พบชาโบราณพันธุ์หายาก ที่เชียงใหม่ หวั่นถูกคุกคามจากนักลงทุนต่างชาติเหตุราคาสูง

888
views

พบชาโบราณพันธุ์หายาก ที่หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ศึก จ.เชียงใหม่ มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกคุกคามเนื่องมีความต้องการของนักลงทุนต่างประเทศสำหรับการผลิตเครื่องดื่มจากใบชาโบราณในราคาสูง

12 มิถุนายน 2567 นายสราวุธ ปัสสาคร หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ศึก เปิดเผยว่า ตามที่นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ได้มอบหมายให้หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ศึก สำรวจป่าชาโบราณ ร่วมกับนายมานพ แก้วฟู หัวหน้าสถานีวิจัยต้นน้ำดอยเชียงดาว และคุณพัทธ์ญาดา ธีรปราชญ์สกุล นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านชา บริเวณหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ศึก ต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

จากการสำรวจในเบื้องต้นพบ ต้นชา (Camellia sinensis) อาจจะเป็น var. taliensis เนื่องจากมียอดอ่อนสีแดงและมีรายงานพบในเทือกเขาในมณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนเท่านั้น (ควรมีการสำรวจและพิสูจน์ให้ได้ข้อมูลมากขึ้น) พบในพื้นที่ต้นน้ำแม่ศึก มี 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มประชากร กลุ่มที่ 1 ชาที่พบขึ้นตามแนวสันเขา แนวกันไฟ (ขนาดความกว้าง 10 เมตร) ของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ศึก จนถึงยอดดอยซอแฆะโจ๊ะ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่บ้านแม่หงานหลวง หมู่ 1 ต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ พบจำนวน 150 ต้น โดยนับจากขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 20 เซนติเมตร ขึ้นไป และมีต้นแม่ที่มีขนาดเส้นรอบวงที่โคนต้นใหญ่ที่สุด 205.9 เซนติเมตร และถ้าวัดขนาดที่ระดับความสูงเพียงอก (DBH) ซึ่งมีการแตกนาง เป็นสองนาง นางแรก ขนาดเส้นรอบวง 88.5 เซนติเมตร นางที่สอง 111.9 เซนติเมตร มีความสูง ประมาณ 15 เมตร

กลุ่มประชากรที่ 2 พบบริเวณสันเขาอยู่ในท้องที่หย่อมบ้านแม่นิงใน หมู่ 10 ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ติดแนวเขตแบ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอแม่ลาน้อย ซึ่งพบกลุ่มประชากรชาโบราณ ประมาณ 600 ต้น โดยนับจากต้นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร ขึ้นไป และพบต้นที่มีขนาดความโตเส้นรอบวงที่โคนต้นใหญ่ที่สุด ขนาด 157.1 เซนติเมตร (เนื่องจากที่ระดับความสูงเพียงอกเป็นแผลและโพรง) มีความสูง ประมาณ 7 เมตร

นอกจากนั้น ยังมีพื้นที่โดยรอบที่ยังไม่ได้สำรวจประชากรอย่างทั่วทั้งพื้นที่ทั้งหมดที่มีการแพร่กระจายของลูกไม้ชาโบราณ ซึ่งมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์สายพันธุ์ชาโบราณของโลก เป็นแหล่งพันธุกรรมชาโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยมีรายงานพบในประเทศไทย เป็นการอนุรักษ์พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของโลก และมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกคุกคามเนื่องมีความต้องการของนักลงทุนจากต่างประเทศสำหรับการผลิตเครื่องดื่มจากใบชาโบราณในราคาสูง ประกอบกับชุมชนในพื้นที่ยังขาดองค์ความรู้ ในการอนุรักษ์การใช้ประโยชน์จากชาโบราณ เห็นควรให้มีการศึกษา วิจัย ป่าชาโบราณ เพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนต่อไป.

ข้อมูลจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร