยวกับรักษาโรคด้วยสมุนไพร

พระอาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้อ

มีเรื่องเล่าขานถึงปาฏิหาริย์ความศักดิ์สิทธิ์ในวิชาของอดีตเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อมากมาย อย่างอดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อ สมเด็จเจ้าจอมทอง ซึ่งนับว่ามีบุญญาวาสนาสูงส่งยิ่งนัก นอกจากจะมีสานุศิษย์มากมายแล้ว สัตว์ป่านานาชนิดยังเข้ามาพึ่งพาอาศัยอยู่ในวัดเป็นจำนวนมาก และไม่มีผู้ใดเข้ามาทำร้ายทำอันตรายต่อสัตว์เหล่านั้น ด้วยต่างทราบกันว่า ท่านให้การปกปักรักษาเหล่าสัตว์เหล่านั้น ที่สำคัญคนละแวกวัดเขาอ้อล้วนทราบดีว่าท่านมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ ทว่าครั้งหนึ่งคนต่างถิ่นตามล่ากวางเผือกตัวหนึ่งของสมเด็จเจ้าจอมทอง ซึ่งอาศัยอยู่ในวัดเขาอ้อ เป็นกวางที่เชื่องมาก โดยปกติแล้วกวางตัวนี้จะหายไปจากเขตวัดเพื่อหากินไกลๆ ครั้งละ ๒-๓ วัน แล้วจะกลับมาหมอบอยู่หน้ากุฏิท่าน ปฏิบัติอยู่เช่นนี้เป็นประจำ

วันหนึ่งกวางเผือกตัวนี้ได้วิ่งเข้ามาหมอบอยู่หน้ากุฏิของท่านด้วยอาการแสดงความหวาดกลัวเหมือนหนีสัตว์ร้ายมา เผอิญสมเด็จเจ้าจอมทองนั่งอยู่หน้ากุฏิ และได้มองไปที่กวางด้วยอำนาจญาณสมาบัติอันสูงส่งของสมเด็จเจ้าจอมทอง จึงทราบได้ทันทีว่ากวางเผือกหนีอะไรมา ท่านจึงได้กล่าวกับพระภิกษุที่นั่งอยู่ในที่นั้นว่า “เจ้ากวางเผือกเกือบจะไปเป็นอาหารของเขาเสียแล้ว” ยังไม่ทันที่จะกล่าวสิ่งใดต่อพลันก็มีคนถือหอกวิ่งเข้ามาข้างหน้ากุฏิทำท่าง้างหอกในมือเตรียมจะทิ่มแทงกวางเผือกซึ่งหมอบอยู่ใกล้ๆ ท่าน สมเด็จเจ้าจอมทองจึงตวาดออกไปดังกังวานว่า “หยุดเดี๋ยวนี้เจ้ามนุษย์ไม่มีศีลมีธรรม จะฆ่าสัตว์แม้แต่ในเขตวัดไม่เว้น เคยเบียดเบียนแต่สัตว์ต่อนี้ไปสัตว์จะเบียดเบียนเจ้าบ้างล่ะ”

วัดเขาอ้อ

ชายผู้ถือหอกถึงกับหยุดชะงักนิ่ง และเมื่อสิ้นคำพูดของสมเด็จเจ้าจอมทอง ชายผู้นั้นก็ร้องลั่นสลัดหอกในมือทิ้ง แล้วร้องขึ้นมาว่า “งู งู ฉันกลัวแล้วงู” เพราะเห็นหอกที่ตัวเองถือเป็นงู จากนั้นจึงวิ่งหนีออกจากวัดไปพร้อมส่งเสียงร้องลั่นด้วยความกลัวงู แต่ไม่ว่าจะวิ่งไปทางไหนก็เห็นงูไล่ล่าเขาอยู่ตลอด ผู้ที่เล่าเรื่องนี้กล่าวว่า ชายผู้นี้ต้องวิ่งไปเรื่อยๆ หยุดนิ่งเมื่อใดจะเห็นงูไล่ล่าตัวเองอยู่ตลอด ยังมีกาเผือกอีก ๒ ตัว ที่อาศัยเกาะต้นไม้อยู่หน้ากุฏิสมเด็จเจ้าจอมทองเป็นประจำ อาศัยกินข้าวก้นบาตรที่ท่านโปรยให้ทุกวัน

สมเด็จเจ้าจอมทองเคยเอ่ยถึงกาทั้ง ๒ ตัวนี้ว่า “เป็นสัตว์ที่ประเสริฐไม่กินเนื้อสัตว์หรือสิ่งมีชีวิต” มีพระลูกวัดเคยโยนเศษเนื้อสัตว์จากอาหารที่ญาติโยมใส่บาตรให้กาทั้ง ๒ แต่ก็หาได้กินไม่ กลับเลือกกินแต่เฉพาะเม็ดข้าวสุกเท่านั้น อยู่มาวันหนึ่งกาเผือกทั้ง ๒ บินลงมาเกาะใกล้ๆ กับที่สมเด็จเจ้าจอมทองนั่ง แล้วส่งเสียงร้องลั่นกุฏิอยู่เป็นเวลานาน สมเด็จเจ้าจอมทองก็นั่งนิ่งสงบฟังเสียงกาทั้ง ๒ อย่างตั้งใจ ครู่หนึ่งจึงเอ่ยกับพระภิกษุลูกวัดที่อยู่บนกุฏิท่านว่า “กาเผือกเขามาร่ำลา ถึงเวลาที่เขาจะต้องบินกลับไปในป่าแล้ว จะไม่กลับมาอีก เจ้ากาตัวเมียจะไปวางไข่อีกไม่นานเขาคงจะต้องตาย คงไม่ได้มาเขาอ้ออีก เขาจะมาเขาอ้ออีกก็คงชาติต่อไป เขาจะต้องมาแน่”
ต่อเมื่อกาเผือกทั้ง ๒ ได้รับศีลรับพรจากสมเด็จเจ้าจอมทองแล้ว ได้บินทักษิณารัตนะรอบกุฏิแล้วบินมุ่งเข้าป่าไป จากนั้นไม่มีใครพบเห็นกาเผือกทั้ง ๒ อีกเลย

