พลังแห่งความเมตตา

4634
views
เมตตา

…ความเมตตาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเราสามารถรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่นได้ เมื่อเห็นใครเป็นทุกข์ เราจึงพลอยทุกข์ไปด้วย และอยากช่วยเหลือให้เขาได้รับความสุข

เมตตา

ความเมตตาจึงไม่เพียงเป็นคุณต่อผู้อื่นเท่านั้น หากยังเป็นผลดีต่อเราด้วย เพียงแค่ได้เห็นรอยยิ้มของเขา เราก็มีความสุขแล้ว เป็นความสุขใจที่ส่งผลถึงความสุขกายด้วย มีการศึกษามากมาย ยืนยันว่า ผู้มีเมตตาจิต ชอบช่วยเหลือผู้อื่นเป็นนิจ มักมีสุขภาพกายดี เสี่ยงต่อโรคร้ายน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น

เมตตาจิตนั้น แม้ทำให้เราอยู่เฉยไม่ได้เมื่อเห็นผู้อื่นมีความทุกข์ แต่ก็ทำให้เรามีความสุขได้ง่ายขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะช่วยลดความเห็นแก่ตัวในใจเรา ใช่หรือไม่ว่า ยิ่งมีความเห็นแก่ตัวมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความสุขยากมากเท่านั้น

เพราะเสียนิดเสียหน่อย ก็ทนไม่ได้ มีอะไรมากระทบแม้เล็กน้อย ก็กลุ้มใจ ครั้นได้อะไรมา ก็ไม่มีความสุข เพราะรู้สึกว่าได้น้อยไป อยากได้มากกว่านั้น เพียงแค่เห็นคนอื่นมีความสุขหรือได้ดี ก็อิจฉา

ทำบุญให้ทาน

แต่อาการเหล่านี้จะบรรเทาเบาบางลงเมื่อเรามีเมตตาจิต เราจะนึกถึงคนอื่นมากกว่าตัวเอง ความทุกข์ของเราจะเป็นเรื่องเล็กเพราะรู้สึกว่าคนอื่นทุกข์หนักกว่าเรา

หลายคนพบว่าเมื่อได้ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นแล้ว ชีวิตจิตใจของตนเองเปลี่ยนไป เช่น ใจเย็นมากขึ้น อดกลั้นหนักแน่นกว่าเดิม เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ทำตามอารมณ์น้อยลง

นั่นเป็นเพราะเมื่อเราตั้งใจช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ เราจะเอาตนเองเป็นศูนย์กลางน้อยลง และให้ความสำคัญแก่ผู้อื่นมากขึ้น นี้เป็นวิธีการลดละตัวตนอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่น

ตามคำสอนของพุทธศาสนา เมตตา เป็นคุณภาพจิตอย่างหนึ่ง อยู่ในหมวดที่ชื่อว่า “พรหมวิหาร” ซึ่งคนไทยรู้จักดี แต่มักลืมไปว่ามีธรรมอีกหมวดที่คู่กัน นั่นคือ “สังคหวัตถุ”

เมตตา

พรหมวิหารนั้น เป็นเรื่องของการพัฒนาจิตให้มีคุณภาพ (เรียกง่าย ๆ ว่า “ทำจิต” ส่วน สังคหวัตถุ เป็นเรื่องของการกระทำเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น (หรือ “ทำกิจ”) นั่นหมายความว่า เมื่อมีเมตตากรุณาแล้ว ก็ต้องลงมือกระทำด้วย

เริ่มจาก การแบ่งปันสิ่งของ (ทาน) การพูดด้วยคำสุภาพเกื้อกูล (ปิยวาจา) การขวนขวายช่วยเหลือ (อัตถจริยา) และการปฏิบัติกับผู้คนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย (สมานัตตตา) หากทำเต็มที่แล้ว ไม่สามารถช่วยเหลือเขาให้พ้นทุกข์ได้ จึงค่อยทำใจปล่อยวาง เป็นอุเบกขา อันเป็นข้อสุดท้ายของพรหมวิหารธรรม

