วิธีการรักษาศีลที่ถูกวิธี คำสอนในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

1249
views
รักษาศีล

วิธีการรักษาศีลที่ถูกวิธี คำสอนในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราชมากล่าวนำไว้ในที่นี้ว่า

“การรักษาศีลนั้นในชั้นแรกย่อมรู้สึกลำบาก ยากที่จะปฏิบัติอยู่บ้างเป็นของธรรมดา เพราะยังไม่เคยกระทำ แต่เมื่อเชื่อใจแน่วแน่ต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นคำสอนที่ดี มีคุณประโยชน์แก่ผู้ประพฤติตามได้อย่างจริงใจแล้ว อดทนปฏิบัติตามไปด้วยอุตสาหะพากเพียร

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์)

ในไม่ช้าการที่การที่เห็นว่าเป็นของยากลำบากทำไม่ได้ ก็จะกลายเป็นของง่าย ทำตามไปได้อย่างเป็นปกติ ไม่รู้สึกลำบากเช่นเดียวกับ กิริยายืน เดิน นั่ง นอนซึ่งแต่เดิมเราก็ทำไม่เป็น แต่เมื่อร่างกายค่อย ๆเติบโตขึ้น ได้พยายามฝึกหัดกิริยาเหล่านี้มาแต่เล็กแต่น้อย จึงค่อยกระทำได้คล่องแคล่วอย่างเป็นปกติธรรมดา ด้วยความเคยชินตามระยะเวลาที่เติบโต

จึงสมควรอย่างยิ่งที่ชาวพุทธทั้งหลายจะได้ตั้งใจสำรวมระวังกายวาจาของตนตามองค์แห่ง ศีล ๕ นี้ให้เป็นคุณสมบัติประจำใจตลอดไปทุกวันคืนจะทำให้มีกำลังผ่องใส เบิกบานสุขกาสบายใจอย่างแท้จริง เท่ากับได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น ตามที่โบราณว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจฉะนั้น…”

จากคำสอนของท่านแสดงให้เห็นว่า การรักษาศีลแท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่ง่าย เหมือนการที่เราต้องดำรงชีวิตประจำวันเพียงแต่ต้องกระทำอย่างจริงจังและมีความมุ่งมั่นสม่ำเสมอ มากพอ และ นานพอจึงจะเป็นบาทฐานแห่งบุญให้เต็มพอจะนำไปใช้หนี้กรรมต่อทุกคนได้

ไหว้พระ

วิธีการถือรักษาศีลให้เกิดผล

การรักษาก็คือการถือเว้น แน่นอนว่าบางสิ่งบางอย่างที่เราเคยกระทำอาจเป็นสิ่งที่ผิดศีล เช่นเผลอตบยุงบ้าง เผลอหยิบของของคนอื่นไปใช้โดยไม่บอกกล่าวบ้าง เผลอพูดจาว่าร้ายโกหกบ้าง และมีพฤติกรรมชอบดื่มอยู่เป็นประจำ

การถือปฏิบัติรักษาศีลด้วยการ “งดเว้น” จึงดูเหมือนเป็นข้อห้ามที่ทำให้รักษาได้ยาก อะไรที่ถูกห้ามมักจะทำให้เราอยากจะฝ่าฝืนเสมอ การรักษาศีลจึงต้องมีตัวช่วยที่ทำให้เกิดกำลังใจที่จะกระทำเพื่อให้บรรลุผลเรียกว่า “พละ ๕”

พละ ๕ แปลง่ายๆ ว่า “พลัง” ซึ่งพลังที่ว่าก็คือพลังที่ใช้กับจิตใจ การที่เราทำอะไรไม่ค่อยจะสำเร็จหรือพบความยากลำบากทุกครั้งก็เพราะ พละ ๕ นั้นไม่ค่อยมี หรือจะมีก็มีน้อย แต่หากมีธรรมทั้ง ๕ อย่างนี้ประกอบกันเข้าแล้วทำให้ใจมีพลังแก่กล้าและทำให้ทุกอย่างประสบความสำเร็จได้ ธรรมทั้ง ๕ อย่างนั้นได้แก่

