ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วได้ชั่วแน่นอน การทำบุญ อย่าหวังสิ่งตอบแทน ทำด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ ด้วยพลังแห่งศรัทธา จะนำมาซึ่งปาฏิหาริย์ เชื่อไม่เชื่อห้ามลบหลู่เด็ดขาด
ด้วยมีศรัทธา เชื่อกันว่าใครที่ได้มาบูชานั้น เงินทองจะไหลมาเทมา โชคลาภจะไหลบ่าไม่ขาดสาย เปรียบเทียบไม่ต่างกับกระแสแรงศรัทธาของผู้คนที่ต่างมุ่งหน้ามางานทอดกฐินที่จะมากันเป็นประจำทุกปี เอาข้าวของ เครื่องใช้ต่างๆมาถวายวัด เอาเงินทองมาร่วมทำบุญ
กฐิน เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้วสามารถรับมานุ่งห่มได้ คำว่า ทอดกฐิน หรือ การกรานกฐิน เป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาทที่มีกำหนดเวลา หรือเรียกกันว่า กฐินกาล
หมายถึงว่า พระสงฆ์ สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้กำหนดระยะเวลาเพียง ๑ เดือน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เท่านั้น
วัตถุประสงค์สำคัญ คือ สร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ อนุเคราะห์ ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด การได้มาของผ้าไตรจีวรพระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามการรับผ้าจากผู้ศรัทธาเพื่อนำมากรานกฐินจึงทำให้เกิดทาน พิธีการถวายผ้ากฐินหรือการทอดกฐินขึ้น จัดเป็นสังฆทานคือถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะลงภิกษุรูปหนึ่งรูปใด
ในเรื่องของ ธงกฐิน หลายคนเห็นธงมานาน แต่อาจยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจความหมายของธง ๔ อันนี้ หมายถึงโลภ โกรธ หลง สติ อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์ และฟื้นฟูให้ทุกคนได้มีความเข้าใจ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะสูญหายไปได้
ธงกฐิน เป็น ครื่องหมายแสดงให้รู้ว่าวัดนี้ได้รับผ้ากฐินแล้ว มี ๔ แบบแฝงด้วยความรู้เกี่ยวกับธรรมะ คติธรรม ประกอบด้วย
๑. ธงเต่า 🐢 สัตว์ที่มีกระดองแข็งคอยคุ้มกันป้องกันภัย หมายถึง สติ ที่คอยระวังรักษา อายตนะทั้ง ๖ (ซึ่งสะท้อนถึงเต่าที่มีกระดองแข็งคอยคุ้มกันป้องกันภัยเมื่อรู้ว่ามีภัยก็จะหดอวัยวะ ซ่อนในกระดองทันที) ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่า วัดปักธงเต่าวัดนี้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว จะปลดลงในวันเพ็ญเดือน ๑๒
๒. ธงนางมัจฉา 🐟 หมายถึง ความหลง (ความหลง ซึ่งสะท้อนถึงเสน่ห์แห่งความงาม ที่ชวนให้หลงใหล ให้เคลิบเคลิ้ม ตัวแทนหญิงสาว) ใช้ประดับ งานพิธีถวายผ้ากฐิน เป็นตัวแทนหญิงสาว ตามความเชื่อว่า อานิสงส์จากการถวายผ้าแก่ภิกษุสงฆ์จะส่งผลบุญให้มีรูปงาม
๓. ธงจระเข้ 🐊 เปรียบถึง ความโลภ (ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพ สัตว์ปากใหญ่กินไม่รู้จักอิ่ม) มีตำนานว่าเศรษฐีเกิดเป็นจระเข้ว่ายน้ำตามขบวนกฐินจนขาดใจตาย ใช้ประดับวัดที่ทอดกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ญาติโยมที่เดินผ่านไปมาเห็นเข้าก็จะยกมือไหว้อนุโมทนาสาธุ
๔. ธงตะขาบ หมายถึง ความโกรธ (ซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาพสัตว์มีพิษ พิษที่เผ็ดร้อน เหมือนความโกรธ ที่แผดเผาจิตใจคน) ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่า วัดนี้มีคนมาจองกฐินแล้ว ให้ผู้จะมาปวารณาทอดกฐินผ่านไปวัดอื่นเลย ไม่ต้องเสียเวลามาถาม
ในปัจจุบัน จะเห็นเพียง ธงจระเข้ และ นางมัจฉา ที่จะปรากฎ ในงานกฐิน ส่วนธงตะขาบ และเต่า พบเห็นได้น้อย จะมีเป็นบางวัด ที่ยังคงรักษา ธรรมเนียมเก่าอยู่…..