ให้ทานชีวิต

เมตตาที่แท้จะกระตุ้นให้เราออกไปช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าเพียงแต่นั่งแผ่เมตตาเฉย ๆ ในห้องนอน ยังไม่อาจเรียกว่าเป็นเมตตาที่แท้ หรือเป็นเมตตาที่มากพอ จึงไม่ช่วยลดละตัวตนได้มากนัก

ดังนั้นถ้าเราต้องการบ่มเพาะเมตตาให้เจริญงอกงาม จึงต้องทำมากกว่าการแผ่เมตตา จะทำอะไรได้บ้างเพื่อเสริมสร้างเมตตาให้งอกงามในใจเรา

เมตตา

พลังแห่งความเมตตา ได้พูดถึงเมตตาที่มากไปกว่าการแผ่ความปรารถนาดีอยู่คนเดียวในห้อง แต่เป็นเมตตาที่กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา โดยเฉพาะในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าคนใกล้หรือคนไกล ผู้เขียนชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า

เมตตานั้นต้องมีความจริงใจเป็นพื้นฐาน แสดงออกด้วยการให้อภัย ไว้ใจผู้อื่น และรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้คนทั้งหลาย เมตตาหมายถึงความใส่ใจกับผู้อื่นที่อยู่เบื้องหน้าเรา มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และรู้สึกชื่นชมเห็นคุณค่าของทุกสิ่ง ยิ่งมีสำนึกรู้คุณมากเท่าใด ความเมตตาปรารถนาดีก็จะท่วมท้นใจมากเท่านั้น

การให้อามิสทาน คือการให้วัตถุทาน

ความเมตตาต่อคนอื่น กับความเมตตาต่อตนเอง เป็นเรื่องเดียวกัน พูดอีกอย่าง ถ้าเรารักตนเอง เราก็ควรรักผู้อื่นด้วย เพราะความสุขและสิ่งดีงามต่าง ๆ ที่เรามอบให้แก่ผู้อื่นนั้น ในที่สุดก็จะย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง ในทางตรงข้ามการเอาเปรียบผู้อื่นก็คือการทำร้ายตนเอง

เพราะสิ่งเลวร้ายที่เรากระทำแก่ผู้อื่นนั้น ไม่ช้าก็เร็วจะย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง เช่น ปรุงจิตของเราให้เป็นคนมักโกรธ หยาบกระด้าง และทำให้สุขภาพเราย่ำแย่ลง ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจอื่น ๆ ที่จะตามมา

เมตตา

พุทธศาสนานั้นสอนว่า เรากับผู้อื่นไม่ได้แยกขาดจากกัน ต่างเชื่อมโยงผูกพันกันทั้งในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์ และเพื่อนร่วมโลกในเครือข่ายความสัมพันธ์อันซับซ้อน ที่ต่างส่งผลต่อกันและกันอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามหลักอิทัปปัจจยตา (“เพราะสิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงมี”)

ดังนั้นความสุขของเรา กับความสุขของผู้อื่นจึงแยกจากกันไม่ออก ถ้าเราอยากมีความสุข ก็ต้องช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขด้วย และยิ่งเราช่วยผู้อื่นโดยไม่ปรารถนาผลตอบแทนเลย เรายิ่งมีความสุขได้ง่ายขึ้น เพราะนั่นแสดงว่าเรานึกถึงตัวเองหรือมีความยึดติดถือมั่นในตัวตนน้อยมาก

เราจะมีความสุขอย่างยิ่งหากเราปลดปล่อยตัวเอง คือไม่ยึดติดถือมั่นหรือหวงแหนในสิ่งใดว่าเป็นของเราเลย

ธรรมทาน
พลังแห่งความเมตตา – พระไพศาล วิสาโล
๒๐ กันยายน ๒๕๕๖

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร