โนรา นาฏลักษณ์แห่งศรัทธา ลมหายใจคนใต้

18461
views
มโนราห์

โนรา เป็นศิลปะพื้นเมืองภาคใต้เรียกว่า โนรา แต่คำว่า มโนราห์ หรือ มโนห์รา นั้นเป็นคำที่เกิดขึ้นมาเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยการนำเอาเรื่อง พระสุธน-มโนราห์ มาแสดงเป็นละครชาตรี จึงมีคำ เรียกว่า มโนราห์

โนราเป็นศิลปะที่ไม่เพียงสะท้อนวัฒนธรรมที่อ้อนช้อยงดงามเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องสะท้อนวิถีชีวิต ภูมิปัญญาและประวัติศาตร์ของผู้คนในพื้นที่อีกด้วย

โนรา

ส่วนกำเนิดของโนรานั้น สันนิษฐานกันว่าได้รับอิทธิพลจากการร่ายรำของอินเดียโบราณก่อนสมัยศรีวิชัยที่มาจากพ่อค้าชาวอินเดีย สังเกตได้จากเครื่องดนตรีที่ เรียกว่า เบ็ญจสังคีต ซึ่งประกอบโหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ ใน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโนรา และท่ารำของโนรา

อีกหลายท่าที่ละม้ายคล้ายคลึงกับการร่ายรำของ ทางอินเดีย และเริ่มมีโนราเป็นกิจลักษณะขึ้นเมื่อ ประมาณปี พุทธศักราชที่ ๑๘๒๐ ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัยตอนต้น

ปัจจุบันเชื่อกันว่าโนราเกิดขึ้นครั้งแรกที่หัวเมืองพัทลุงคือ ตำบลบางแก้ว จังหวัดพัทลุง แล้วแพร่ขยายไปยังหัวเมืองอื่นๆ ของภาคใต้จนไปถึงภาคกลาง และกลายเป็นละครชาตรีและจังหวะตะลุงที่ได้รับอิทธิพล

มโนราห์

ในตำนานเล่ากันมาว่า เจ้าเมืองพัทลุงมีชื่อว่า พระยา สายฟ้าฟาด มีลูกสาวที่ชื่อศรีมาลา ซึ่งมีความสามารถในการร่ายรำมาก ได้เกิดตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน เชื่อกันว่าเป็นท้องกับเทวดา พระยาสายฟ้าฟาดเห็นดังนั้น ก็โกรธมาก สั่งให้นำนางศรีมาลาไปลอยแพในทะเล (คือ ทะเลสาปสงขลา) และแพได้ไปติดที่เกาะใหญ่ นางศรีมาลา ก็ได้ให้กำเนิดลูกชายโดยตั้งชื่อว่า เทพสิงหล ซึ่งมีนัยความว่า ลูกของเทวดา

นางศรีมาลา ได้ฝึกให้เทพสิงหล ฝึกร่ายรำ ซึ่งเทพสิงหล ก็สามารถร่ายรำได้สวยงามมาก และร่ายรำ มีชื่อเสียงมากที่เกาะใหญ่ จนรู้ไปถึงหู พระยาสายฟ้าฟาด ซึ่งพระยาสายฟ้าฟาด ก็ยังไม่รู้ว่าหลานตัวเอง ก็ได้เชิญไปรำในราชสำนัก ฝ่ายนางศรีมาลา นั้นก็น้อยเนื้อต่ำใจเมื่อครั้งที่ถูกลอยแพ ก็บอกกับคนที่มาติดต่อว่าโนราคณะนี้จะไปรำได้ แต่ต้องปูผ้าขาวตั้งแต่ริมฝั่งที่ลงจากเรือจนไปถึงตำหนัก

พระยาสายฟ้าฟาดก็ตอบตกลง ดังนั้นเทพสิงหล จึงไปรำในราชสำนัก เทพสิงหลรำได้สวยงามมาก จนพระยาสายฟ้าฟาด ก็ตกตะลึงในความสวยงาม จึงถอดเครื่องทรงที่ทรงอยู่ให้กับเทพสิงหล แล้วบอกว่า “เครื่อง แต่งกายกษัตริย์ชุดนี้มอบให้เป็นเครื่องแต่งกายของโนรานับแต่นี้เป็นต้นไป”

เทพสิงหลจึงบอกว่าแท้จริงแล้ว เป็นหลานของพระยาสายฟ้าฟาด พระยาสายฟ้าฟาดจึงรับโนราไว้ในราชสำนัก และให้สิทธิแต่งกายเหมือนกษัตริย์ทุกประการ

โนรา

การทำชุดมโนราห์เป็นงานศิลปะที่สืบสานมาจากรุ่นบรรพบุรุษ ที่มีความประณีตอันวิจิตรในแบบเครื่องทรงที่ประดับเรือนร่างมโนราห์ ซึ่งปัจจุบันเครื่องแต่งกายชุดมโนราห์ส่วนใหญ่ที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดนัดมีความต่างไปจากอดีต เพราะเริ่มหาความประณีตอันวิจิตรในแบบเครื่องทรงที่ครูมโนราห์รุ่นบรรพบุรุษสืบทอดไว้

จึงมีคนรุ่นใหม่และคณะมโนราห์ต่างๆ ในท้องถิ่น อนุรักษ์ศิลปะการร้อยลูกปัดชุดมโนราห์ในท้องถิ่นภาคใต้แขนงนี้ไว้ ตลอดจนสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น ควบคู่กับสืบสานศิลป์แขนงนี้ให้คงอยู่สืบไป

ด้วยการนำลูกปัดขนาดเล็กมาคัดแยกสี ขนาด จากนั้นร้อยเป็นเส้นตามต้องการ ก่อนนำเส้นด้ายที่ร้อยมาผูกรวมกัน เพื่อประกอบเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ของชุดอันประกอบด้วย

๑.เทริด ๑ หัว | ๒.ปิ้งคอ ๒ ชิ้น | ๓.บ่า ๒ ชิ้น | ๔.รัดอก | ๕.หางหงส์ | ๖.ปิดสะโพก ๑ ชิ้น | ๗.สร้อยคอ ๑ เส้น | ๘.เล็บ ๘ ชิ้น | ๙.ผ้าห้อยและหน้าผ้า ๗ ผืน | ๑๐.กางเกงมโนราห์ ๑ ตัว | ๑๑.ผ้าโจงกระเบน ๑ ผืน

ทำให้ได้ชุดลูกปัดมโนราห์ทั้งชุด ที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาด ด้วยฝีมือที่ยังคงไว้รูปลักษณ์ในแบบฉบับการแต่งองค์ทรงเครื่องยุคอดีตไว้ทุกกระเบียดนิ้ว

โนรา

เครดิตภาพ: KVB Studio Phuket
นางแบบ พิฆวรางค์ เพชรงามพงศ์โนรา

** เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๒ ที่ประชุมกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เห็นชอบให้เสนอขึ้นทะเบียน “โนรา (Nora)” ต่อต่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในประเภทรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) และนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในลำดับต่อไป

** 15 ธ.ค. 2564 “UNESCO” ยก “โนรา” หรือ ‘มโนราห์’ ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นที่นิยมของคนในภาคใต้ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

โนรา นับเป็นศิลปะการแสดงของไทย ลำดับที่ 3 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อจาก โขน ในปี 2561 และนวดไทย ในปี 2562

ขอบคุณเจ้าของภาพ / ข้อมูล

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร