ประวัติ พระอาจารย์นำ วัดดอนศาลา พัทลุง
พระอาจารย์นำ ชินวโร เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือนเก้า (สิงหาคม) พ.ศ.2434 ที่บ้านดอนนูด ตำบลปันแต (บ้านดอนนูดมีอาณาเขาติดต่อกับ 3 ตำบล คือ ตำบลปันแต ตำบลควนขนุน ตำบลมะกอกเหนือ) เป็นบุตรของนายเกลี้ยง นางเอียด แก้วจันทร์ มารดาได้เสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเล็กอยู่ (หลังจากคลอดบุตรหญิงคนสุดท้อง) บิดาเป็นอาจารย์ที่เก่งกล้าทางไสยศาสตร์ ดังนั้นพระอาจารย์นำ จึงได้มีโอกาสศึกษาวิชาทางไสยศาสตร์เบื้องต้นแต่เยาว์วัย นอกจากนั้น บิดายังได้นำไปฝากให้ศึกษาวิชาเวทมนตร์คาถากับพระอาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้อ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงมากสมัยนั้น จนอายุได้ 20 ปี จึงได้อุปสมบทกับพระอาจารย์ทองเฒ่า ที่วัดเขาอ้อ ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ 6 พรรษา จึงลาสิกขา แล้วได้สมรสกับนางสาวพุ่ม มีบุตรชาย หญิง ด้วยกัน 4 คนจน
กระทั่ง พ.ศ.2506 พระอาจารย์นำ ได้ป่วยหนักจนแทบเอาชีวิตไม่รอด ได้มีลูกศิษย์ของท่านประทับทรงหลวงพ่อที่วัดเขาอ้อ (บ้างก็ว่าท่านฝันเห็นพระอาจารย์ทองเฒ่า) บอกว่าหากจะให้หายป่วยจะต้องบวช ซึ่งท่านก็รับว่าถ้าหายป่วยแล้วจะบวชทันที
ปรากฏว่าอาการป่วยของท่านก็หายเป็นปกติ ดังนั้นพระอาจารย์นำจึงได้อุปสมบทอีกครั้งหนึ่งที่วัดดอนศาลา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2506 และได้อยู่ในเพศบรรพชิตตลอดมาจนถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2519 รวมอายุได้ 85 ปี ต่อมาในปี 2520 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2520
พระอาจารย์นำ ชินวโร ได้ทำคุณประโยชน์หลายอย่าง ที่สำคัญได้แก่
1. การช่วยเหลือราชการปราบปรามโจรผู้ร้าย
ในสมัยที่พระอาจารย์นำ ยังเป็นฆราวาส พ.ศ.2466 ทางมณฑลนครศรีธรรมราช ได้ส่งพระยาวิชัยประชาบาล ผู้บังคับการตำรวจมณฑลนครศรีธรรมราช ไปปราบโจรผู้ร้ายในจังหวัดพัทลุง ไปตั้งกองปราบที่วัดสุวรรณวิชัย ปรากฏว่าพระอาจารย์นำ ได้เป็นกำลังสำคัญในการนำสืบจับโจรผู้ร้าย ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ในการปราบปรามครั้งนั้นมาก จนสามารถปราบปรามโจรผู้ร้ายได้สงบราบคาบ
2. การสร้างวัตถุมงคล
พระอาจารย์นำ ได้สร้างเครื่องรางของขลังไว้มาก ทั้งที่สร้างด้วยตัวท่านเองและสร้างร่วมกับคณาจารย์ผู้อื่นเช่น พ.ศ.2483 ร่วมมือกับพระครูสิทธิยาภิรัตน์ (เอียด) สร้างพระมหาว่าน ขาว-ดำ และพระมหายันต์ แจกให้ทหารที่ไปรบในสงครามอินโดจีน พ.ศ.2512 ได้สร้างพระเนื้อผงผสมว่าน จำนวน 4 พิมพ์ พ.ศ.2513 สร้างพระปิดตาเนื้อชิน ตะกั่ว พ.ศ.2519 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ได้สร้างเหรียญรูปเหมือนพระอาจารย์นำ และพระกริ่งทักษิณ ชินวโร ซึ่งเป็นวัตถุมงคลรุ่นสุดท้ายของท่าน นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างตะกรุดและผ้ายันต์ไว้มากมาย วัตถุมงคลเหล่านี้เป็นที่เชื่อถือ ศรัทธา ของประชาชนทั่วไป ในวงการพระเครื่องแสวงหากันมาก จนปัจจุบันกลายเป็นวัตถุมงคลที่หาได้ยากยิ่งอย่างหนึ่ง
3. การสร้างอุโบสถ
พระอาจารย์นำได้ดำริจะสร้างอุโบสถสำหรับวัดดอนศาลา โดยได้ปรึกษาหารือกับบรรดาศิษย์ และได้รวบรวมเงินจากผู้มีจิตศรัทธา จากการทอดกฐินบ้าง ทอดผ้าป่าบ้าง จึงได้เริ่มสร้างอุโบสถตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ในการดำเนินการก่อสร้างครั้งนี้ พระอุโบสถวัดดอนศาลาสำเร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งเป็นปีที่ท่านถึงแก่มรณภาพ
วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เวลา ๑๔.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีฝังลูกนิมิต ณ วัดดอนศาลา ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และทรงเยี่ยมอาการอาพาธของพระอาจารย์นำ ชินวโร ที่กุฏิพระอาจารย์นำเป็นเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ “ภ.ป.ร.” ไว้ที่หน้าบันและขอบประตูหน้าต่างอุโบสถทุกบานภายในพระอุโบสถพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าจ้างให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดก ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พระอาจารย์และชาวจังหวัดพัทลุงเป็นอย่างยิ่ง
พระอาจารย์นำ เป็นผู้มีจิตเมตตา กรุณา มีอุเบกขา ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้ที่พบเห็น ท่านได้ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อสังคมโดยส่วนรวมมากมาย และยังเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ องค์ปัจจุบัน ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ดังจะเห็นได้จาก เมื่อพระอาจารย์นำยังมีชีวิตอยู่ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จและทรงเยี่ยมอาการป่วยของท่าน โปรดประทับอยู่ในกุฏินานถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พระอาจารย์นำเป็นอย่างยิ่ง
ขอบคุณ – www.muanglung.com