“ผ้ายกเมืองนคร” หรือ ผ้ายกนคร ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ทอสืบต่อกันมาแต่โบราณ เป็นผ้าที่ได้รับการยกย่องมาแต่โบราณว่าสวยงามแบบอย่างผ้าชั้นดี สันนิษฐานว่าในสมัยอาณาจักรตามพรลิงค์หรือตัมพะลิงค์ ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณที่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธศตวรรษที่ ๗ และมีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราชในปัจจุบัน
ผ้ายกเมืองนคร คงจะมีการทอผ้าอย่างจริงจังแล้ว เพราะยุคนั้นตามพรลิงค์ เป็นเมืองท่าศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า และการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม จึงมีการแลกเปลี่ยนรับเอาศิลปวัฒนธรรมจาก จีน อินเดีย และอาหรับ ชาติต่างๆเหล่านี้คงจะนำเอาวิชาการทอผ้ามาถ่ายทอดไว้ ซึ่งทำให้ชาวพื้นเมืองรู้จักการทอผ้าทั้งผืนเรียบและผ้ายกดอก
ส่วนการทอผ้ายกที่ลวดลวดลายสีสันวิจิตรงดงาม คงเพิ่งจะเริ่มทำกันในสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวกันว่า ชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้แบบอย่างการทอผ้ามาจากแขกเมืองไทรบุรี
โดยในปีพ.ศ. ๒๓๕๔ เมื่อครั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ยกกองทัพไปปราบกบฏ ขากลับได้กวาดต้อนครอบครัวเชลย ได้นำพวกช่างฝีมือมาหลายพวกรวมทั้งช่างทอผ้ายก คงเป็นเหตุนี้เองที่เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับความรู้ดั้งเดิมโดยใช้กรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อนด้วยความพิถีพิถัน ประกอบกับวัสดุที่นำมาทอเป็นสิ่งที่สูงค่ามีราคา
จึงถือได้ว่าผ้ายกเมืองนครเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นเยี่ยมตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนเป็นเอกลักษณ์ของการทอผ้ายกเมืองนครที่ขึ้นชื่อในเวลาต่อมา
จนถึงรัชกาลพระจุลจอมเกล้า เป็นยุคสมัยที่การปกครองบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น และสภาพเศรษฐกิจดี ส่งผลให้การทำนุบำรุงศิลปะในแขนงต่างๆ เจริญรุ่งเรือง ผ้ายกเมืองนครเป็นของที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้กับบุคคลสำคัญ เจ้านายและข้าราชบริพารชั้นสูง ใช้สวมใส่เวลาเข้าเฝ้าเป็นการแสดงสถานะของบุคคล
เครื่องมือเครื่องใช้ทอผ้ายกเรียกว่า ‘เครื่องทอหูก’ หรือ ‘เก’ เหมือนกับท้องถ่นอื่นโดยทั่วไป เกมี ๒ ชนิด คือ เกยก ชนิดหนึ่งหนึ่ง กับ เกฝัง อีกชนิดหนึ่ง ชาวบ้านที่มีอาชีพทอผ้ามักสร้าง เก ไว้ใต้ถุนบ้านแทบทั้งสิ้น
ผ้ายกนคร ทอได้หลายชนิดแต่ละชนิดมีลายดอกงดงามเป็นแบบฉบับของตนเอง ที่รู้จักกันดีได้แก่ ผ้าราชวัตร ผ้าตาสมุก ผ้า ผ้าห่ม ผ้าหางกระรอก ผ้าพื้น ผ้าเก็บดอก ผ้าม่วง เป็นต้น
สำหรับผ้ายกดอกก็มีหลายชนิดเช่น ผ้าลายดอกพิกุล ผ้าลายก้านแย่ง ผ้าลายดอกมะลิร่วง ผ้าลายดอกมะลิใหญ่ ๆ อีกมากมาย ตัวอย่างผ้ายก รุ่นเก่าของนครศรีธรรมราช ในปัจจุบันนี้หาดูได้ยากที่พอจะหาดูได้ในเวลานี้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช