แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณธรรม

2835
views
ชราอย่างมีคุณธรรม

ความแก่ชรานั้นเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตมนุษย์ จงแก่อย่างมีคุณค่า จงชราอย่างมีคุณภาพ อยู่ไปนานๆให้ลูกหลานเคารพรัก…..

พ่อและแม่

ความแก่มักมาคู่กับความเจ็บและโรคภัย หลายๆ คนที่อายุย่างเข้าสู่วัยชรามีโรคติดตัวมากมาย เป็นโน่น เป็นนี่อยู่ประจำจนทำให้เกิดความท้อแท้ ทนทุกข์ทรมานจนถึงขนาดรำพึงรำพันกันให้

ชราอย่างมีคุณธรรมได้ยินว่า “เมื่อไหร่จะตายไปให้พ้นทุกข์พ้นร้อนเสียที” จนลูกหลานเสียกำลังใจที่จะดูแลและรักษาตัว

วงจรชีวิต ความเกิดแก่เจ็บตาย เป็นสัจธรรมและเป็นกติกาที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตต้องยอมรับ ต่อให้ไม่ยอมรับก็ต้องรับอยู่ดี คือเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ต้องตื่นเต้น ไม่ต้องประหลาดใจ ไม่ต้องเป็นทุกข์ ซึ่งความแก่ธรรมดามีอยู่ ๒ ประเภทคือ

๑. ความแก่แบบปกปิด

ความแก่ชนิดนี้ เรียกอีกอย่างว่า การเจริญเติบโตพูดง่ายๆ ก็คือมันเริ่มขึ้นตั้งแต่เราลืมตาดูโลก เจริญวัยขึ้น แต่ถ้ามองเป็นในอีกแง่มุมความจริงก็คือ เจริญไปสู่ความเสื่อมถอย ถ้ามองแต่ในแง่มุมของทางโลกว่ากำลังเจริญเติบโตอย่างเดียวก็จะตั้งรับไม่ทัน แต่ถ้ามองเห็นธรรมก็จะเห็นว่ายิ่งเจริญมากเท่าไหร่ก็ยิ่งใกล้ความตายไปเท่านั้น

๒. ความแก่แบบเปิดเผย

ความแก่ชนิดนี้ เป็นความแก่ที่เราได้เห็นและได้นับผ่านวันเดือนปีกันมา ได้เห็นความแก่กันเป็นรูปธรรม คือเห็นในศักยภาพที่ลดลง คิด พูด ทำ เดิน นั่ง นอน ช้าลงกว่าปกติ ซึ่งการมองเห็นความแก่แบบเปิดเผยก็จะทำให้เรามองและยอมจำนน คือมีการยอมรับได้อย่างเปิดเผย รับรู้อย่างสงบใจได้และมีความตรงไปตรงมา ก็จะเป็นคนแก่ที่มีความสุข ครองตนได้อย่างน่าเคารพนับถือแก่ลูกหลานต่อไป

 ชราอย่างมีคุณธรรม

การที่คนแก่หลายๆ คน ไม่สามารถยอมรับเรื่องความแก่แบบเปิดเผยได้ก็เพราะยึดติดกับความแก่แบบปกปิดมากเกินไป ไม่รับรู้ว่า แก่แล้วต้องมีเจ็บป่วย มีโรคภัยถามหาเป็นของคู่กันและพยายามยื้อสังขารจนเกินกำลังชีวิตก็ไม่มีความสุข

การมีชีวิตในช่วงชราความจริงแล้วนับเป็น ความสวยงามอย่างหนึ่งคือได้มองเห็นร่างกายที่ผ่านประสบการณ์อันโชกโชน ได้มีโอกาสขอบคุณชีวิตที่ทำให้มีชีวิตมาจนถึงบั้นปลาย ได้มองโลกและมีประสบการณ์เอาไว้สอนคนรุ่นหลัง จึงเรียกได้ว่าแก่อย่างมีคุณภาพ ต่อให้มีโรคภัยรุมเร้าแค่ไหนก็ไม่เป็นทุกข์

