หากไม่มีบุญวาสนาเกื้อหนุนกัน ไฉนเลยจะได้ครองคู่กัน มูลเหตุแห่งการครองคู่ พระพุทธองค์ตรัสว่าเกิดขึ้นด้วยสองเหตุคือ
๑. การทำบุญร่วมกันมาก่อน
๒. การได้ร่วมสร้างบุญต่อกันในปัจจุบัน
หากไมมีบุญวาสนาหนุนนำแล้วไฉนเลยจะได้ครองคู่กันได้ อนึ่งการจะครองคู่กันได้ต้องอาศัยองค์ ๔ ประการ
๑. สมะศรัทธา ศรัทธาเสมอกัน
๒. สมะศีลา ศีลเสมอกัน
๓. สมะจาคา มีความเสียสละเสมอกัน
๔. สมะปัญญา มีปัญญาเสมอกัน
ดังที่เคยเล่าไว้ในพุทธชาดกหลายๆ ตอนคู่ที่เกิดมาครองคู่กันตลอด ในภพชาติที่ต้องอยู่ด้วยกันก็คือ คู่ของเจ้าชายสิทธัตถะและพระนางยโสธรา มีเพียงบางชาติที่ทั้งสองพระองค์ไม่ได้พบกัน
เนื่องจากต้องบำเพ็ญเนกขัมมะบารมีอย่างสูงสุด เช่น
ในพระชาติของพระเตมีย์ ขณะที่บางภพชาติแม้พระโพธิสัตว์จะออกบำเพ็ญบารมีเป็นพระฤาษีแล้ว เหาะผ่านมาเห็นอดีตชาตินางยโสธรา ก็ตกหลุมรักจนฤทธิ์เสื่อม แล้วใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในชาตินั้น
บางชาติ พระโพธิสัตว์บวชเป็นเณรแล้ว แต่ก้ต้องสึกออกมาเพราะมีจิตปฏิพัทธิต่อนาง เพราะเคยอยู่ร่วมกันมาก่อน และตกนรกหมกไหม้ร่วมกันก็มี เพราะทำผิดศีลธรรมร่วมกันไว้
ดังนั้นการที่คู่ครองบางคู่ ครองรักร่วมกัน ใช้ชีวิตร่วมกันแล้วย่อมมีผลต่างกันไป คู่ที่สร้างแต่บาปมาร่วมกันมาก ชีวิตคู่ก็จะเป็นเหมือนเจ้ากรรมนายเวรต่อกัน แม้กายจะเป็นมิตรกันแต่จิตเป็นศัตรูต่อกัน ย่อมฉุดให้ชีวิตตกต่ำลง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือตกลงทั้งสองฝ่าย เพราะคอยแต่จะเบียดเบียนกันตลอดเวลา ร้ายที่สุดก็คือ ทำลายชีวิตอีกฝ่ายกันไป

คู่ที่สร้างบุญและบาปมาร่วมกันพอๆ กัน ก็จะมีทุกข์และสุขปนกันไป แม้อยากจะเลิกกันแต่ก็ยังเลิกกันไม่ได้ หรือร่วมสร้างบุญให้สุดก็ยังทำไม่ได้ คนหนึ่งทำ อีกคนไม่ทำ ทะเลาะเบาะแว้งบ้าง แต่ก็ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้อยู่ จนกว่าจะหมดบุญร่วมกันไป
คู่ที่สร้างบุญร่วมกัน มากกว่าบาป ก็จะมีสุขมากกว่าทุกข์ คือ ครองคู่กันอย่างดี แม้จะทะเลาะกันบ้าง ก็ไม่ทิ้งกัน อภัยให้กันได้ ชีวิตคอยประคับประคองกันไปได้ตลอดรอดฝั่ง และสามารถชักชวนกันสร้างบุญใหม่ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นได้ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ขัดแย้งกันในบุญที่ทำ
คู่ประเภทหลังสุดนี้เรียกว่า คู่บุญคู่บารมี แบบที่เจ้าชายสิทธัตถะและพระนางยโสธราเป็น คือสร้างบุญร่วมกันมากกกว่าบาป อย่างในพระชาติของพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ทั้งสองพระองค์ก็ได้บำเพ็ญบารมีร่วมกันอย่างยิ่งยวด แม้จะตกทุกข์ได้ยากในตอนแรก แต่ก็มีความสุขได้ในที่สุด
หากชีวิตคู่ของเรามีปัญหา ให้สร้างบุญคู่หนุนนำ ๓ ประการ
๑. อภัยทาน
คือรู้จักให้อภัยแก่คู่ครองของตน เพราะการให้อภัยต่อกันเป็นการให้อโหสิกรรม ไม่ติดใจกัน ย่อมไม่มีการผูกเวรต่อกัน
๒. รักษาศีล ๕ ให้มั่นคงที่สุด
เพราะจุดเริ่มต้นแห่งความสุขและความสงบในชีวิตคู่คือ ศีล ๕ การไม่นอกใจกัน ย่อมไม่เกิดการผิดศีลข้ออื่นๆ และไม่ทำให้ตนเองตกต่ำลง
๓.ต่างคนต่างหมั่นสวดมนต์แผ่เมตตาให้กันและกันเสมอ
ช่วยยกระดับจิตใจ และลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนลงได้ ทำให้จิตปล่อยวาง ไม่คิดเอาชนะกันหรือยกตนเป็นใหญ่เหนือใครคนใดคนหนึ่ง