เข้าวัดปฏิบัติธรรม

๑. ต้องมีความเชื่อ (ศรัทธา) คือเชื่อแน่วแน่ในคุณงามความดีว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่มีใครคนอื่นรับแทนได้ ตนทำตนต้องได้รับผลนั้นแน่นอน คนที่ประมาทดูถูกศรัทธาในคุณงามความดี

ก็เลยไม่กล้าทำความดีต่อไป ไม่กล้าที่จะรักษาศีล เมื่อไม่มีศรัทธาที่ถูกต้องก็ป่วยการที่จะรักษาศีลได้ เพราะไม่มีความเชื่อถือว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นับเป็นภัยต่อการรักษาศีลอย่างที่สุด

การที่เราทำอะไรหละหลวมในการรักษาศีล ก็เพราะเหตุไม่มีศรัทธา และทำอะไรไม่แน่วแน่เต็มที่ก็เพราะไม่มีศรัทธาเหมือนกัน เรามักพลั้งเผลอ หลงลืม นั่นคือศรัทธาของเราไม่เต็มที่ แต่เมื่อศรัทธามีแล้ว ความเพียร มันก็จะวิ่งเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือเป็นกำลังในการกระทำ

ขยันหมั่นเพียรประกอบกิจต่างๆเช่น เมื่อเชื่อว่าบุญมีบาปมี ก็ตั้งหน้าตั้งตารักษาศีลป้องกันความชั่วไม่ให้เข้ามา ซึ่งผลก็คือ สุขกาย สุขใจ ชีวิตมีแต่ความสงบ ไม่มีเรื่องเดือดร้อนให้รำคาญใจ เพราะศีลสมบูรณ์

สัมผัสที่ 6

๒.ต้องมีความเพียร (วิริยพละ) เพียรพยายามอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อมีศีลก็พยายามรักษาศีลไม่ให้ขาด ทีแรกก็รักษาได้เป็นครั้งคราวเพียรพยายามนานเข้าให้มันชินให้มันคุ้นเคยกับศีล มันก็เป็นศีลบริบูรณ์ขึ้นมาให้คิดถึงเรื่องศีลของตน ว่าข้อไหนบกพร่องข้อไหนบริบูรณ์แล้วก็พยายามรักษาข้อที่บกพร่องให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

ผู้ที่ไม่คิดถึงศีลเลย เชื่อว่ามีของดีแล้วได้ของดีแล้วแต่ไม่เห็นความของของดีนั้น ก็เปรียบเหมือนลิงได้แก้ว ไก่ได้พลอย ไม่เห็นคุณค่าที่จะรักษาไว้เมื่อเสียของไปแล้วก็ยากที่จะหามาได้ใหม่ กว่าจะสร้างใหม่ให้ได้บริบูรณ์เหมือนเดิมก็ต้องใช้เวลานาน เท่ากับเป็นการสูญเวลาเปล่า

สัมผัสพิเศษ

๓. มีสติตั้งมั่นอยู่กับเรื่องนั้น (สติพละ) หมาความว่า แม้จะมีศรัทธา หรือมีวิริยะแล้ว เราอาจที่จะหลงเชื่อในสิ่งที่ผิดก็ได้ หรือเพียรพยายามในสิ่งที่ผิดก็มี ถ้าหากไม่มีสติไม่ควบคุมไว้ว่า สิ่งนั้นควรหรือไม่ควรสิ่งนั้นผิดหรือถูก ถูกต้องตามธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ฟังคำครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนตักเตือนมันตรงกันหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องมีสติควบคุมระวัง จึงจะเดินถูกทาง

บางทีการที่เราเชื่อและมีความเพียรทำในสิ่งที่เชื่อ ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งผิดก็จะทำให้ยิ่งหลง บางคนก็ถือรักษาศีลอย่างผิดๆ เช่นเชื่อว่ารักษาศีลแล้วจะได้ไปสวรรค์ชั้นนั้น ชั้นนี้ ไม่ได้เชื่อว่าการรักษาศีลเป็นการกระทำเพื่อเป็นพื้นฐานในการป้องกันตนจากความชั่ว ก็จะพากันถือศีลอย่างงมงาย หรือถือกันแบบเคร่งครัด วิตกกังวลจนเกินไป จนทำให้ชีวิตเคร่งเครียดไม่มีความสุข อย่างนี้เป็นต้น แต่ก็ยังเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูกและพยายามชักนำให้คนอื่นเชื่อว่าถูกตามตนไปด้วย ก็นับว่าอันตรายยิ่งนัก