เป็นคนแก่อย่างมีคุณภาพควรทำอย่างไร

 ชราอย่างมีคุณธรรม

๑. ไม่เอาแต่ใจ

ขอให้ละคติเดิมที่ว่า แก่แล้วต้องเรื่องมาก แก่แล้วช่วยเอาใจหน่อย ซึ่งผู้อาวุโสมากมายในสังคมชอบโวยวายเมื่อตนเองถูกขัดใจ โดยไม่มีการแยกแยะเหตุผล เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง อยากจะให้โลกทั้งใบต้องหมุนตามฉัน ลูกหลานที่ต้องเหน็ดเหนื่อยมาจากการทำงานก็ต้องมาเผชิญเรื่องน่ารำคาญใจ ทำให้อยากปลีกตัวออกไปไกลๆ ซึ่งไม่นับเป็นผลดีเลย

๒. ไม่ขี้บ่น

หลายคนอาจคิดไปว่า คนแก่มักต้องมีวิสัยขี้บ่นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความจริงแล้วเสียงบ่นเป็นเสียงที่ทำร้ายจิตใจคนรอบข้างได้อย่างไม่น่าเชื่อ คนแก่เมื่อใช้อวัยวะอย่างอื่นได้น้อยลงก็จะใช้อวัยวะที่คิดว่าใช้ได้คล่องที่สุด ใกล้ตัวที่สุดก็คือปากของตนเอง

ซึ่งเมื่อเราแก่ขึ้นก็ยิ่งควรสำเหนียกในสังขารให้มากขึ้น ย้อนคิดกลับไปว่า เราย่อมไม่ชอบที่จะถูกบ่น ถูกว่าใดๆ เช่นกัน และคนแก่ที่บ่นได้น้อยที่สุดก็จะมีลูกหลานมาคอยดูแลเอาใจใส่มากที่สุด เพราะรู้สึกว่าอยู่ด้วยแล้วอบอุ่น เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ความร่มเย็นได้จริง อยู่แล้วไม่ต้องร้อนเพราะคำบ่นว่าต่างๆ

 ชราอย่างมีคุณธรรม

๓. ต้องดูแลสุขภาพของตนให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

เมื่อเราทราบว่าความแก่ย่อมนำโรคภัยมา ก็ควรรักษาและดูแลร่างกายของตนเองไม่ปล่อยปละละเลยให้ ร่างกายเจ็บป่วยเป็นภาระกับคนอื่นด้วยการ รับประทานอาหารให้พอดี ให้เหมาะสมกับร่างกายและโรคประจำตัวที่เป็นอยู่

ฝึกขับถ่ายเป็นประจำ นอนให้เพียงพอ ตัดความวิตกกังวลออกจากจิตใจ มองโลกในแง่ดี เพื่อช่วยยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ที่สำคัญควรมีความสนใจในธรรมะอยู่เสมอ เพราะเมื่ออายุยิ่งสูงขึ้นกิเลสควรจะน้อยลง ความทะเยอทะยานควรจะลดลงจึงจะนับว่าถูกต้อง

ควรใช้ชีวิตในบั้นปลายให้ช้าลง เข้าถึงธรรมะให้มากที่สุด คนในวัยชราไม่ใช่วัยแห่งการต่อสู้แย่งชิงเพื่อตำแหน่งหรือผลประโยชน์ใดๆอีกแล้ว

 ชราอย่างมีคุณธรรม

นอกจากนี้ผู้สูงวัยทั้งชายและหญิง ควรถือศีลทำบุญให้ทานอยู่เสมอไม่ไปก้าวล่วงในสิทธิ หรือเรื่องส่วนตัวของบุตรหลานหรือสมาชิกในครอบครัวให้มากเกินไป คือไม่จำเป็นต้องไปจู้จี้ จ้ำจี้จ้ำไชใดๆ ให้มากเมื่อลูกหลานได้เติบโตแล้ว

หากมีโอกาสก็ควรถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต แนะนำ ฝึกหัด มรดกทางความรู้ และค่านิยมที่ดีงามให้กับลูกหลานต่อไป จึงนับได้ว่าแก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีความหมายและมีความสุขจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

จากหนังสือเรื่อง : เคล็ดวิชาศักดิ์สิทธิ์ ๕ บุญฤทธิ์ พิชิตโรคร้าย (โรคเวรโรคกรรม) โดย ฤทธิญาโณ และจิตตวชิระ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร