เตือน!! ลงน้ำทะเล ระมัดระวัง!🪼 “แมงกะพรุนหัวขวด” พิษร้ายแรงถึงชีวิต”

681
views

แมงกะพรุนหัวขวด

เตือน ระวัง!🪼 “แมงกะพรุนหัวขวด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เตือนนักท่องเที่ยวที่ลงน้ำทะเล ระมัดระวังแมงกะพรุนพิษ หลังศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน เตือนพบแมงกะพรุนหัวขวด ที่หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีพิษร้ายแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้

แพทย์หญิงดารินดา รอซะ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า แมงกะพรุนหัวขวด (Blue Bottle Jellyfish) เป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษร้ายแรง โดยมีลักษณะส่วนบนลอยโผล่พ้นน้ำคล้ายลูกโป่งรูปร่างรียาว คล้ายหมวกของทหารเรือชาวโปรตุเกส มีหนวดยาวสีฟ้าหรือสีม่วง มีเข็มพิษ (nematocyst) สำหรับป้องกันตัวและจับเหยื่อ กระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหนวด (tentacle) พิษของแมงกะพรุนหัวขวด มีผลต่อระบบประสาท หัวใจ และผิวหนัง ส่วนใหญ่คนที่สัมผัสพิษจะมีอาการคัน และปวดแสบปวดร้อนในเบื้องต้น การแสดงอาการของพิษในผู้ป่วยแต่ละบุคคลความรุนแรงจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกาย ความต้านทาน และปริมาณพิษที่ได้รับ

แมงกะพรุนหัวขวด

แพทย์หญิงดารินดา กล่าวเพิ่ม การป้องกันตัวจากแมงกะพรุนพิษ คือ ก่อนลงเล่นน้ำทะเล ขอให้สังเกตที่บริเวณชายหาด หากพบว่ามีซากของแมงกะพรุนที่อยู่ตามชายหาด ควรหลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ และให้ปฏิบัติตามคำเตือนของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด สวมเสื้อผ้ามิดชิด ลงเล่นน้ำในบริเวณที่ปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้เท่านั้น สำหรับผู้ที่ได้รับพิษจากแมงกะพรุนหัวขวด ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการใช้น้ำส้มสายชูกลั่นที่ใช้บริโภคนำมาราดต่อเนื่อง 30 วินาที บริเวณที่ถูกพิษ ซึ่งน้ำส้มสายชูจะหยุดยั้งไม่ให้กะเปาะพิษยิงเข็มพิษ จึงไม่ได้ลดอาการปวด แต่ป้องกันไม่ให้ผู้บาดเจ็บได้รับพิษเพิ่มขึ้น ห้ามใช้น้ำแข็ง น้ำเปล่า เหล้า โซดา หรือ อื่นๆ ราดแทน เพราะจะทำให้พิษยิ่งแพร่กระจายมากขึ้น ห้ามขูด – ถู หรือนำวัสดุไปขยี้หรือทา บริเวณที่ได้รับพิษ เพราะจะทำให้พิษแพร่กระจายเร็วขึ้น หลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้รีบนำผู้ป่วยโรงพยาบาล ทั้งนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 “กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี”
#แมงกะพรุนหัวขวด

#สายด่วน1422 #กรมควบคุมโรค #สคร11
เขียนข่าว ธัญญธร เยาวยอด
กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่11 จังหวัดนครศรีธรรมราช

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร