หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หรือนามตามสมณศักดิ์ว่า พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็นบูรพาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม จนได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่าเป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่สมณะประชาชนอย่างกว้างขวาง
จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า คำสอนพระป่า (สายพระอาจารย์มั่น) หลังจากท่านมรณภาพลง ในปี พ.ศ. 2492 ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสืบต่อแนวปฏิปทาธรรมปฏิบัติของท่านสืบมา โดยลูกศิษย์เรียกว่า พระกรรมฐานสายวัดป่า หรือ พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านได้รับยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็น พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า หรือ พระอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์พระกรรมฐานวัดป่า สืบมาจนปัจจุบัน
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เดิมมีชื่อว่า มั่น แก่นแก้ว เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413 ณ บ้านคำบง ตำบลสงยาง อำเภอโขงเจียม (ปัจจุบันคืออำเภอศรีเมืองใหม่) จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ นายคำด้วง แก่นแก้ว และมารดาชื่อ นางจันทร์ แก่นแก้ว
เมื่อท่านอายุได้ 15 ปี ได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบ้านคำบง เมื่อบวชได้ 2 ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน จิตท่านยังหวนคิดถึงร่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่เนืองนิจ เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายากนัก ต่อมาหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโลได้เดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่ บ้านคำบง พระอาจารย์มั่นในขณะเป็นฆราวาสจึงเข้าถวายการรับใช้และมีจิตศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์ ต่อมาได้ถวายตัวเป็นศิษย์ติดตามเดินทางเข้าเมืองอุบลราชธานี
เมื่อท่านอายุได้ 23 ปี ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเลียบ อ.เมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436 โดยมีพระอริยกระวี (อ่อน ธมฺมรกฺขิโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย ญาณสโย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับขนาดนามเป็นภาษามคธว่า ภูริทตฺโต แปลว่า ผู้ให้ปัญญา
ภายหลังท่านสงสัยในผู้บวชให้และผ้าสังฆาฏิ หลังจากนั้นเกือบปี พระครูวิจิตรธรรมภาณี (จันทร์ สิริจนฺโท) จึงให้ท่านทำทัฬหีกรรมที่แพกลางแม่น้ำมูล โดยพระอาจารย์ม้าว เทวธมฺมี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิจิตรธรรมภาณี (จันทร์ สิริจนฺโท) และพระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) เป็นคู่กรรมวาจาจารย์
หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ ละสังขารเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 อายุ 79 ปี 56 พรรษา ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
ท่านชาญฉลาดเชี่ยวชาญการดักใจ ทรมารกิเลสของบุคคลต่างๆได้เป็นเลิศ และมีญาณหยั่งรู้จิตใจผู้อื่นได้รวดเร็ว ทำให้ศิษทั้งหลายต่างเกรงกลัวสำรวมในการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ท่านจะเน้นให้ลูกศิษถือสัลเลขธรรมเป็นเครื่องดำเนินอยู่เสมอ ไม่ว่าจะสนทนาปราศรัยอะไรจะไม่ห่างจากสัลเลขธรรม 10 ประการเลย ซึ่งประกอบด้วย อัปปิจฉตา(ความมักน้อย) สันตุฏฐิตา(สันโดษ) อสังคณิกา(ความไม่คลุกคลีมั่วสุม) วิเวกตา(ความสงัดวิเวก) วิริยารัมภะ(ความเพียร) ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ(ความหลุดพ้น) วิมุตติญาณทัสสนะ (ความรู้เห็นอันแจ้งชัดในความหลุดพ้น)
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นอีกองค์หนึ่ง ที่ได้ไปศึกษ่าข้อวัตรปฏิบัติจากหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านเล่าให้ฟังว่า การใช้ภาษานั้น พระอาจารย์มั่นนั้นแตกฉานมากสามรถเทศน์คำว่า นโม เพียงคำเดียวได้เป็นเดือนๆ ยิ่งคำว่า มหา ท่านก็เทศน์ สนุกมาก ครั้งหนึ่งมีพระสององค์จากกรุงเทพฯ ไปหาท่าน ปรากฏว่า พระสององค์มีความรู้แตกฉานในพระคัมภีร์หนังสือวิสุทธิมรรค ท่านพระอาจารย์มั่นก็สอนว่า
วิสุทธิมรรคนั้นมีอะไร มีศีลนิเทศ สมาธินิเทศ ปัญญานิเทศ นิเทศนี้คืออะไร ก็คือนิทาน เป็นนิทานเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ความจริงของศีล สมาธิ ปัญญาหรอก ถ้าต้องการรู้ความจริง ต้องปฏิบัติให้มีขึ้นในกาย วาจา ใจ ของตน
ท่านพระอาจารย์มั่น มีความละเอียดมากในการสอนลูกศิษย์ เวลาพระองค์ไหนป่วยแล้วขอยา ท่านจะว่า นี่จะเอาอะไรเป็นสรณะที่พึ่ง เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง หรือเอายาเป็นที่พึ่ง ถือเอาศาสนาพุทธหรือศาสนายากันแน่ แต่ถ้าองค์ไหนป่วย แล้วไม่ยอมฉันยา ท่านก็ติเตียนอีกว่า ยามี ทำไมไม่ยอมฉัน ทำไมทำตัวเป็นคนเลี้ยงยาก ฟังดูแล้วดูเหมือนลูกศิษย์ต้องโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่ความหมายของท่านคือ ขอปราบทิฏฐิของลูกศิษย์ในเรื่องนี้ เพราะความดีไม่ได้อยู่กับการฉันยาหรือไม่ฉันยา แต่อยู่กับการใช้ปัญญาพิจารณาทุก นั้นต่างหาก
อ้างอิง : วิกิมีเดีย