หลายคนเข้าใจผิด ๙ พิธีกรรมใน “งานศพ” ทำเพื่อ “คนเป็น” ไม่ใช่ “คนตาย”

4047
views
งานศพ

“งานศพ” เราถือเป็น “งานอวมงคล” แต่สำหรับชาวพุทธงานศพจัดว่าเป็นงานบุญอย่างหนึ่ง เป็นงานบุญในแง่ที่ว่า ทุกท่านได้มาร่วมกันบำเพ็ญกุศลด้วยความปรารถนาดีแก่ผู้วายชนม์ ทั้งยังทำให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้มาเตือนใจตนเองให้ตระหนักถึงความจริงของชีวิต นั่นคือเมื่อเกิดมาแล้ว ก็ย่อมต้องประสบความเจ็บ ความป่วยและความตาย เป็นธรรมดา…

หลายท่าน…คิดว่าพิธีกรรมในงานศพนั้นล้วนจัดเพื่อคนตาย…แต่แท้จริงแล้วยังมีความหมายจากพิธีกรรมในงานศพอีก ๙ ประการ ที่จัดไว้เพื่อบอกกล่าวให้ “คนเป็น” ไม่ใช่ “คนตาย” ซึ่งพิธีกรรมงานศพที่ว่านี้ได้แก่

งานศพ

๑. มัดตราสังข์สามเปราะ
มัดที่คอ หมายถึง บ่วงรักลูก
มัดที่มือ หมายถึง บ่วงรักสามี – ภรรยา
มัดตรงข้อเท้า หมายถึง บ่วงรักทรัพย์สมบัติ
ติดอยู่สามบ่วงนี้ ไปนิพพานไม่ได้ ต้องเวียนว่ายตายเกิด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด อยู่ในสังสารวัฏไม่มีวันจบ ไม่มีวันสิ้น

ไม่ควรไปงานศพ

๒. เคาะโลงรับศีล
ไม่ใช่ให้คนตายมารับศีล แต่เพื่อเป็นการบอกคนที่มาร่วมงานว่า อย่าเอาแต่มัวประมาท ขาดสติ ไม่สนใจในหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตายไป ก็หมดโอกาสในการทำความดี สร้างบุญกุศลบารมี จะเคาะจนโลงแตกก็ลุกขึ้นมาไม่ได้ จะลุกขึ้นมาทำความดีอีกต่อไปไม่ได้แล้ว

๓. สวดอภิธรรม
อันหมายถึง ธรรมะชั้นสูง เป็นธรรมะล้วน ๆ มักสวดเป็นภาษาบาลี คนเป็นฟังไม่รู้เรื่อง จนนึกว่า สวดให้คนตาย แต่จริง ๆ แล้วเป็นการสวด เพื่อสอนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อที่จะได้นำหลักธรรมไปปฏิบัติให้เกิดผลดีในชีวิตประจำวัน ทั้งทางคดีโลก และคดีธรรม…

ดังนั้น แม้จะฟังไม่เข้าใจ แต่เพื่อให้การฟังสวดอภิธรรมเกิดผล ควรสำรวมกาย วาจา ใจให้อยู่กับเสียงพระสวด ให้จิตสงบนิ่งอยู่กับเสียงพระสวด ก็จะเกิดสมาธิได้

สวดอภิธรรม

๔. คณะพระสงฆ์ ๔ รูป
ที่มาสวดตอนกลางคืน จะถือตาลปัตรที่มีข้อความว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น”
ไปไม่กลับ…คือ เวลา เตือนให้เรารู้ว่า วันเวลามีแต่เดินไปข้างหน้า ไม่อาจจะย้อนคืนมาได้ เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เราควรพิจารณาไตร่ตรองว่าได้กระทำสิ่งใดไปบ้าง สิ่งที่ดีก็พึงกระทำต่อไป สิ่งที่ไม่ดีก็ควรปรับปรุงแก้ไขให้ดีึขึ้นมา

ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น

ไปแล้วไม่กลับนั้น……………….. สุสาน
มนุษย์และสัตว์นับประมาณ…….. มิถ้วน
ไปแล้วห่อนคืนสถาน……………. เดิมสัก คนแล
เราท่านยังอยู่ล้วน……………….. คติต้องไปตาม

จุดธูป ๓ ดอกกลางแจ้ง

หลับไม่ตื่น…คือ โมหะ – ความลุ่มหลง ถ้าคนเราหลงอยู่ในความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว ก็จะตกอยู่ในความมืดมน ความทุกข์ต่าง ๆ มองไม่เห็นหนทางแห่งความดีงาม ไม่มีความสุข ไม่มีความเจริญ

หลับแล้วไม่ตื่นนั้น…………………..คือวัย
เด็กหนุ่มแก่ตามขัย…………………หมดสิ้น
ใครลืมปล่อยล่วงไป………………..ไม่อาจ คืนนา
มีเดชสักพันลิ้น……………………….เรียกร้องห่อนคืน

กรวดน้ำ

ฟื้นไม่มี…คือ กรรม ให้เตือนตนเสมอว่า ทำกรรมใดไว้ ก็ได้กรรมนั้น เมื่อกระทำกรรมดี ก็ได้รับผลแห่งกรรมดี แต่ถ้ากระทำกรรมชั่ว ก็ได้แต่ผลของกรรมชั่ว ไม่มีสิ่งใดจะมาลบล้างหรือชดเชยให้หลุดพ้นจากผลแห่งกรรมชั่วได้ มีแต่ความดีเท่านั้นที่จะทำให้ผลนั้นเบาบางลง

ฟื้นไม่มีปราชญ์ชี้…………………….เรื่องกรรม
ดีชั่วที่คนทำ…………………………..สืบไว้
ดีนำสุขชั่วนำ………………………… ทุกข์เที่ยง แท้เฮย
ใครห่อนแก้ไขได้…………………….. ชั่วให้กลับดี

สวดมนต์

หนีไม่พ้น…คือ วิบากกรรม ให้เตือนตนเสมอว่า ไม่มีผู้ใดหนีพ้นจากการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ติเตียนนินทา และความทุกข์ทั้งปวงได้ แม้แต่องค์พระปฏิมายังมีราคิน ไฉลเลยมนุษย์เดินดินคนธรรมดาทั่วไปจะล่วงพ้นไปได้

เกิดตายหนีไม่พ้น…………………ทุกคน
จะชั่วดีมีจน………………………..ทั่วผู้
เป็นกฎแห่ความวน……………….ในวัฏ- ฏะนา
ปราชญ์หน่ายเพราะหยั่งรู้……….. ย่อมเว้นยึดถือ

บวช

๕. บวชหน้าไฟ
มักเข้าใจกันว่า เป็นการบวชจูงผู้ตายขึ้นสวรรค์ ความจริงนั้น ไม่ใช่ เพราะการบวชหน้าไฟ เป็นการปลงธรรมสังเวชต่อการเกิด แก่ เจ็บ และตายในที่สุด มนุษย์ก็มีเท่านี้ มนุษยฺทุกคนก็ต้องผ่านวิถีชีวิตแบบนี้กันทั้งนั้น

ไม่มีใครจะ่ล่วงพ้นการเกิด แก่ เจ็บ ตายไปไม่ได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เกิดการเบื่อหน่ายต่อชีวิตในโลกียวิสัย ไม่ประสงค์จะอยู่ในเพศฆราวาส แล้วพอใจในสมณเพศ มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น เข้าสู่มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เข้าสู่ความเป็นไท พ้นทุกข์ เห็นธรรม เดินตามรอยทางแห่งพระอริยเจ้าทุก ๆ พระองค์

พระจูง

๖. การนิมนต์พระจูงออกหน้าศพ
เพื่อจะสอนคนที่ยังอยู่ ให้ได้สำนึกว่าตอนที่ยังอยู่ ต้องเดินตามหลังพระ หมายความว่า ให้ดำเนินชีวิตตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง อยู่ในศีลธรรมคุณงามความดี จึงจะอยู่ดี มีความสุข มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต

๗. แห่ศพเวียนซ้ายรอบเมรุ ๓ รอบ
การเวียนซ้าย ๓ รอบ หมายถึง การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้งสาม อันมี กามภพ รูปภพ อรูปภพ ด้วยอำนาจแห่งกิเลส ๑,๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘ ที่นอนเนื่องในจิตใจของคนเรา ซึ่งจะก่อให้เกิดความทุกข์ไม่จบสิ้น ฉะนั้น ต้องทวนกระแสกิเลสตัณหาอุปทาน ไม่ทำตามใจชอบ ให้มีธรรมะอยู่ในใจ ทำทุกอย่างที่ดี มีคุณต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นการสอนธรรมะชั้นสูง จึงได้พาศพเวียนซ้าย

มะพร้าว

๘. การใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ
เพื่อชี้ให้เห็นว่า น้ำมะพร้าวเป็นน้ำสะอาด บริสุทธิ์ ดุจดั่งน้ำทิพย์แห่งพระธรรม ที่คอยชะโลมจิตใจผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ที่อยู่ในทาน ศีล สมาธิ ปัญญา เมตตา ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เหมือนดอกบัวที่เกิดในตม แต่ไม่ติดตม และคู่ควรแก่การบูชาพระพุทธองค์

๙. การเก็บอัฐิและเขี่ยขี้เถ้าผู้ตายให้เป็นรูปร่างกลับไปกลับมา
เพื่อจะบอกว่าได้กลับชาติใหม่แล้วตามวิบากกรรมต่อไป ถ้าทำกรรมดี ก็จะนำไปสู่สุคติภูมิ อันได้แก่ เทวโลก พรหมโลก อรูปโลก แต่ถ้าทำกรรมชั่ว ก็จะนำไปสู่ทุคติภูมิ อันได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน
พิธีกรรมทั้งหมดนี้ล้วนมีนัยเพื่อสอน “คนเป็น” ทั้งสิ้น…เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แล….

– วิชัย ธัมมะวิริโย

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร