ไม่รู้จักธรรมชาติ ไม่รู้เท่าทันชีวิต จึงมีทุกข์

963
views
ทุกข์

สืบเนื่องจากความไม่รู้หรืออวิชชา เราคงตระหนักแล้วว่า การไม่รู้คือบ่อเกิดแห่งทุกข์ตัวสำคัญ ไม่ว่าจะการไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้วิธีดับทุกข์ ไม่รู้ว่าทำไมจิตเราจึงเกิดทุกข์ หรือไม่รู้สิ่งต่างๆ

ยามเช้า

ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ทำงานอย่างไม่รู้ (จึงทำผิด ทำพลาด ทำไม่ได้ และโดนไล่ออก) ใช้เงินอย่างไม่รู้ (จึงเอาแต่จ่าย จ่าย และจ่าย จนไม่มีเงินเหลือเก็บ และไม่ได้ลืมตาอ้าปากเสียที่) พูดอย่างไม่รู้ (จึงพูดพล่อยๆ ไม่เข้าหูคน หรือพูดโดยไม่ยั้งคิดตอนที่โกรธจัดๆ จนเกิดเรื่อง) กล่าวคือ ความไม่รู้ทำให้เกิดทุกข์ตามมาได้สารพัด

และการไม่รู้ชนิดหนึ่งที่หากไม่ปรับแล้ว ตัวเราเองก็จะไม่มีทางหนีพ้นจากความทุกข์ได้ คือ “ความไม่รู้จักธรรมชาติแห่งชีวิต” หรือ “ไม่รู้เท่าทันว่าชีวิตมันเป็นเช่นไร” ธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ในทางพุทธศาสนานั้น มีต่อไปนี้ครับ

 ชีวิต

๑. ชีวิตคือสิ่งที่ไม่แน่นอน เนื่องจากชีวิตเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลไปตลอด ไม่มีความแน่นอนใดๆ สำหรับชีวิต เช่น วันนี้เราเจอเรื่องดี แต่ก็ใช่ว่าเราจะเจอเรื่องดีไปตลอด วันพรุ่งนี้อาจต่างจากวันนี้โดยสิ้นเชิงก็ได้ แต่ทว่ามนุษย์ส่วนมากกลับลืมหรือไม่รู้เท่าทันธรรมชาติตัวนี้ (หรืออาจรู้ แต่ไม่อยากยอมรับ) จึงเกิดความยึดมั่นถือมั่น หวังให้ชีวิตเป็นไปแบบที่มันเคยเป็น แต่พอชีวิตมันเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นก็ไม่ได้เตรียมใจรับหรือรับไม่ได้ อันทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมา

อย่างความแก่ชรา เหี่ยวย่นของผิวหนัง ซึ่งมันคือความไม่แน่นอนของร่างกายที่ต้องเกิดกับมนุษย์อย่างแน่นอนตามธรรมชาติอยู่แล้ว ทว่าพอเรามีหนังเหี่ยวก็ไม่พอใจ เกิดทุกข์ และพยายามจะไปดึงหน้าทำศัลยกรรม หมดเงินไปเป็นแสนๆ เพื่อทำให้ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นั่นก็คือ “การพยายามทำให้ความไม่แน่นอนกลายเป็นความแน่นอน”

ผู้หญิง

๒. ชีวิตย่อมเป็นไปตามกรรม ในทางฟิสิกส์ เราจะทราบดีว่า ทุก การกระทำ (Action) จะมี แรงปฏิกิริยาสะท้อนกลับต่อการกระทำนั้นเสมอ (Reaction) ซึ่งหลักที่ว่าก็สอดคล้องกับกฎแห่งกรรมของศาสนาพุทธ ที่ว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำดีย่อมได้ดี ทำไม่ดีย่อมได้รับผลจากสิ่งที่ไม่ดีเป็นธรรมชาติอีกประการของชีวิต

แต่คนเรากลับชอบเผลอไผลทำสิ่งไม่ดีลงไป แล้วก็มาโอดครวญยามต้องได้รับผลแห่งการทำสิ่งไม่ดีนั้น หรือบางครั้งเราทำดีก็จริง แต่ความดีอาจยังไม่ได้กลับมาหาเราในทันที ก็กลายเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ท้อแท้หมดกำลังใจไปได้

เส้นทางของชีวิต

๓. ชีวิตมาพร้อมสัญชาตญาณ มนุษย์เราเกิดมาแท้จริงแล้วก็คือสัตว์โลกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่เหนือกฎแห่งธรรมชาติของสัตว์ที่ว่า เราย่อมมีสัญชาตญาณ ซึ่งสัญชาตญาณนี้ก็คือกลไกของจิตและร่างกายมนุษย์ หน้าที่หลักของมันก็คือการดูแลและควบคุมสั่งการให้เราสามารถมีชีวิตรอดต่อไปให้นานที่สุด

ทีนี้บางสัญชาตญาณของมนุษย์ ก็ไม่ต่างจากสัตว์ โดยเฉพาะสัญชาตญาณการเอาตัวรอดหรือการตอบสนองต่อภัยคุกคาม อย่างเช่น สุนัขที่กัดคนยามมันคิดว่าคนจะมาทำร้าย คนก็เช่นกันครับ ยามเกิดปัญหาเราก็อาจตอบโต้ปัญหากลับไปด้วยสัญชาตญาณที่มีความรุนแรง

อย่างมีคนด่าเรา หากเราตอบสนองโดยสัญชาตญาณล้วนๆ (โดยปราศจากสติ การยั้งคิด หรือการขัดเกลาทางสังคม) เราก็อาจด่ากลับหรือไม่ก็ทำสิ่งที่รุนแรงกว่านั้น หรือเมื่อมีคนทำให้เราเจ็บ เราก็อาจโต้กลับไปด้วยความเจ็บปวด

ปีใหม่ ทำชีวิตใหม่

จุดสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ก็คือ การเข้าใจธรรมชาติทั้งหมดของชีวิต รู้ว่ามันมีความไม่แน่นอนที่เกิดกับเราได้เสมอ รู้ว่าการกระทำของเรานั่นเองที่ส่งผลกระทบต่ออนาคต (และในบางกรณี การกระทำของคนอื่นก็อาจมามีผลต่อตัวเราได้เช่นกัน

ซึ่งโปรดสังเกตคำว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ให้ดี จะเห็นว่าคำกล่าวนี้ไมได้เฉพาะเจาะจงกับผู้ใด แต่เป็นการสรุปรวมว่าสัตว์โลกทั้งหมดย่อมเป็นไปตามกรรม แม้แต่กรรมของสัตว์โลกตนหนึ่ง ก็อาจมีผลต่อสัตว์โลกอีกตนได้) และรู้ว่าเรานั้นมีสัญชาตญาณทั้งดีและไม่ดีผสมอยู่ในจิตใจและร่างกาย

หากเราดำเนินชีวิตโดยไม่ทำให้ตนรู้ความจริงเหล่านี้ เราก็ย่อมวนเวียนกับทุกข์อย่างไม่เข้าใจและไม่อาจหาทางออกใดๆ ได้ เหมือนคนหลงทางที่ไปไหนต่อไม่ได้ เนื่องจากไม่อ่านแผนที่ให้เข้าใจเสียก่อน

by : /torthammarak

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร