ไตรสิกขา เป็นหลักธรรมที่ใช้พัฒนาตนเอง พัฒนาชีวิตเพื่อให้ประสบความสำเร็จเป็นคนสมบูรณ์แบบตามแนวพุทธ ไตรสิกขา จึงจัดอยู่ใน มรรค (ธรรมที่ควรเจริญ) คือ ควรทำให้เกิดมีขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิต
ไตรสิกขา เป็นคำที่ชาวพุทธรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ส่วนใหญ่จะแค่ ‘รู้’ แต่ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าศีล สมาธิ ปัญญาคืออะไร และจะปฏิบัติอย่างไร จริง ๆ แล้วศีล สมาธิและปัญญาต้องอาศัยการปฏิบัติจึงเข้าถึงแก่นแห่งพระพุทธศาสนานี้ได้
ศีล..เครื่องข่มจิต
ศีล คือเจตนา คือข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐานในพระพุทธศาสนา เพื่อควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า ‘ศีล’ เป็นเบื้องต้นของการชำระกิเลส เป็นเครื่องข่มจิต ข่มที่ตัวจิตไม่ให้ตามใจกิเลส
ศีลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรักษา ฝึกอบรมความประพฤติให้เกิดความสุจริตทางกายและวาจา เพราะศีลเป็นเหมือนกำแพงคอยป้องกันกิเลส บุคคลใดที่มีศีล จะมีจิตใจผ่องใส ไม่มีใจละโมบคิดเบียดเบียนใคร ถือว่าเป็นผู้ที่มีรากฐานมั่นคง จะทำอะไรต่อไปก็ง่าย แต่ถ้ารักษาศีลไม่ได้ จิตเต็มไปด้วยกิเลสก็เหมือนผู้ที่มีรากฐานไม่มั่นคง จะทำอะไรก็บิด ๆ เบี้ยว ๆ พร้อมจะพังทลายได้ทุกเมื่อ
ดังนั้นศีลจึงเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดสมาธิ แต่การรักษาศีลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกิดเป็นสมาธิได้ เพราะสมาธิจำเป็นต้องใช้การตั้งมั่นของจิตเพื่อให้เกิดเป็นสมาธินั่นเอง
สมาธิ..เครื่องข่มกิเลส
สมาธิจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีศีลเป็นพื้นฐาน ถ้าศีลไม่สะอาดเพียงพอต่อให้นั่งสมาธิอย่างไรก็ไม่เป็นผล
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ฝึกสมาธิก็เพราะจิตเป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก จิตจึงมีหน้าที่คิดไปโน่นไปนี่ อีกอย่างธรรมชาติจิตของคนเรามักมีรัก โลภ โกรธ หลง เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตให้ฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นจึงต้องใช้สมาธิมาทำให้จิตสงบ มั่นคงอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง โดยการฝึกสมาธิก็คือการฝึกปฏิบัติที่ใช้ความตั้งมั่น จดจ่อ และแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสงบ เกิดความรู้สึกตัวและมีสติในการใช้ชีวิตมากขึ้น
แต่สมาธิไม่จำเป็นต้องนั่ง หลับตา เอามือประสานกัน แล้วท่องพุทโธเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะนอน ยืน เดิน หรือทำอะไรก็ตาม
เราสามารถทำสมาธิ กำหนดจิตใจให้สงบได้ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการใช้สติควบคุมจิตให้ระลึกอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไร ให้จิตของเราอยู่กับการกระทำนั้น ๆ โดยต้องคิดเสมอว่าตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น
อย่างไรก็ตาม การฝึกสมาธิเป็นเพียงการทำจิตให้สงบ แต่ยังไม่ถึงขั้นเกิดการรู้แจ้ง เห็นจริง หรือเกิดปัญญาได้ เพราะปัญญาเกิดจากการศึกษา การพิจารณาไตร่ตรองเรื่องนั้น ๆ ให้รู้แจ้งด้วยเหตุด้วยผล
ปัญญา..เครื่องขุดรากถอนโคนกิเลส
ปัญญา คือความรอบรู้ รู้ทั้งทางโลก และทางธรรม
ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพิจารณาเป็นวิปัสสนาจนถึงจุดหนึ่ง แต่สมาธิไม่ได้ทำให้เกิดปัญญาโดยตรง มีสมาธิก็ไม่ได้หมายความว่ามีปัญญา เพียงแต่การมีสมาธิสามารถนำไปสู่การเกิดปัญญาได้ เพราะเมื่อจิตตั้งมั่น
(ข้อสำคัญคือต้องตั้งมั่น ไม่ใช่แค่การกำหนดจิตให้จดจ่ออยู่กับลมหายใจเท่านั้น) จึงจะทำให้เกิดปัญญาได้นั่นเอง
ความมหัศจรรย์ของศีล สมาธิ และปัญญา
ศีล สมาธิ ปัญญา เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน เมื่อทำศีลให้เกิดขึ้นได้ สมาธิและปัญญาย่อมเกิดตามมาเองอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าไม่มีศีลก็ไม่สามารถต่อยอดใด ๆ ได้
ศีล..ไม่ใช่แค่รักษาศีล ๕ แล้วจะเกิดได้
สมาธิ..ไม่ใช่แค่ยุบหนอ พองหนอ แล้วจะเกิดได้
ปัญญา..ไม่ใช่แค่รู้ แล้วจะเกิดได้
*การมีศีล สมาธิ ปัญญาสามารถล้างกิเลสได้จริง คือจะมีสภาพรู้แจ้งตามเป็นความจริง รู้ชัดว่าจะสามารถทำลายกิเลสได้อย่างไร ที่สำคัญยังสามารถสอนและแนะนำคนที่ยังลุ่มหลงไปกับกิเลสนั้นได้ด้วย *
‘ศีล’ เหมือนดินที่จะปลูกต้นไม้ ถ้าดินไม่ดี ดินไม่มี ต้นไม้ก็ขึ้นไม่ได้ ไม่งอกงาม ต้นไม้คือ ‘สมาธิ’ ซึ่งถ้าปลูกขึ้น ก็ยังอาจถูกชอนไชจากแมลง ก่อนที่จะเกิดดอกออกผลคือ ‘ปัญญา’ ในที่สุด
โดย : หลวงพ่อดู่ ธรรมปัญญา