พระอาจารย์ทองเฒ่า

กล่าวสำหรับอดีตเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อที่พอสืบค้นประวัติได้บ้าง นับแต่สมัยพระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า)แต่จะเป็นเจ้าอาวาสเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชาวบ้านนิยมเรียกท่านว่า “พ่อท่านเขาอ้อ” เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เข้มขลังทางวิทยาคมไสยศาสตร์ และแพทย์แผนโบราณ จนเป็นที่เคารพนับถือยำเกรงของคนทั่วไป กล่าวว่าตรงศีรษะของ พระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (พระอาจารย์ทองเฒ่า) มีเส้นผมสีขาวซึ่งไม่สามารถโกนหรือตัดขาดได้

น่าเสียดายว่าอัตโนประวัติของพระครูสังฆสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) สืบค้นได้จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังจะพอจดจำกันได้บ้างว่า พื้นเพของท่านเป็นชาวบ้านสำนักกอ ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง บิดานั้นไม่ทราบชื่อ ส่วนมารดาชื่อ นางรอด ตัวของพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) เป็นพี่คนโต และมีน้อง ๒ คน เป็นชายและหญิง ครอบครัวมีอาชีพทำนา
ในการอุปสมบทจะเป็นเมื่อใด ใครเป็นพระอุปัชฌาย์ ตลอดจนพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ หาทราบไม่

แต่มีเรื่องเล่ากันว่า ก่อนที่ท่านจะบวชได้ล้มป่วยมีอาการหนักมาก จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานบนบานศาลกล่าวว่า หากหายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วยจะบวชเป็นการถวายแก้บน หลังจากนั้นไม่นานอาการป่วยไข้ก็ทุเลาเบาบาง และหายไปในที่สุดอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งต่อมาได้อุปสมบทตามที่ตั้งจิตอธิษฐานไว้ และได้ศึกษาวิชากับพระอาจารย์เอียดเหาะได้ วัดดอนศาลา ซึ่งเป็นศิษย์สายสำนักวัดเขาอ้อ เป็นที่กล่าวขานถึงวิชาพุทธาคมของพระอาจารย์เอียดเหาะได้ว่า เหตุที่ท่านมีสมญานามเช่นนั้นสืบเนื่องมาจาก ทุกวันพระ ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ พระอาจารย์เอียดเหาะได้ จะเหาะไปบำเพ็ญภาวนาในถ้ำที่วัดเขาอ้อเป็นประจำ

ชาวบ้านหลายคนได้พบเห็นเป็นประจักษ์ต่อสายตา จึงได้ขนานนามท่านว่า “พระอาจารย์เอียดเหาะได้” กล่าวสำหรับพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) ได้ชื่อว่ามีตบะบารมีสูงส่งทีเดียว ถึงกับเคยตวาดคนทีเดียวจนเป็นบ้า และเป็นผู้ที่เข้มงวดกวดขันกับบรรดาลูกศิษย์เป็นอย่างยิ่ง หากพบเห็นว่าทำสิ่งใดไม่ถูกต้องก็จะตำหนิตักเตือน ทั้งนี้ก็ด้วยความปรารถนาดีที่อยากให้ศิษย์ของท่านได้ดีในวิชาความรู้

พระอาจารย์ทองเฒ่า

ในส่วนของมารดาของพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (พระอาจารย์ทองเฒ่า) ในช่วงบั้นปลายของชีวิตได้บวชชีที่วัดเขาอ้อ โดยพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) ได้ปลูกกุฏิให้พำนักอยู่ใกล้ๆ กับกุฏิของท่าน เพื่อจะสะดวกในการปรนนิบัติตามหน้าที่ของบุตรผู้กตัญญูตราบจนสิ้นอายุขัย สมณศักดิ์ที่ “พระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต” เจ้าคณะตำบลมะกอกเหนือ ได้รับพระราชทานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้นยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย พระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (พระอาจารย์ทองเฒ่า) ได้มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ขณะอายุได้ ๗๘ ปี

สิ่งหนึ่งที่เหลือไว้สำหรับให้รำลึกถึง คือ วัตถุมงคลที่พระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (พระอาจารย์ทองเฒ่า) ได้สร้างขึ้น นอกเหนือจากพิธีกรรมของสำนักวัดเขาอ้อ คือ พิธีอาบว่านแช่ยา พิธีหุงข้าวเหนียว พิธีป้อนน้ำมันงา ซึ่งในสมัยท่านเป็นพิธีกรรมที่เข้มขลังเป็นอย่างยิ่ง

พระเครื่อง วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง พระอาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้อ ที่สร้างมีหลายชนิดทั้ง มีดหมอ ตะกรุด ผ้ายันต์ ลูกไม้มงคล และ พระปิดตาพระอาจารย์ทองเฒ่า พระปิดตาของพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) พระอาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้อสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เป็นต้นมา ที่พบเห็นจะเป็นเนื้อสัมฤทธิ์และเนื้อตะกั่วผสมดีบุก หากเป็นเนื้อสัมฤทธิ์ วรรณะของเนื้อโลหะออกสีน้ำตาลไหม้เข้ม หากเป็นเนื้อตะกั่วผสมดีบุก จะปรากฏคราบสนิมสีแดงเรื่อๆ

ที่มาหนังสือพิมพ์ข่าวสด

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร