…..ในอริยมรรคมีองค์แปดนั้น พระพุทธองค์กล่าวชัดเจนว่าด้วยศีลก็คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ศีลเป็นการสำรวมกายวาจาและใจ ถ้าใครที่ไม่สำรวมกายวาจาและใจ คนๆ นั้นก็จะลำบาก ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ธรรมชาติของใจนั้น จะนิยมชมชอบ ในสิ่งต่างๆ เช่น ตามองดูหรือเห็นนั้น จะชอบในรูปสวยๆ ถ้าจมูกได้กลิ่นก็จะชอบในกลิ่นหอมๆ ใจก็จะปรุงแต่งในสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น เมื่อใจชอบก็จะเป็นความโลภ หากใจไม่ชอบก็จะเป็นความโกรธ
เมื่อใจมีความโลภ ร่างกายก็จะขวนขวาย ในสิ่งที่ตนเองอยากได้ เช่นเมื่อทรัพย์สินเงินทองข้าวของทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเองต้องการและปรารถนามาเป็นของตนก็จะทำทุกวิถีทางทั้งทางสุจริตบ้าง ทุจริตบ้าง โดยที่ไม่สนใจในคุณความดีก็เลยอาจทำบาปโดยที่ไม่รู้ว่า
จิตใดก็ตามที่มีความโลภอยู่ตลอดเวลาก็ยิ่งเป็นจิตที่สามารถสร้างเวรสร้างกรรมผูกพันหนี้สินให้เกิดขึ้นกับคนอื่นได้อีกไม่รู้จักจบสิ้น
ความโกรธก็เช่นเดียวกันเมื่อเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว ก็จะมีการ อิจฉาริษยา อาฆาตพยาบาท จองเวร ไม่มีที่สิ้นสุด ความโกรธนี้ จะเผาไหม้คุกกรุ่นอยู่ในจิตใจอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีเวลาและโอกาส จิตแห่งความโกรธนี้จะทำลายฝ่ายตรงข้าม ใจนี้ก็จะสั่งกายทำ สั่งวาจาพูด แต่ในสิ่งที่ไม่ดี คือสิ่งที่ไม่ดีที่จะพาไปสู่ความทุกข์คือผูกพันให้สร้างหนี้โกรธ หนี้แค้นกันต่อไป
ส่วนโมหะ คือ ความหลง ได้แก่ความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง และคนโง่ก็มักจะทำแต่เรื่องโง่ๆ เพราะความเขลาในปัญญาและมีโอกาสที่จะสร้างหนี้กรรมต่อกันได้ไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งถ้าไม่รู้วิธีรักษาศีลที่จะป้องกันตนจากความชั่วร้ายและความทุกข์แล้ว ก็ยิ่งไม่มีโอกาสที่จะหลุดพ้นหนี้กรรมใดๆ ไปได้เลยแม้แต่กรรมเดียว
พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ด้วยการสั่งสอนให้ทุกชีวิตรู้จักรักษาศีล เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนได้แก่
๑. การไม่ฆ่าสัตว์ สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตย่อมไม่ต้องการและปรารถนาให้ใครมาฆ่าและทำร้ายตนเอง ถ้าใครฆ่าสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ คนเหล่านั้นในอนาคต
ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ก็จะเป็นคนที่มีอายุสั้น เกิดมาไม่นานก็ตาย ถ้าไม่ตายคนนั้นๆจะมีโรคประจำตัวมีความเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา รักษาก็ไม่หาย เป็นหนี้เวรหนี้กรรมที่ต้องตามชดใช้กันไม่หมดสิ้น ดังนั้นถ้าหยุดฆ่าได้ก็เป็นการหยุดสร้างหนี้ให้เกิดขึ้น
๒. การไม่ลักทรัพย์หรือทำลายทรัพย์ของผู้ใด ทรัพย์ของใครใครก็หวง ถึงจะไม่มีราคา สิ่งมีชีวิตก็ย่อมมีจริตหวงแหนของตนเองเช่นเดียวกัน
ถ้าใครมาลักของที่ตนเองมีอยู่นั้น จะทำให้คนนั้นๆ มีความอาฆาตพยาบาท และคนที่ทำอย่างนี้มาตั้งแต่อดีต ถ้าในปัจจุบันคนเหล่านี้ทำกิจการอันใดก็ตามก็จะไม่ค่อยสำเร็จ เพราะมีเจ้าหนี้คือเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายมาคอยตามทวงอยู่ตลอดเวลา
๓. การไม่ประพฤติผิดลูกผิดเมียผู้อื่น การที่ใจเรานั้นมีความต้องการ และปรารถนาในสามี ภรรยา บุตร ธิดา ของคนอื่นด้วยความล่วงละเมิด
โดยที่เขาเหล่านั้นไม่ได้มีความยีนดี ยินยอมพร้อมใจหรือไม่ได้เต็มใจจะยกให้ก็ย่อมสร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่นได้ และกลายเป็นหนี้กรรมกันขึ้นมาได้
เพราะเจ้าของร่างกายผู้ถูกละเมิดไม่ได้เป็นเพียงของเจ้าตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นของ พ่อแม่ผู้ปกครอง ต่อให้ไม่มีเจ้าของซึ่งเป็นคนโสดแต่ก็มีเจ้าของคือผู้ให้ชีวิตอย่างพ่อแม่เป็นเจ้าของอยู่ดี และเมื่อเจ้าของร่างกายถูกละเมิดถ้าเขาไม่ทวงคืน เจ้าของร่างกายนอกเหนือจากเจ้าตัวก็จะต้องเป็นผู้ที่ทวงคืนเช่นกัน
๔. การไม่พูดปด หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ การที่เราจะต้องรักษาศีลข้อนี้ให้ดี ๆ ก็ เพราะทุกคนย่อมปรารถนาจะได้ความจริงไม่ต้องการถูกหลอกลวงด้วยกันทั้งสิ้นไม่ใช่ว่า เราหลอกคนอื่นได้แต่คนอื่นหลอกเราไม่ได้อย่างนี้ก็ไม่เป็นการยุติธรรมต่อผู้อื่นและมีโอกาสสร้างเวรกรรมต่อกันเพราะความเท็จด้วย
นอกจากการละเว้นในการพูดโกหกแล้วพระพุทธเจ้ายังทรงบัญญัติไม่ให้พูดโกหกโดยอ้อมเพิ่มเติมด้วย เช่นการพูดประชดเสียดสี ด่าทอ พูดสับปลับเหลวไหล เมื่อทำสัญญาใดต่อกันแล้วก็ต้องรักษาสัญญาไม่บิดพลิ้วไม่กลับคำ พูดตรงไปตามเรื่องเท่านั้นและทำให้จริงตามที่พูดจึงจะได้ชื่อว่ารักษาศีลข้อนี้
หากจะมองพิจารณาให้เห็นผลประโยชน์ที่ชัดขึ้นก็คือ การพูดความจริงนั้นไม่ต้องคิดมากพูดตรงไปตามเรื่องราวที่เกิดไม่ต้องไปคิดค้นเปลี่ยนแปลง ตรงกันข้ามกับการพูดไม่จริงต้องคิดค้นคำพูดเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหากจำคำพูดโกหกที่ตนเองพูดไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนเรื่องเสียเรื่อยไปจนคนฟังเกิดความสับสนและไม่แน่ใจได้ว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่และสามารถจับพิรุธโกหกได้ไม่ช้าก็เร็ว
๕. การงดเว้นจากการเสพของมึนเมาและสิ่งเสพติด การที่เราต้องรักษาศีลข้อนี้ให้ดีให้ได้ก็เพราะโดยปกติธรรมชาติของคนเราก็มีความประมาทกันอยู่แล้ว มักจะขาดสติมากบ้างน้อยบ้างต้องคอยระมัดระวังไม่ให้ทำผิดกันอยู่เสมอ จนเป็นคำคมของนักปราชญ์ที่ว่า “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง”
แปลความได้ง่าย ๆว่า ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์และไม่มีมนุษย์คนใดที่ไม่เคยทำความผิดคนที่ไม่ทำผิดย่อมเป็นคนที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ดังนั้นเมื่อเรายิ่งไปดื่มของมึนเมาเข้าแล้วก็ยิ่งทำให้ขาดสติมีความประมาทมากขึ้น ๆ
และก็ยิ่งทำให้ผิดมากขึ้นไปอีกและที่สำคัญอาจจะทำผิดศีลได้หมดทุกข้อที่กล่าวมา เพราะขาดสติแล้วก็กลายเป็นคนหลงเต็มที่ ไม่รู้เหตุผลว่าควรไม่ควร ไม่รู้จักแยกแยะผิดถูกเหมือนคนที่ทิ้งตัวเองให้ตกน้ำไปช่วยตัวเองก็ไม่ได้ ใครจะช่วยก็ไม่ได้เพราะไม่อาจจะเมาแทนกันได้
อีกประการหนึ่งก็คือ สิ่งที่เรียกว่าศีลทั้งหมดนั้นคือการปฏิบัติให้ตรงให้เป็นปกติโดยกาย วาจาและใจ เมื่อเผลอดื่มน้ำเมาเข้าไปแล้วก็ประมาทเสียความเป็นปกติทั้งกายวาจาใจไปได้หมด หรือถึงแม้กายและวาจาจะยังไม่ได้ทำผิดแต่ใจก็เสียไปแล้ว….
จากหนังสือเรื่อง เคล็ดวิชาศักดิ์สิทธิ์ ๗ พ้นเวร พ้นกรรม รวยฉับพลันต้องทำอย่างไร โดย อมตะ เทพรักษา