แนวทางสู่ความสุข : มนุษย์จะต้องรู้จักพูดด้วยความรักความเมตตา อหิงสา หมายถึง จิตใจที่ไม่มีความโกรธ ไม่มีความโมโห
เมื่อผู้อื่นมาทำร้ายเรา เราไม่ควรที่จะมีความโกรธความเกลียดอยู่ในจิตใจของเรา แต่เราจะต้องมีความรัก ความเมตตาต่อผู้ที่มาทำร้ายเราแทนที่เราจะไปว่าผู้ที่ทำร้ายเรา
เราควรที่จะมาพิจารณาตัวเราเอง และพิจารณาว่าเราบกพร่องตรงไหน เราควรจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งใดบ้าง เพื่อปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น เราใช้โอกาสที่ผู้อื่นมาทำร้ายเราในการฝึกจิตใจของเราให้รู้จักควบคุมอารมณ์ และเราก็ถือโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์นั้นๆจากปัญหานั้นๆ และจากความยุ่งยากเหล่านั้น
อหิงสา หมายถึง จิตใจที่ไม่มีความโกรธ ไม่มีความโมโห ไม่มีการคิดร้ายต่อผู้อื่น หมายถึง คำพูดที่ไม่ดุร้าย ไม่กล่าวร้าย ไม่นินทาในทางที่ไม่ดีเกี่ยวกับผู้อื่น และหมายถึง การกระทำที่ไม่มีการทำร้ายผู้อื่น ไม่มีการทำอะไรที่เสียหายต่อผู้อื่น หรือไม่ใช้กำลังในการโต้ตอบเมื่อผู้อื่นมาทำร้ายเรา
มนุษย์จะต้องรู้จักพูดด้วยความรักความเมตตา ด้วยวาจาที่อ่อนน้อมไม่ทำร้ายผู้อื่นด้วยคำพูดของเรา การกระทำของเราก็ควรจะมีแต่ความรักความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ความกรุณาปราณี
ดังนั้นการไม่เบียดเบียนผู้อื่นนั้น ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา โดยการเข้าใจเกี่ยวกับความจริงว่า ทุกคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเดียวกัน เป็นญาติสนิทกัน
เราก็ไม่มีทางที่จะไปคิดร้ายหรือทำร้ายผู้อื่นได้ และเมื่อมีความรักความเมตตาอยู่ในจิตใจของเรา มีความสงบสุขในจิตใจของเรา จะไม่มีความโกรธ ความเกลียด หรือความรุนแรงใดๆทั้งสิ้น เมื่อมีธรรมะประจำใจ ก็จะมีแต่ความรักความเมตตา
การเสียสละ การให้ การรับใช้ช่วยเหลือผู้อื่น การรับใช้ช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนจะทำให้ความเห็นแก่ตัวของ มนุษย์หายไป และการใช้กำลังในการโต้ตอบก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ดังนั้น อหิงสา จะอยู่ในตัวเราอย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อ มนุษย์มีสัจธรรม มีความรักความเมตตา มีความสงบสุข และมีธรรมะประจำใจ
ขอขอบคุณจาก หนังสือ “แนวทางสู่ความสุข” โดยผู้แต่ง “ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา”