เมื่อนั่งสมาธิจนจิตสงบ ให้เข้าไปกำหนดดูและพิจารณาร่างกายเวลาจิตสงบแล้ว ก็พุทโธบ้าง พิจารณาบ้าง (แต่ถ้าเราจะให้จิตสงบอย่างเดียวก็ไม่ต้องพิจารณา) พอสงบก็เริ่มพิจารณา
หรือบางทีมันฟุ้งซ่านไม่สงบก็พิจารณาไปได้โดยอาศัยปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณาอยู่ในกายไปตลอด เมื่อจิตสงบได้แล้วจะละเอียด จะเห็นชัดขึ้น
การกำหนดอยู่ในกายเป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง เรียกว่ากายานุปัสสนา หรือกายคตาสติ มีสติอยู่กับกายก็เกิดความสงบได้ มีสติอยู่กับลมหายใจก็เกิดความสงบได้ ทำสมาธิและปัญญาพร้อมกัน คือการเข้าไปกำหนดรู้กายและพิจารณากายพร้อมกัน ลองฝึกอย่างนี้ก็ใช้ได้ หรือเวลานั่งสมาธิให้สงบอย่างเดียวก็คือหายใจกำหนดพุทโธ
ถ้าพุทโธห่างมันไม่สงบ ก็ให้กำหนดพุทโธถี่ ๆ ไม่คิดเรื่องอื่น ให้นึกในใจว่า พุทโธ ๆๆ อยู่ในจิตเรา อยู่ในกายเรา อย่าให้จิตแวบออกไป พอจิตจะแวบออกไปให้ดึงมาที่พุทโธ ๆ ไม่นานก็สงบ นี่เป็นอุบายสำหรับจิตพยศ
เปรียบได้เหมือนกับเราฝึกม้าพยศ เมื่อไม่เชื่องก็ต้องหวดต้องตี จิตของเราก็เหมือนฝึกม้า ต้องเอาพุทโธเข้าไปตีบ่อย ๆ เอาพุทโธไปแนบ เราคิดแต่พุทโธแล้วจิตจะไปคิดเรื่องอื่นได้อย่างไร
พอจิตจะไปโน่นไปนี่ ดึงมันมาพุทโธถี่ ๆ สมมติจิตจะไปอเมริกานี่เราดึงมาพุทโธถี่ ๆ พอรู้สึกว่าจิตสงบแล้วเราก็หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ ไปตามปกติ
การปฏิบัติให้จิตอยู่ในกายตลอดเวลาถือว่าถูกทาง ถ้าออกนอกกายเมื่อไรถือว่าผิดทาง เพราะเราต้องการรู้กาย ความสงบไม่ได้เกิดที่ไหน เกิดในกายของเรานี่เอง อยู่นอกกายมีแต่ฟุ้งซ่านไป ต้องให้จิตรวมเป็นหนึ่งในกาย นิมิตต่าง ๆ ก็จะไม่เกิด นิมิตมันเกิดได้หลายทาง ทางเสียงก็มี ทางตาก็มี ถ้าดึงเข้ามาในกายทั้งหมดนิมิตก็ดับ
การที่เราเห็นนิมิตเพราะจิตเราออกไปนอกกาย พอเราน้อมเข้ามาที่กาย มันก็เห็นแต่กาย เห็นแต่กระดูก เห็นแต่ส่วนต่าง ๆ ให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่าเราทุกข์เพราะกาย เพราะไปหลงว่ากายเป็นของเรา เวลากายเจ็บ เราก็ทุกข์ แต่ถ้าเห็นความจริงว่ากายนี้ก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่กลัว
เพราะว่าเรามีความเกิดเป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา และมีความตายเป็นธรรมดา ทุกคนเกิดมาต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายหมด ไม่มีใครหนีได้ ถ้าเห็นความเป็นธรรมดาของมันอย่างนี้เราก็จะไม่ทุกข์กับมัน
บางคนไม่ถนัดพุทโธ ก็ดูลมหายใจแทน เข้ายาวก็รู้ ออกยาวก็รู้ เข้าสั้นก็รู้ ออกสั้นก็รู้ เข้าร้อนก็รู้ ออกร้อนก็รู้ เข้าเย็น ออกเย็น รู้หมด นี่รู้ทุกอาการ รู้ด้วยความเป็นจริงของลม บางทีเข้าเย็นแต่ออกร้อน เพราะมันถ่ายเทธาตุไฟออกไป สังเกตดูจะเห็นเป็นอย่างนั้น ให้จับตรงนี้ เข้าเย็นออกร้อน หรือเข้าร้อนออกเย็น
ใครสังเกตอย่างนี้ก็จะรู้ว่าอาการร้อนมันเป็นอย่างนี้ อาการเย็นมันเป็นอย่างนี้ เข้ายาวอย่างนี้ ออกยาวอย่างนี้ เข้าละเอียดอย่างนี้ ออกละเอียดอย่างนี้ เข้าหยาบออกหยาบ เข้าหรือยัง ออกหรือยัง ให้ดูตรงนี้ แล้วก็แนบพุทโธไปบ้างก็ได้ ถ้าพุทโธแล้วรำคาญก็เอาแต่รู้อย่างเดียวก็ได้

บางคนดูลมหายใจแล้วอึดอัด เป็นเพราะเราไปเกร็ง ไปบังคับลมหายใจ ลมหายใจมันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เวลาเราหลับมันก็หายใจอยู่เหมือนเดิม เราไม่ได้บังคับมันเลย ทำความรู้สึกเหมือนกับว่าเรานอนหลับ แล้วปล่อยลมหายใจตามธรรมชาติของเขาไป นั่นแหละคือการปล่อยวาง
เรามีหน้าที่รู้อย่างเดียว แต่เราไม่ได้มีหน้าที่เป็นผู้บังคับลมหายใจ เรามีหน้าที่รู้ว่าลมเข้าหรือยัง ออกหรือยัง เข้าอย่างไร ออกอย่างไร รู้แค่นั้น แตเ่ราอย่าไปทำลมเข้า ทำลมออก ให้เป็นผู้กำหนดรู้อย่างเดียว เป็นผู้สังเกตและปล่อยวางความรู้สึกทั้งหมดให้ลงสู่กาย ไม่ต้องทำอะไร
อย่าเกร็งมาก เกร็งมากก็ไม่สงบ เกร็งมากมันจะเกิดรู้ก็จริง แต่ไม่สงบ ตั้งสติเต็มที่แต่ไม่สงบ ได้แต่รู้เด่นแต่ไม่สงบ นั่งสมาธิมันอยู่ในภวังค์ของความหลับความตื่น ตื่นไปก็ไม่เป็นสมาธิ หลับไปก็ไม่เป็นสมาธิ สมาธิมันอยู่ตรงกลางระหว่างความหลับกับความตื่น พอจิตทิ้งตัวว่าจะให้หลับนั่นแหละเป็นสมาธิ แต่ถ้าหลับเลยนั้นเลยสมาธิไปแล้ว
ให้จิตยกขึ้นมาหน่อยให้เป็นภวังค์ แต่ถ้ารู้หมดเลยนี่ก็ไม่เป็นสมาธิ ต้องให้ลงสู่ภวังค์ระหว่างความหลับกับความตื่น ปล่อยวางให้หมด ไม่ต้องบังคับอะไร เหมือนกับหลับแล้วแต่มีตัวรู้ในขณะที่หลับอยู่ รู้ลมเข้า รู้ลมออก จะสงบได้เร็ว นี่เป็นอุบายของการทำสมาธิ
อุบายสำหรับสมาธิยังมีอีกมาก แต่ต้องอาศัยปัญญาทั้งหมด จะทำสมาธิก็ต้องอาศัยปัญญา ทำอย่างไรจึงจะสงบ อย่างนี้ปัญญาเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องจดจำว่าครั้งแรกเคยทำสมาธิอย่างไรจึงสงบ ให้จำหลักนั้นไว้แล้วทำเหมือนทุกครั้ง อย่าเปลี่ยนวิธี
กำหนดอย่างนี้ รู้อย่างนี้ ปล่อยอารมณ์อย่างนี้ ทำสติอย่างนี้ ปล่อยวางอย่างนี้ ท่องพุทโธอย่างนี้ แล้วเราเข้าเมื่อไรก็สงบเมื่อนั้น ไม่ต้องไปลองอย่างอื่นให้เสียเวลา
ให้ดูจริตว่าเราเคยทำอย่างไรแล้วสงบ เพราะจริตนิสัยที่เราได้มาจากภพอดีตชาติ เคยได้อย่างไร กำหนดอย่างไรก็จะได้อย่างนั้น อย่าไปฝืน ใครถนัดอย่างไรก็ทำอย่างนั้นไป ความสงบเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องของสมาธิ พอมีสมาธิให้เจริญปัญญา อย่าไปติดสมาธิ
เพราะลำพังสมาธิมันพ้นทุกข์ไม่ได้ ต้องมีปัญญาด้วยจึงจะพ้นทุกข์ได้ หรือลำพังมีปัญญาอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องมีสมาธิเป็นเครื่องหนุนด้วย สองอย่างต้องคู่กัน เพราะถ้าใช้ปัญญาอย่างเดียวโดยไม่มีสมาธิเข้าไปหนุนจะฟุ้งซ่านได้
ปัญญานี้เหมือนมีด ลับจนคมแล้วแต่ถ้าไม่มีแรงยกมีดขึ้นมาฟันก็ไม่มีประโยชน์ ในขณะที่สมาธิเป็นเหมือนพลัง เมื่อมาบวกกับปัญญา มันฟันทีเดียวก็ขาดเลย
ที่มา : มหาสติปัฏฐาน 4 ทางลัดดับทุกข์ – พระอาจารย์ชานนท์ ชยนนฺโท สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