๏ ถึงแม้เป็นเด็กเล็ก แต่ถ้ามีปัญญาดีก็เป็นผู้ใหญ่ได้ ส่วนคนโง่ถึงจะมีร่างกายใหญ่โต ก็เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้
ในหมู่พระมหาสาวก (สาวกผู้ใหญ่) ของพระพุทธเจ้านั้น มีพระลกุณฏกภัททิยะเถระ เป็นพระอรหันต์ที่มีรูปร่างอัปลักษณ์คือ ร่างกายค่อมเตี้ยเล็กดูราวกับเด็กเหมือนเป็นสามเณรจึงมักถูกเข้าใจผิดโดนพระภิกษุ ล้อเล่นอยู่เสมอๆ
มีอยู่วันหนึ่ง ภิกษุประมาณสามสิบรูปเดินทางมาจากชนบท ต้องการจะมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ก็ได้พบเห็นพระลกุณฏกภัททิยะเถระที่ซุ้มประตูพระเชตวันมหาวิหาร ก็พากันคิดว่าพระเถระเป็นสามเณรน้อย จึงแกล้งหยอกเล่น มีการดึงหูท่านเล่นบ้าง ลูบจับศีรษะบ้าง ยกตัวเขย่าบ้าง ทำเหมือนท่านเป็นเด็กทารกน้อย แล้วค่อยพากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ได้ตรัสทักทายด้วยสักครู่แล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงทูลถามว่า
“ข้าแต่พระผู้พระภาคเจ้า ได้ยินเสียงร่ำลือว่ามีพระเถระรูปหนึ่งชื่อลกุณฏกภัททิยะเถระ เป็นพระมหาสาวกของพระองค์ ได้ยินว่าเป็นผู้เป็นเลิศในการแสดงธรรมได้ไพเราะ บัดนี้พระเถระนั้นอยู่ที่ไหน พระเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยฌานก่อนหน้านี้แล้วจึงบอกว่า “พวกเธอได้พบแล้วมิใช่หรือที่ซุ้มประตู แล้วยังพากันคะนองมือหยอกล้อเล่นด้วย ภิกษุนั้นแหละคือ ท่าน ลกุณฏกภัททิยะ”
ภิกษุเหล่านั้นพากันตกใจในการกระทำที่ไม่เคารพต่อพระเถระผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เป็นพหูสูต (ผู้มีความรู้มาก) เป็นพระธรรมกถึก(นักเทศน์)ที่แสดงธรรมได้ไพเราะ และเป็นพระอรหันต์จึงนึกพากันตำหนิตัวเอง แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ จนต้องทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เพราะเหตุใดพระเถระที่มีความสามารถมากมายเช่นนั้นจึงมีรูปกายทรามเตี้ยค่อม ไม่น่าดูเช่นนี้
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเล่า หนี้กรรมที่พระลกุณฎกภัททิยะเคยกระทำไว้ในอดีตชาติ แม้ในชาตินี้จึงไม่อาจหลีกหนี้พ้นผลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วได้
อดีตกาล ในสมัยของพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ซึ่งก็คือ อดีตชาติของพระลกุณฎกภัททิยะ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีนิสัยเลวร้ายอยู่อย่างหนึ่งคือ ทรงโปรดกลั่นแกล้งสัตว์แก่ๆ หรือคนชรา แล้วเห็นเป็นความสนุกสนาน เช่น ให้ต้อนสัตว์ วิ่งไล่แข่งกีฬากัน นำคนแก่มาเล่นหกคะเมนตีลังกาให้เป็นที่พอพระทัย
หากพระองค์ได้สดับข่าวว่า ที่ใดมีสัตว์แก่ๆในที่โน้น มีคนชราในที่นั้น ก็จะรับสั่งให้นำตัวมา แล้วบังคับให้เล่นสนุก ตามที่พระองค์ทรงปรารถนา ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายจึงต่างพากันเอือมระอาในเรื่องนี้ จำต้องส่งบิดามารดาที่ชราภาพแล้วให้ไปอยู่ ในแคว้นอื่น ทำให้ชาวเมืองที่ยึดมั่นในพระรัตนตรัยและยึดถือในมงคลชีวิตต้องอดเลี้ยงดูบิดามารดาของตน เพราะไม่อยากให้บิดามารดาได้รับความลำบาก ตกเป็นเครื่องเล่นของพระราชา
พวกข้าราชการในราชสำนักไม่เพียงแต่ไม่ห้ามปรามพระองค์เท่านั้น กลับยังพอใจในการเล่นสนุกไปด้วย ความเดือดร้อนนี้จึงแผ่กระจายทุกหย่อมหญ้าร้อนไปถึงท้าวสักกะจอมเทพหรือพระอินทร์ทรงทราบเหตุ แล้วก็ดำริว่า “เราจะต้องทรมานพระเจ้าพรหมทัตให้สำนึกบ้าง”
ว่าแล้วพระอินทร์ก็จัดการแปลงพระองค์เป็นคนแก่ บรรทุกตุ่มน้ำมันสองใบ ใส่บนเกวียนเก่าๆ เทียมด้วยวัวแก่ ๒ ตัว แล่นไปในงานมหรสพ ซึ่งพระเจ้าพรหมทัตทรงช้างเสด็จเลียบพระนครอยู่ พอพระราชาทอดพระเนตรเห็นเกวียนเก่าๆ เทียมด้วยวัวแก่ๆ ก็ทรงนึกสนุกขึ้นมาทันที รับสั่งให้ไปนำเกวียน นั้นมา
ท้าวสักกะจึงทรงแสดงอิทธิฤทธิ์ขับเกวียนลอยขึ้นอยู่เหนือพระเศียรของพระราชา แล้วทุบตุ่มน้ำมันให้แตกไหลลงมาราดรดเปรอะเปื้อนทั่วพระวรกาย พระราชาตกพระทัยและอับอายมาก อีกทั้งขยะแขยงน้ำมันที่เหนียวเหนอะหนะยิ่งนัก ท้าวสักกะทรงเห็นเป็นโอกาสแล้ว จึงเนรมิตพระองค์กลับเป็นท้าวสักกะอย่างเดิม ประทับยืนบนอากาศแล้วตรัสอบรมว่า
“ดูก่อน พระราชาผู้ชั่วช้า ท่านเบียดเบียนสัตว์แก่และคนชราอยู่เสมอ ชะรอยท่านจะไม่แก่บ้างเชียวหรือ ความชราจะไม่มาถึงกายของท่านหรืออย่างไร ท่านมัวแต่เห็นแก่เล่นสนุก ทำร้ายคนแก่มากมาย ทำให้ลูกหลาน ไม่อาจเลี้ยงดูบิดามารดาของตนได้ ฉะนั้นหากท่านไม่งดการกระทำอย่างนี้ เราจอมเทพผู้เป็นใหญ่ จะทำลาย ท่านเสียด้วยวชิราวุธ (สายฟ้า) นับตั้งแต่นี้ไปท่านจงอย่าทำกรรมชั่วนี้อีกเลย”
ท้าวสักกะจอมเทพจึงทรงชูวชิราวุธในพระหัตถ์ขึ้นทำให้พระราชาตกใจกลัวมาก จากนั้นก็ตรัสสอนถึงคุณของบิดา มารดา ทรงบอกผลบุญผลประโยชน์ของการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้สูงอายุ แล้วจึงเสด็จกลับไปวิมานของพระองค์ ตั้งแต่วันนั้นมา พระราชาก็ไม่ได้แม้แต่คิดที่จะเบียดเบียนสัตว์แก่และคนชราเอามาเล่นสนุกอีกเลย
พระพุทธองค์ตรัสชาดกนี้จบแล้ว ทรงเฉลยให้รู้ว่า พระเจ้าพรหมทัตในครั้งนั้น ได้มาเป็นลกุณฏกภัททิยะเถระในบัดนี้ ผู้มีร่างกายเตี้ยค่อมต้องถูกกลั่นแกล้งถูกล้อเล่นจากผู้อื่นเสมอๆ นี่ก็เพราะผลกรรมที่ชอบเล่นสนุกในครั้งนั้นนั่นเอง ส่วนท้าวสักกะจอมเทพก็คือ เราตถาคตในบัดนี้ จากนั้นก็ได้ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า
“อีเก้งก็ตาม หงส์ก็ตาม ช้างก็ตาม ไม่ว่าสัตว์ใหญ่สัตว์เล็ก ล้วนกลัวราชสีห์ทั้งนั้น ไม่ได้ถือเอาร่างกายใหญ่โต เป็นประมาณฉันใดในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น ถึงแม้เป็นเด็กเล็ก แต่ถ้ามีปัญญาดีก็เป็นผู้ใหญ่ได้ ส่วนคนโง่ถึงจะมีร่างกายใหญ่โต ก็เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้”
เมื่อทรงประกาศธรรมจบแล้ว บรรดาภิกษุเหล่านั้นบางพวกก็ได้บรรลุโสดาบัน บางพวกก็ได้บรรลุสกทาคามี บางพวก ก็ได้บรรลุอนาคามี บางพวกก็ได้บรรลุพระอรหันต์ ณ ที่ตรงนั้นเอง คำสอนในพระสูตรนี้แม้จะมีใจความสำคัญเรื่องการให้ความสำคัญด้านสติปัญญามากกว่ารูปกาย แต่ก็แสดงผลแห่งกรรมที่ตกทอดมาแบบข้ามภพชาติได้ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นเศรษฐี ยาจก หรือพระราชา ก็ไม่อาจหนีพ้นกรรมของตนเองได้ทั้งสิ้น