หลวงปู่ เทสก์ เทสรังสี พระอริยสงฆ์แห่งวัดหินหมากเป้ง จ. หนองคายกล่าวไว้ว่า “ คนใดว่าตนดี คนนั้นยังไม่ดี ใครว่าตนวิเศษวิโสหรือฉลาดเฉียบแหลม คนนั้นคือคนโง่ ” ดังนั้นการจะทำอะไรๆ ก็ตามควรจะมีสติคอยประคับประคองอยู่เสมอจึงจะทำได้สำเร็จอย่างตลอดรอดฝั่ง

สมาธิ

๔. มีจิตตั้งมั่น (สมาธิพละ) ถือเป็นหลักใหญ่ที่สุด ศรัทธา วิริยะ สติ แล้วก็จะรวมมาเป็นสมาธิ การกระทำสิ่งใดก็ตามถ้าจิตไม่สามารถรวมเป็นสมาธิได้ มันเตลิดเปิดเปิงไปใหญ่โต

ยกตัวอย่างเช่น การทำมาหากินประกอบอาชีพไม่ว่าจะ ค้าขาย ทำราชการบ้านเมืองอะไรต่าง ๆ จุดรวมหรือเป้าหมายก็คือมาเลี้ยงตัว จุดรวมก็คือ “หาเงิน” หาเงินแล้วก็รวมเอาเงินเข้ามาเก็บและใช้ประโยชน์ฉันนั้น การมีจิตตั้งมั่นแน่วแน่ในการรักษาศีลก็จะเป็นจุดรวมให้พึงละเว้นในการกระทำชั่วทุกอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนการจะเกิดสมาธิได้อย่างไรก็ต้องอาศัยบาทฐานพละทั้ง ๓ อย่างที่กล่าวมาแล้วเป็นตัวตั้ง และทำอย่างสม่ำเสมอ สมาธิจึงเกิดได้

๕. มีปัญญา (ปัญญาพละ) คือปัญญาพิจารณาเห็นความจริงแห่งการผิดศีลว่าจะเกิดผลเสียอย่างไรตามธรรมชาติและความเป็นจริง และปัญญานี่เองเป็นตัวที่จะควบคุมและบ่งบอกการรักษาศีลให้มีประสิทธิภาพได้สูงสุด

เราละเว้นการฆ่าสัตว์ได้ เพราะศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสในเรื่องบาปบุญคุณโทษ เราละเว้นการลักทรัพย์ได้เพราะมีความเพียรพยายามละชั่ว ระวังความชั่วนั้นไม่ให้เกิด เราละเว้นการผิดลูกเมียผู้อื่นได้เพราะมีสติในกาย ในความรู้สึก ในจิต และ ในธรรมว่าคนของใคร ใครก็รัก

เราละเว้นการพูดปด พูดหยาบคาย พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อได้ เพราะมีสมาธิ ความตั้งใจมั่นในความดี และเราสามารถละเว้นการดื่มสุราได้ เพราะมีปัญญา ความรอบรู้ว่า เป็นเหตุแห่งอกุศลกรรมทั้งมวล

ศีลหรืออะไรก็ตามที่ว่ายาก จะกลายเป็นของง่ายเพราะได้ลงมือทำด้วยกำลังใจ เราจึงไม่ควรแต่คิดจะรักษา แต่ต้องลงมือทำหากอยากจะประสบความสำเร็จ ต้องลงมือทำ ทุกสิ่งที่คิดว่ายากนั้นยากเพราะคิด แต่สัมฤทธิ์เพราะทำทั้งสิ้น

จากหนังสือเรื่อง เคล็ดวิชาศักดิ์สิทธิ์ ๗ พ้นเวร พ้นกรรม รวยฉับพลันต้องทำอย่างไร โดย อมตะ เทพรักษา

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร